เงินกับความสุข

เงินกับความสุข

คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ถ้าเรามีเงินเราจะมีความสุขมากขึ้น คนเชื่อว่าคนรวยย่อมมีความสุขมากกว่าคนจน ยิ่งรวยมากเท่าไร ความสุขก็มากขึ้นเท่านั้น เพราะคนเชื่อว่า เงินสามารถซื้อความสุขได้แม้ว่าจะไม่ใช่ความสุขทุกอย่างแต่ก็ซื้อได้มาก เงินสามารถใช้ซื้ออาหารอร่อยๆ รับประทานได้ เงินสามารถพาเราไปท่องเที่ยวได้มากขึ้นและไกลขึ้น เงินทำให้เราซื้อบ้าน และซื้อรถยนต์ที่ทำให้เรามีหน้ามีตาในหมู่เพื่อนฝูงและคนรู้จัก เงินทำให้เราส่งลูกไปเรียนโรงเรียนดีๆ หรือไปเรียนต่างประเทศได้ เพราะฉะนั้น อย่ามาพูดเลยว่า เงินกับความสุขไม่เกี่ยวกัน 

นั่น คือสิ่งที่คนที่ยังไม่ค่อยมีเงิน หรือคิดว่าตนยังมีเงินไม่พอมักจะคิด คนเหล่านั้นมักจะ "ฝัน" ว่า ถ้าเขามีเงินมากขึ้น เขาคงจะมีความสุขมาก เพราะสิ่งที่เขาคิดอยากจะได้แต่ยังทำไม่ได้ เพราะมีเงินไม่พอ เขาก็จะสามารถซื้อหามาได้ และนั่นคือความสุขที่เขากำลังพยายามไขว่คว้า แต่เชื่อไหมครับว่าวันที่เขามีเงินพอและได้ใช้หรือบริโภคสิ่งที่เขา "ฝัน" ไว้แล้ว สิ่งนั้นก็จะไม่ใช่ "ความสุข" อีกต่อไป เขาจะเริ่ม "ฝัน" ถึง "ความสุข" ใหม่ ที่จะต้องใช้เงินมากขึ้นไปอีก เงินคือความสุขหรือเงินเป็นสิ่งที่หลอกลวงกันแน่?

 ความสุขของ คนนั้น เพื่อที่จะอธิบายให้เป็นระบบ ผมคิดว่าน่าจะต้องอิงกับความต้องการของมนุษย์ ซึ่งแมสโลว์ (ABRAHAM MASLOW) นักจิตวิทยาชื่อดังบอกว่ามี 5 ระดับ นั่นคือ ความต้องการเบื้องต้น ได้แก่ อาหารและน้ำ ความต้องการระดับสองคือ ต้องการความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิต เมื่อได้รับการตอบสนองแล้ว ความต้องการจะยกระดับขึ้นไปเป็นระดับ 3 ซึ่งก็คือ การได้รับการยอมรับในหมู่ญาติมิตรและเพื่อนฝูงให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ขั้นต่อไปก็คือ การมีสถานะที่โดดเด่นในสังคม และสุดท้ายก็คือ ความต้องการที่จะบรรลุถึงตัวตนที่แท้จริง ซึ่งในทางพระอาจจะเรียกว่านิพพานไปเลย

มาดูความสุขทางด้าน อาหารว่าเงินซื้อได้หรือไม่? ผมคิดว่าเงินซื้อความสุขด้านอาหารได้น้อย ความสุขของการกินนั้น ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่อยู่ที่ความหิวและรสชาติของอาหาร ซึ่งไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับราคามากนัก คนทั่วไปอาจจะรู้สึกว่าหูฉลามนั้นอร่อยมาก แต่นั่นเป็นเพราะเขาไม่ค่อยได้กินมัน แต่ถ้าเขาได้กินมันบ่อยมาก เขาอาจจะบอกว่าพะแนงเนื้ออร่อยกว่า ดังนั้น สำหรับความสุขในด้านของการกินแล้ว ผมคิดว่า ถ้าเราไม่จนเกินไป เราจะมีความสุขไม่ต่างกับเศรษฐีมากนัก

ความสุขที่จะได้จาก ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย นี่เป็นความสุขที่เกิดขึ้นในใจเมื่อเรามีบ้านอยู่อาศัยที่ปลอดภัย มีการงานที่มั่นคง เรารู้ว่าเมื่อเราป่วยไข้จะได้รับการรักษาที่ดี มีความอุ่นใจว่าถ้าเกิดปัญหาอะไรที่ไม่คาดคิดทางการเงินเรามีทางแก้ไขได้ และที่สำคัญ รู้ว่าเมื่อแก่ตัวลง เราจะมีเงินเลี้ยงดูตัวเองได้ การมีเงินสะสมน้อยหรือไม่มีสวัสดิการการรักษาพยาบาลเพียงพอ ก็ย่อมที่จะทำให้เรามีความกังวลและเป็นทุกข์ได้ 

ความรู้สึก มั่นคงปลอดภัยนั้น เป็นความสุขในระดับหนึ่งเท่านั้น นั่นหมายความว่า ถ้าคนเรามีความมั่นคงเพิ่มขึ้นไปอีก ส่วนที่เพิ่มนั้นจะก่อให้เกิดความสุขเพิ่มน้อยมาก ข้อสรุปก็คือ เราต้องมีเงินในระดับหนึ่ง เพื่อความมั่นคงในชีวิตถ้าจะให้ไม่เกิดทุกข์จากความกังวล

การ ได้รับการยอมรับในหมู่ญาติมิตรและเพื่อนฝูงนั้น ผมคิดว่าเงินไม่น่าจะมีส่วนมากนัก การมีน้ำจิตน้ำใจเอื้ออารีน่าจะมีความสำคัญกว่าและสิ่งนี้ไม่สามารถซื้อได้ ด้วยเงิน ดังนั้น ความสุขจากการที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเงินเลย

การมีสถานะที่โดดเด่นใน สังคมเป็นความต้องการในระดับที่สูงขึ้นมา และน่าจะเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เงินอาจจะซื้อได้ และนี่ก็คงเป็นเหตุผลสำคัญที่คนมีเงินใช้เงินซื้อบ้าน รถยนต์ที่หรูหรา และเครื่องแต่งกายราคาแพง เพื่อที่จะแสดงความโดดเด่นให้คนทั่วไปเห็นและยอมรับ อย่างไรก็ตาม ความสุขในด้านนี้มักจะมีด้านมืด นั่นก็คือ ผู้ที่ใช้ของหรูมักจะพบคนที่ใช้ของที่หรูกว่า และความรู้สึกที่ด้อยกว่าโดยการเปรียบเทียบนั้น บ่อยครั้ง มันกลบความสุขที่ควรจะได้รับ และทำให้การใช้เงินซื้อสถานะของตนเองเพื่อให้เกิดความสุขนั้นไร้ผล เพราะแทนที่จะเป็นสุขก็อาจจะกลายเป็นความทุกข์ได้

 ผมคงไม่พูด ถึงความต้องการที่จะบรรลุถึงตัวตนที่แท้จริง ซึ่งคงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน แต่น่าจะเป็นเรื่องของจิตใจล้วนๆ แต่อยากจะบอกว่าความสุขของคนนั้น ส่วนใหญ่อยู่ที่เรื่องของสุขภาพกายและสุขภาพใจซึ่งเงินซื้อได้น้อยมาก สุขภาพกายนั้น ไม่ว่าคุณจะมีเงินมากเท่าไร โอกาสที่คุณจะป่วยมีเท่ากับคนที่มีเงินน้อยหรือปานกลาง เช่นเดียวกัน สุขภาพใจนั้น อยู่ที่การทำใจ จากการสำรวจครั้งแล้วครั้งเล่าเราพบว่า คนที่ใช้ชีวิตที่ "พอเพียง" มีความสุขกว่าคนที่ชอบบริโภค ซึ่งไม่ได้เกี่ยวเลยว่าเขามีเงินมากหรือน้อย ว่าที่จริงถ้าจะมีอะไรเกี่ยวก็น่าจะเป็นว่า การมีเงินมากอาจจะเป็นความเสี่ยงว่าคุณจะมีความสุขน้อยลงถ้าคุณชอบบริโภค

 ข้อสรุปสุดท้ายของผมก็คือ คนที่มีเงินน้อยเกินไปจะหาความสุขได้ยาก เพราะความสุขหลายอย่างต้องใช้เงินซื้อหามา ในอีกด้านหนึ่ง คนที่มีเงินมากเกินไปไม่ได้หมายความว่า เขาจะต้องมีความสุขมากกว่าคนที่มีเงินปานกลาง เพราะเงินนั้นซื้อความสุขได้ถึงระดับหนึ่งเท่านั้น คนที่มีเงินพอประมาณ สามารถที่จะเป็นแชมเปียนของคนที่มีความสุขได้ เพราะความสุขนั้น ส่วนใหญ่มาจากสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนที่มีเงินพอประมาณ และใช้ชีวิตที่พอประมาณ คุณก็น่าจะมีชีวิตที่มีความสุขไม่แพ้คนรวยโดยทั่วไปแล้ว

บทความโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

 5654
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores