AI อนาคตใหม่ของฟินเทค

AI อนาคตใหม่ของฟินเทค

Highlights:

  • การปฏิวัติทางการเงินจะเกิดขึ้นได้นั้นขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตและการลงทุนในเทคโนโลยีทางการเงิน
  • สถาบันธนาคารและฟินเทคจะมีการปรับใช้ AI เข้ามามากขึ้น ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวทางการเงินที่ฉลาดซับซ้อนขึ้นด้วยการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) เพื่อให้ AI สามารถส่งสัญญาณป้องกันหายนะทางการเงินระดับโลก
  • ธุรกิจฟินเทคที่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก จะได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ใช้งานและนักลงทุน

 

การปฏิวัติทางการเงินจะเกิดขึ้นได้นั้นขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตและการลงทุนในเทคโนโลยีทางการเงิน ไม่ว่าเทคโนโลยีนั้นมีวัตถุประสงค์ในการอำนวยความสะดวกให้การทำธุรกรรม เฝ้าระวังการกระทำเกี่ยวกับการเงิน หรือกระตุ้นให้เกิดการยกระดับพฤติกรรมการใช้เงินด้วยแอปพลิเคชันก็ตาม หนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้ยินกันหนาหูอย่างฟินเทค (Financial Technology) ยังคงเป็นทางเลือกใหม่ที่อาจกลายเป็นทางเลือกหลักในเวลาอันใกล้ เพราะศักยภาพในการยกระดับการบริการ ที่ไม่ว่าจะจ่าย โอน ถอน ออมเงิน ทำประกัน หรือจัดการความเสี่ยง ธุรกิจฟินเทคก็ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ทำให้มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมฟินเทคระดับโลกนั้นเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งหมื่นเจ็ดพันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2016 ตามรายงานของ Pitchbook โดยในประเทศจีน อุตสาหกรรมฟินเทคมีมูลค่าถึง 7.7 พันล้าน มากกว่าสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าเพียง 1.5 พันล้านเท่านั้น 

 ฟินเทคโลก อยู่ร่วมกับ AI เป็นหนึ่งเดียว

วันนี้เราเริ่มเห็นสถาบันธนาคารพร้อมจับมือกับธุรกิจฟินเทคเพื่อพัฒนาประโยชน์สูงสุดให้กับผู้ใช้ หนึ่งในตัวอย่างจากกลุ่มธนาคารเก่าแก่ของสกอตแลนด์ Clydesdale and Yorkshire Banks (CYBG) ผุดโปรเจกต์ Studio B บนถนนเคนซิงตัน กรุงลอนดอน ที่เป็นทั้งสาขาธนาคารและพื้นที่ทดลองนวัตกรรม แนวคิดคือการเชื่อมต่อระหว่างโลกการเงินที่ออฟไลน์และออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฟินเทค หลังจากเปิดตัวแอปพลิเคชันดิจิทัลแบงก์กิ้ง B ไปในปี 2016 CYBG ก็ต่อยอดเป็นรูปธรรมด้วยพื้นที่สาขาย่อยแห่งนี้ เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบและเรียนรู้ ภายใต้กระบวนการทดสอบและพัฒนา (T&D) ที่ไปไกลกว่าแค่การวิจัยและพัฒนา (R&D) พร้อมจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ของธนาคาร เช่น ผู้ใช้งานสามารถสั่งทำธุรกรรมกับธนาคารได้ด้วยเสียงผ่านลำโพงอัจฉริยะ Amazon Alexa โปรเจกต์นี้ยังเป็นความหวังใหม่ของธนาคารดิจิทัลที่รวมเอานวัตกรรมและผู้ใช้งาน ทั้งพนักงานและสาธารณชนเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ได้ลองใช้งานจริงและนำผลตอบรับที่ได้ไปพัฒนาไอเดียต่อไป


อนาคตของสถาบันธนาคารและฟินเทคจะมีการปรับใช้ AI เข้ามามากขึ้น ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวทางการเงินที่ฉลาดซับซ้อนขึ้นด้วยการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) เพื่อให้ AI สามารถส่งสัญญาณป้องกันหายนะทางการเงินระดับโลก หรือแจ้งเตือนเมื่อมีผู้ใช้รายย่อยเบิกเงินเกินบัญชี (overdraft) มากกว่างบประมาณธนาคารที่กำหนดไว้


ธุรกิจฟินเทคในวันนี้กำลังเดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้ AI นั้นเป็นผู้ช่วยที่มีบทบาทมากกว่าการเป็นแชตบอตที่ช่วยหาข้อมูลของธนาคารหรือตอบคำถามเกี่ยวกับการใช้บริการเบื้องต้น เช่น แอปพลิเคชัน Cleo ที่ช่วยบริหารจัดการเงิน เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานได้สนทนาผ่านโปรแกรมแชต สามารถตอบทุกคำถามไขทุกข้อสงสัย แต่พิเศษมากขึ้นด้วยการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้เงินของเจ้าของบัญชี รวมถึงสามารถวิเคราะห์รายรับ-รายจ่ายของผู้ใช้ ทั้งตอบรับกับความนิยมของกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นด้วยฟีเจอร์อิโมจิ และภาพเคลื่อนไหว

 

Digit คือหนึ่งในตัวอย่างของฟินเทคที่ทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างเป็นรูปธรรม ผู้ใช้แอปฯ สามารถเชื่อมต่อกับบัญชีธนาคารให้ปัญญาประดิษฐ์ช่วยวิเคราะห์รายรับร่วมกับพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยทุกๆ 3 วัน แอปฯ จะส่งข้อความหาผู้ใช้เพื่อให้ออมเงินสักเล็กน้อย หรือออมเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ความฉลาดของแอปฯ นี้ได้รับการพัฒนาถึงจุดที่สามารถคำนวณได้อย่างถูกต้องจนไม่ปล่อยให้เกิดการโอนเงินไปยังบัญชีเงินออม ถ้าหากมีการคาดการณ์พฤติกรรมว่าผู้ใช้ต้องจำเป็นใช้เงินในอนาคต

ฟินเทคไทย ออกแบบเพื่อผู้ใช้ส่วนรวม ขยายโอกาสสู่ต่างประเทศ

ฝั่งประเทศไทย หนึ่งในข่าวใหญ่เมื่อ 30 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา คือบริษัทสตาร์ทอัพ FlowAccount.com ผู้ให้บริการระบบบัญชีออนไลน์สามารถระดมทุนในระดับ Pre Series A ไปได้ 1.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้รับการร่วมทุนจากหลายกองทุนชั้นนำในไทยและสิงคโปร์ ความสำเร็จในครั้งนี้จึงมาพร้อมกับเป้าหมายใหม่คือการขยายธุรกิจเพื่อสร้างสรรค์ทางเลือกในการส่งเสริมธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น ตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยให้เติบโตและมีความแข็งแกร่ง ออกแบบระบบการจัดทำบัญชีที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย แข่งขันได้ในยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับการเปิดตัว  OmiseGo บริการ E-Wallet Network เจ้าแรกบนระบบบล็อกเชน เครือข่ายวอลเลตที่สามารถส่งข้อมูลหากันได้หมด แลกเปลี่ยนมูลค่าทางดิจิทัลได้ จะเป็นคะแนนสะสม (loyalty point) หรือไอเท็มเกมก็ได้ มีเป้าหมายเพื่อสร้างช่องทางให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่าย สำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ (unbanked) สร้างบริการทางการเงินที่มีความสามารถมากกว่าการโอนชำระเงินภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของบริการทางการเงินในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แข็งแรงมากขึ้น OmiseGo ยังมีเหรียญดิจิทัล OMG ซึ่งบริษัทได้เปิดระดมทุนแบบ ICO (Initial Coin Offering) ผ่านการขายเหรียญ OMG ไปแล้วกว่า 25 ล้าเหรียญสหรัฐในปีนี้ นับเป็นก้าวใหม่ของวงการฟินเทคที่น่าจับตามอง


จากทั้งสองตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจฟินเทคที่มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก จะได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ใช้งานและนักลงทุน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยที่ยังต้องการทางเลือกหลากหลายที่สอดรับกับการใช้จ่ายและจัดการการเงินในชีวิตประจำวัน แต่รวมตลาดในภูมิภาคอื่นด้วย ฟินเทคจะเป็นเครื่องมือที่สร้างกลไกช่วยให้คนกว่าหลายล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เข้าถึงระบบอย่างเต็มที่ ด้วยบริการทางการเงินพื้นฐานที่ปลอดภัย ลดข้อจำกัดในการเข้าถึง และสร้างความสะดวกมากขึ้น

บทความโดย:scb

 1445
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores