5 ล. ทำให้ชีวิตนักลงทุนพัง

5 ล. ทำให้ชีวิตนักลงทุนพัง

เป็นที่ยอมรับกันว่า นักลงทุนมีความผิดพลาดจากการลงทุนกันทุกคน แม้แต่วอร์เรน บัฟเฟตต์ก็ไม่มีข้อยกเว้น อย่างไรก็ตาม หากนำความผิดพลาดนั้นๆ มาเป็นบทเรียน หาทางลดความผิดพลาด ศึกษาหาความรู้ไม่หยุดนิ่ง เพิ่มวินัยการลงทุน ความสำเร็จย่อมตามมาอย่างแน่นอน ตรงกันข้ามหากยังดื้อดึง ไม่ยอมรับความผิดพลาด และมักโยนความผิดให้สิ่งรอบตัว ผลลัพธ์คงหนีไม่พ้นความล้มเหลว และนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตนักลงทุนพังไม่เป็นท่า

1. โลภ

เมื่อเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ทุกคนต้องการ “กำไร” ไม่มีใครต้องการขาดทุน แต่ในโลกความเป็นจริง ไม่มีใครเอาชนะตลาดได้ตลอดเวลา ซึ่งความผิดพลาดจากการลงทุน ปัจจัยหนึ่งมาจาก “ความโลภ” โดยเฉพาะเมื่อลงทุนแล้ว มีกำไรก็ต้องการกำไรเยอะๆ เช่น ซื้อหุ้น XYZ ราคา 10 บาท ตั้งเป้าเอาไว้ว่าหากราคาปรับขึ้นไปที่ 12 บาทจะขายทำกำไร แต่เมื่อราคาหุ้นปรับขึ้นไปถึงจุดนั้นกลับไม่ขาย เพราะเชื่อว่าราคาจะปรับขึ้นต่อ สมมติว่าราคาหุ้นขยับไปที่ 15 บาทตามที่คาดแต่กลับไม่ขายเพราะมั่นใจว่าราคาจะไปต่อได้ ตรงกันข้าม สมมติว่าราคาหุ้น XYZ ปรับลดลง ย่อมส่งผลเสียหายหากขายไม่ทัน ดังนั้น กฎเหล็กสำคัญประการหนึ่งคือ ซื้อเป็นก็ต้องขายเป็น เพราะถ้าหวังกำไรสูงๆ โดยไม่มีเป้าหมายและแผนการรองรับหากสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่ประเมิน เวลาเจ็บตัวก็เอาเรื่องเหมือนกัน

 

2. ลอก

การลงทุนเป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะสไตล์การลงทุนแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน จึงไม่สามารถลอกเลียนแบบกันได้ และถึงแม้จะลอกเลียนแบบกันก็ไม่การันตีว่าจะประสบความสำเร็จ (หรือขาดทุน) เหมือนกัน เช่น 

นาย ก. ซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานตาม นาย ข. ด้วยเหตุผลซื้อตามเพื่อน

นาย ง. ซื้อหุ้นกลุ่มแบงก์ตาม ดร.สมชาย เพราะเชื่อว่า ดร.สมชาย เป็นกูรูหุ้นกลุ่มแบงก์

สามี ซื้อหุ้นตามภรรยา ด้วยเหตุผลความเป็นสามีภรรยา

กรณีตัวอย่าง การซื้อหุ้นด้วยวิธีลอกเลียนแบบคนอื่น ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา อาจจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหลักการลงทุนเบื้องต้นที่ดีจะต้องรู้เป้าหมาย รู้จักตัวเอง รู้ระดับความเสี่ยง รู้กำลัง ศึกษาหาความรู้ ติดตามข่าวสารด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เรียนรู้กลยุทธ์การลงทุนจากนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ จากนั้นนำมาประยุต์ให้เข้ากับสไตล์การลงทุนของตัวเอง

 

3. ลือ

เวลา “มีข่าวว่า” “เขาเล่ามาว่า” อาจทำให้นักลงทุนสนใจและบางคนถึงกับใช้เป็นปัจจัยกับการตัดสินใจซื้อหรือขายตามข่าวเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ยังไม่ทราบว่าข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องหรือเป็นเพียงแค่ข่าวลือ ในอดีตที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่นักลงทุนขาดทุนและหมดตัวกับการตัดสินใจผ่านข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีที่มาที่ไป

 

4. ลนลาน

มีนักลงทุนหลายคนที่ซื้อหุ้นวันนี้และอยากได้กำไรและอยากรวยให้ได้เร็วที่สุด บางคนถึงกับคาดหวังว่าลงทุนวันนี้ ขอกำไรพรุ่งนี้ แต่ไม่มีนักลงทุนที่สามารถทำกำไรในเร็ววันได้ทุกคน และไม่มีนักลงทุนคนไหนที่สามารถเอาชนะตลาดได้ทุกวัน ดังนั้น ความสำเร็จจากตลาดหุ้นไม่มีคำว่า “เร่งรีบ” ทุกอย่างต้องเป็นขั้นเป็นตอน ที่สำคัญหากต้องการลงทุนให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต้องใช้เวลา แต่ถ้ารีบ ลนลาน มีโอกาสร่วงมากกว่ารวย

 

5. ลังเล

อาการลังเล ส่วนสำคัญประการหนึ่งมาจากการไม่ทำตามแผนที่วางเอาไว้ เช่น ซื้อหุ้น XYZ ราคา 10 บาท ถ้าปรับขึ้น 12 บาทจะขายทำกำไร หรือจะขายเพื่อลดขาดทุน (Cut Loss) ถ้าราคาปรับลดลงมาอยู่ที่ 8 บาท แต่เมื่อราคาหุ้นถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้กลับลังเลและไม่ตัดสินใจตามแผน หรือกรณีหุ้น ABC ปรับลดลง 5 บาทจะเข้าซื้อ แต่เมื่อราคาลงมาตามที่คิดเอาไว้กลับลังเลและไม่ซื้อ เพราะเชื่อว่าราคาจะปรับลดลงไปมากกว่านี้ การลังเลดังกล่าว อาจส่งผลเสียหายแบบคาดไม่ถึง นักลงทุนอาจจะเสียโอกาสจากการทำกำไร หากไม่ตัดสินใจขายหุ้น XYZ ที่ราคา 12 บาท หรือขาดทุนอย่างหนักเมื่อยังถือหุ้น XYZ ต่อไป ทั้งๆ ที่ราคาปรับลดลงจนกระทั่งไปอยู่ระดับ 4 บาท 

บทความโดย:ฐิติเมธ โภคชัย

 876
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores