ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับชีวิต

ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับชีวิต

ทุกท่านย่อมทราบดีว่า คนธรรมดาอย่างเราย่อมมีเกิด แก่ เจ็บ และตาย เป็นเรื่องปกติของวัฎจักรชีวิต แต่หากมองในหลักการของการบริหารความเสี่ยง ( Risk Management) แล้ว เรื่องดังกล่าวนั้นเรียกว่า “ความเสี่ยงภัยทางด้านบุคคล (Personal Risk)” ได้แก่ ความเสี่ยงภัยจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร (Risk of Premature Death) ความเสี่ยงภัยจากการมีรายได้ไม่เพียงพอเมื่อเกษียณอายุ (Risk of Insufficient Income during Retirement) ความเสี่ยงภัยจากการมีสุภาพไม่ดีหรือทุพพลภาพ (Risk of Poor Health) และความเสี่ยงภัยจากการว่างงาน (Risk of Unemployment)

ทั้งนี้ หากจะให้นิยามคำว่า “ ความเสี่ยงภัย” ก็คือ ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และไม่สามารถทราบล่วงหน้าถึงขนาดของความสูญเสียหรือความเสียหาย ( Loss) ที่จะส่งผลกระทบไปสู่สถานะทางการเงินและเป้าหมายทางการเงินของบุคคล

ตัวอย่างเช่น นายกรุงเก่า ซึ่งเป็นผู้มีรายได้หลักของครอบครัวเพียงคนเดียว ภรรยาเป็นเม่บ้าน มีบุตร 2 คน กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา โดยนายกรุงเก่าและภรรยามีเป้าหมายทางการเงิน คือ ต้องการมีเงินทุนให้บุตรทั้ง 2 คน เรียนจบระดับปริญญาโทในต่างประเทศ โดยนายกรุงเก่าได้นำเงินออมที่มีอยู่ไปลงทุนเพื่อต้องการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว คำถามคือว่า หากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์กับนายกรุงเก่าก่อนที่เป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้จะบรรลุผล จะเกิดผลกระทบอะไรกับครอบครัวของคุณกรุงเก่าบ้าง แน่นอนความฝันที่บุตรจะได้เรียนจนจบปริญญาโทในต่างประเทศนั้นอาจจะต้องล้มไป แต่ปัญหาที่หนักกว่าก็คือ เมื่อขาดผู้มีรายได้หลัก ในขณะที่ภรรยาไม่มีรายได้แล้วครอบครัวนี้จะดำเนินชีวิตอยู่กันอย่างไร ด้วยเหตุผลนี้ นักวางแผนการเงินจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการวางแผนการประกันภัย (Insurance Planning) เป็นลำดับแรกๆ ก่อนที่จะดำเนินการวางแผนทางการเงินในเรื่องอื่นๆ ต่อไป

สำหรับแนวทางที่นักวางแผนการเงินใช้ในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  • การแนะนำให้ลูกค้าควบคุมความเสี่ยงภัย ( Risk Control) พยายามลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์หรือ
    ลดความรุนแรงของความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยงภัย เช่น การดูแลรักษาสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงภัยสูง เป็นต้น
  • การจัดเตรียมเงินมาเพื่อจัดการความเสี่ยงภัย ( Risk Financing) เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่ออมไว้มารองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ หรือเรียกว่าการรับความเสี่ยงภัย
    ไว้เอง ( Risk Retention) แต่วิธีการจัดการความเสี่ยงภัยแบบรับความเสี่ยงไว้เองนี้ มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เนื่องจากอาจเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงภัยที่มีความเสียหายรุนแรงเกินกว่าที่ลูกค้าจะรับความเสี่ยงภัยไว้เองได้ ดังนั้น นักวางแผนการเงินส่วนใหญ่จึงแนะนำให้ลูกค้าดำเนินการโอนความเสี่ยงภัยไปยังบุคคลอื่น
    (Risk Transfer) เช่น การทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัย เป็นต้น แต่มีคำถามอยู่ว่า... แล้วการโอนความเสี่ยงภัยโดยการทำประกันภัยนั้นเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับตนเอง

แนวทางในการประมาณการทุนประกันภัยที่เหมาะสม ( Insurance Need) นั้น สามารถแบ่งออกได้ 3 วิธี คือ

  • Rule of Thumb
  • Income Replacement Approach
  • Needs Approach

ซึ่งในตอนนี้จะขออธิบายเฉพาะวิธี Rule of Thumb ก่อน โดยหลักการประมาณการทุนประกันภัยที่เหมาะสมตามวิธี Rule of Thumb นั้น เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่น่าเชื่อถือน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ถูกนำมาใช้ในการประมาณการทุนประกันชีวิตบ่อยครั้ง เพราะอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจได้ง่าย โดยวิธีนี้จะกำหนดทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมของบุคคลอยู่ คือ 6 - 8 เท่าของรายได้รวมต่อปี

ตัวอย่างเช่น หากกำหนดให้รายได้ของนายกรุงเก่าอยู่ที่ 200,000 บาทต่อปี ดังนั้น ทุนประกันภัยเพื่อคุ้มครองกรณีเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เหมาะสมกับครอบครัวของนายกรุงเก่า คือ 1,200,000 – 1,600,000 บาท ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกในการประมาณการทุนประกันภัย แต่วิธีนี้มีข้อกัดหลายด้าน เช่น ไม่ได้คำนึงถึงอายุของลูกค้า ทรัพย์สินที่ลูกค้ามีเพื่อชดเชยความเสี่ยงดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้นำความความต้องการของลูกค้าซึ่งมีหลากหลายเข้ามาพิจารณา แต่อย่างน้อยการคำนวณทุนประกันชีวิตวิธีนี้ก็สามารถใช้เป็นแนวคิดการคำนวณหาทุนประกันชีวิตเบื้องต้นที่บุคคลควรมีได้ ท่านที่สนใจสามารถวางแผนการเงินผ่าน TSI Financial Tools โปรแกรมคำนวณทางการเงินหลากหลายโปรแกรมที่จะนำทางท่านไปสู่ความมั่งคั่ง

บทความโดย:ปรีชา กิจโมกข์

 3632
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores