หนี้ดี หนี้ไม่ดี ดูกันยังไง

หนี้ดี หนี้ไม่ดี ดูกันยังไง


“อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก” (อินาทานัง ทุกขัง โลเก) “การมีหนี้ เป็นทุกข์ในโลก”

คนส่วนใหญ่ไม่อยากมีหนี้ แต่รู้จัก "หนี้" เป็นอย่างดี บางคนอาจถึงขั้นเรียกว่าสนิทสนมจนถือเป็นสมาชิกสำคัญในครอบครัวด้วยซ้ำ สาเหตุมักจะมาจากความจำเป็นในการดำเนินชีวิต เพราะแทบทุกก้าวของชีวิตล้วนต้องใช้เงินเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่ว่ามากหรือน้อย ดังแสดงตัวอย่างจากกราฟ

 

 

เมื่อเงินเป็นปัจจัยสำคัญกับทุกๆ เหตุการณ์สำคัญในชีวิต แต่คนส่วนมากมักไม่มีเงินจำนวนดังกล่าวเตรียมไว้ล่วงหน้า จึงต้องเกิดการกู้หนี้ยืมสิน  "หนี้" จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินสำหรับคนส่วนมาก ซึ่งอาจต้องมีหนี้ก่อนจะมีทรัพย์สินด้วยซ้ำ

ตัวอย่าง ผู้ชายอายุ 35 ปี รายได้ 50,000 บาทต่อเดือน อยากมีบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงเป็นเรือนหอในอนาคต ราคา 1,500,000 บาท และอยากมีรถยนต์เพื่อใช้ขับไปทำงาน ราคา 500,000 บาท หากวันนี้ไม่มีเงินเก็บก็ต้องเริ่มเก็บออมเดือนละ 20,000 บาท เป็นเวลา 8 ปี 4 เดือน (100 เดือน) ถึงจะมีเงินครบ 2,000,000 บาท เพื่อไปซื้อบ้านและรถยนต์ ทว่าในชีวิตจริง คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีบ้านเพื่ออยู่อาศัยและรถเพื่อขับไปทำงานหารายได้ตั้งแต่วันนี้ เดือนนี้ ไม่ใช่อีก 8 ปีข้างหน้า

อีกทั้ง หากมีเงินสด 2,000,000 บาท ส่วนใหญ่ก็ไม่นำเงินทั้งหมดไปซื้อบ้านและรถ เพราะเป็นการเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนทำกำไรที่มากกว่า โดยนำไปลงทุนรูปแบบต่างๆ เช่น กองทุนรวม หากได้รับผลตอบแทน 12% ต่อปี คิดเป็น 1% ต่อเดือน นั่นคือได้ผลกำไร 20,000 บาทต่อเดือน เท่ากับให้เงินทำงานแล้วนำไปผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ขณะที่เงินต้น 2,000,000 บาท ยังคงอยู่ไม่หายไปไหน

ด้วยเหตุนี้ การเป็นหนี้เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตตัวเองและครอบครัวดีขึ้นนับเป็นการก่อหนี้ที่ดี ยิ่งมีความสามารถบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีวินัยในการชำระหนี้ ก็ไม่ถือว่าการก่อหนี้เป็นสิ่งที่ผิด ตรงกันข้าม หากเป็นการก่อหนี้เพื่อความสุขชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อความฟุ่มเฟือย และไม่มีวินัยกับการจัดการหนี้สิน ย่อมส่งผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง ดังนั้น จึงควรมาทำความเข้าใจหนี้ให้มากขึ้นว่า หนี้แบบไหนดีหรือไม่ดี ควรคบหาและนำเข้ามาสู่ครอบครัวหรือไม่ หลักสำคัญก็คือความพอดีตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ 9

 

หลักเกณฑ์เบื้องต้นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

หนี้ดี

หนี้ไม่ดี

1. ความพอประมาณ  

- ความจำเป็นและพอดีในการดำเนินชีวิต เช่น บ้านหลังแรก รถคันแรก

 

- จำเป็นมากและพอดี เช่น บ้านขนาดพอดี รถใช้ขับไปทำงาน

 

- ไม่จำเป็นและเกินตัว เช่น คฤหาสน์ที่ใหญ่เกินจำเป็น รถหรูที่ซื้อมาจอดเฉยๆ

2. ความมีเหตุผล

- ดอกเบี้ยของหนี้สินเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการลงทุน

 

- ต่ำกว่าผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุน

 

- สูงกว่าผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุน

3.ภูมิคุ้มกัน

- ภาระในการชำระค่างวดเทียบกับรายได้หลังหักเงินออม

 

- ไม่สูงเกินไป เทียบกับรายได้หลังหักเงินออม/ใช้จ่าย

 

- สูงเกินไป เทียบกับรายได้หลังหักเงินออม/ใช้จ่าย

 

การมีหนี้อาจเป็นทุกข์ เพราะต้องมีภาระในการชำระค่างวด แต่หนี้ดีก็มีอยู่ เพราะความจำเป็นทางการเงินเกิดขึ้นวันนี้ การมีหนี้ช่วยให้เราได้เงินหรือพลังอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบัน แต่โปรดอย่าลืมว่า “พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง” เพราะการผิดนัดชำระหนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่มากมายตามมา ทุกคนจึงควรตั้งมั่นอยู่ในความพอเพียง

 บทความโดย:ชัยวัฒน์ พัฒนไพบูลย์

 1565
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores