“สิ่งที่พี่วรรณี และผู้บริหาร HMPRO เรียนรู้ได้จากวิกฤติครั้งนั้นคืออะไรครับ แล้วมีผลต่อนโยบายการบริหารกระแสเงินสดในปัจจุบันยังไงครับ” ผมยิงคำถามตรงๆตามสไตล์ของผมกับพี่วรรณีครับ
พี่วรรณีเล่าให้ฟังว่า HMPRO ต้องรื้อแนวทางการบริหารเงินสดให้มีความชัดเจน และได้มาตรฐานมากขึ้น มีหลักคิดง่ายๆคือ ทำให้เงินสดรับมากกว่าเงินสดจ่าย นั่นเองครับ
“HMPRO เป็นธุรกิจซื้อมา-ขายไป หลักคิดสำคัญคือต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้ดี ต้องสร้างสมดุลระหว่าง เงินที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้การค้า (supplier) กับรายได้ที่รับจากลูกค้า”
พี่วรรณี เล่าต่อว่า สมมติว่า เราได้เครดิตเทอมจากเจ้าหนี้การค้า (supplier) 30 วัน หมายถึง เรายังไม่ต้องจ่ายเงินทันที แต่มีเวลาในการจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้การค้า (supplier) ภายใน 30 วัน
ในขณะที่เราขายสินค้าและเก็บเงินจากลูกค้าได้ภายใน 7 วัน นั่นเท่ากับว่าเรามีเลือดหมุนเวียน ช่วยหายใจได้เพิ่มอีก 23 วัน (30 วัน – 7 วัน) แถมยังสามารถเอาเงินไปต่อยอดสร้างโอกาสได้อีกมากมายครับ ก่อนที่จะชำระเงินให้กับเจ้าหนี้การค้า (supplier)
ส่วนตัวเลขเครดิตเทอมที่จะจ่ายเงินให้กับเจ้าหนี้การค้า (supplier) จะเป็นเท่าไหร่ คงต้องขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละธุรกิจด้วยครับ
===========
แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราต้องเป็นฝ่ายปล่อยเครดิตกับลูกค้า ให้เค้าจ่ายช้าได้บ้าง ก็สามารถทำได้ในกรณีที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการทำธุรกิจ แต่ต้องดูประวัติการซื้อของลูกค้าให้ดีด้วยนะครับ
หรือเราอาจจะให้แรงจูงใจกับลูกค้า เช่น ถ้าลูกค้าจ่ายเงินเร็วขึ้นกว่ากำหนด เค้าจะได้ส่วนลดเพิ่ม เป็นต้นครับ (เป็นอีกเทคนิค ที่ใช้ได้ผลนะครับ พวกเราก็ได้ตังค์จากลูกค้าเร็วขึ้นด้วย)
===========
“บริษัทที่ดีควรจะต้องมีการคาดการณ์เงินสดรับ, เงินสดจ่าย, และงบลงทุนในอนาคตให้ดี”
พี่วรรณีเล่าให้ฟังว่า ที่ HMPRO จะมีการวางแผน รายรับ, รายจ่ายและงบลงทุน แบ่งเป็น ระยะสั้น-ระยะยาว ครับ
ระยะยาว ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจด้วยครับ เช่น 3-5 ปี เรามองว่าจะขยายธุรกิจในอาเซียนมากขึ้น หรือจะเน้นสัดส่วนออนไลน์มากขึ้นแค่ไหน (จะเริ่มเห็นภาพแล้วว่า อนาคตต้องลงทุนใหญ่ๆ ไปกับเรื่องไหนบ้าง)
แล้วในระยะสั้น ก็สำคัญเช่นกัน เพราะเราจะรู้เลยว่า ช่วงไหนเงินของเราอาจจะขาดมือบ้าง
“ที่ HMPRO จะทำการคาดการณ์กระแสเงินสดเป็นรายเดือนด้วย เพื่อประเมินว่า ช่วงไหนต้องเตรียมเงินเท่าไหร่”
แล้วถ้าวางแผนให้ดี เราจะรู้เลยว่า เราต้องหาเงินมาจากที่ไหน มูลค่าเท่าไหร่ และควรกู้แบบไหนถึงจะได้ต้นทุนต่ำที่สุด
คนส่วนใหญ่มักจะยังไม่เห็นปัญหาของกระแสเงินสด เพราะธุรกิจยังขายของได้ดี แต่เวลาที่เกิดปัญหามันจะถ่าโถมเข้ามาชนิดที่เราไม่ทันตั้งตัวเลยครับ เห็นด้วยไหมครับ
===========
สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้กระแสเงินสดขาดมือ คือ การที่เงินจมไปกับสินค้าที่ยังขายไม่ออก เพราะฉะนั้นถ้ามีระบบวิเคราะห์ว่าสินค้าไหนขายดี หรือสินค้าไหนขายไม่ออก เราควรจะต้องมีสต็อกสินค้าเท่าไหร่ และต้องบริหารจัดการอย่างไร ก็จะช่วยเพิ่มกระแสเงินสดได้ครับ
===========
ไม่ได้แนะนำให้ไปกู้ทุกคนนะครับ เงินกู้มีหลายประเภท เช่น เงินกู้เพื่อให้เป็นเงินหมุนเวียน, เงินกู้ระยะสั้น หรือเงินกู้ระยะยาว แต่เหตุผลที่ต้องมีแหล่งเงินกู้ไว้บ้าง เป็นเพราะ “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน”
ไม่มีใครรู้ว่าเราจะเจอวิกฤติเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นถ้ามีเงินสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ก็จะช่วยต่อลมหายใจในช่วงไม่คาดฝันได้ครับ
===========
สุดท้ายนี้ ....
หลายคนทำธุรกิจ ขายดีมาก มีกำไร แต่เจ๊ง!! ไม่ใช่ว่าขายไม่ดีนะครับ แต่เพราะหมุนเงินไม่ทัน อาจจะเป็นเพราะวางแผนไม่ดีทำให้เงินขาดมือ หรือมองเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจ ได้งานโปรเจคที่ใหญ่ขึ้น แต่กระแสเงินสดไม่พอ เลยหมุนไม่ทัน
คำแนะนำของผมคือ อย่ารอให้เจอวิกฤติแล้วค่อยเรียนรู้ครับ ลองเรียนรู้จากบทเรียนของพี่ วรรณี แห่งค่าย HMPRO ที่ได้รับจากการเจอมรสุมวิกฤติเศรษฐกิจ จนปรับนโยบายทางการเงินได้ดี
หรือถ้าใครกำลังมีแผนที่จะขยายธุรกิจ และกำลังมองหาเงินกู้ระยะยาว เพื่อเพิ่มกระแสเงินสดหรือสภาพคล่อง ก็ลองหาข้อมูลเงินกู้ SME สินเชื่อเกินร้อย ของทางกรุงศรีดู เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกนะครับ แต่อย่าลืมว่า การกู้เงินมีดอกเบี้ยเป็นต้นทุน ดังนั้น ต้องประเมินความสามารถในการชำระคืนด้วยนะครับ เพราะอย่าลืมที่ปู่บัฟเฟตต์สอนไว้ว่า “กระแสเงินสด เป็นเส้นเลือดของธุรกิจ”
บทความโดย : www.tam-eig.com