อุบัติเหตุทางการเงิน เรื่องยากที่จัดการได้

อุบัติเหตุทางการเงิน เรื่องยากที่จัดการได้

วิกฤติการเงินในชีวิตที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน นิยามด้วยชื่อ “อุบัติเหตุทางการเงิน” เป็นภาวะที่ยากยิ่งสำหรับใครๆ หลายคนที่จะรับมือให้ผ่านไปได้อย่างไม่เจ็บปวด ภาวะที่รายรับมีไม่พอกับรายจ่าย กรณีที่ไม่ร้ายแรงมาก คือ มีรายจ่ายที่ไม่คาดฝันก้อนโตระยะสั้นเข้ามาทำให้ปวดหัว เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมแซมบ้าน รถยนต์ หรือค่าชดเชยความเสียหาย ฯลฯ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว หากไม่มีหรือมีไม่พอ ทางออก คือ การหาสินเชื่อมาแก้ปัญหา หรือในกรณีที่รุนแรงกว่า เช่น ภาวะตกงานสูญเสียรายได้ระยะยาว ปัญหาการหย่าร้างหรือสูญเสียคู่สมรสที่เป็นเสาหลักของครอบครัว หรือเกิดเหตุพิบัติภัยที่ทั้งสูญเสียรายได้และสูญเสียทรัพย์สินในเวลาเดียวกัน

ถ้าคุณกำลังเผชิญกับอุบัติเหตุทางการเงิน นี่คือเวลาสำหรับการตั้งสติและวางแผนรับมือ ไม่ใช่เวลาที่จะท้อแท้และสิ้นหวัง และหลังจากมีสติที่ดีแล้ว คุณจะต้องประเมินสถานการณ์ ค้นหาแหล่งเงินสำหรับแก้ปัญหา จัดความสำคัญของค่าใช้จ่าย วางแผนการเงินสำหรับอุบัติเหตุทางการเงิน รวมถึง การที่ผู้ที่ยังไม่ประสบอุบัติเหตุทางการเงินต้องวางแผนป้องกันเหตุในอนาคต

ประเมินสถานการณ์ ว่ารายรับปัจจุบันที่ยังคงมีอยู่ เปรียบเทียบรายจ่ายทั้งประจำ และรายจ่ายพิเศษที่เกิดขึ้น เพียงพอหรือขาดแคลน คำนวณระยะเวลาที่ยังมีเงินเพียงพอในภาวะฉุกเฉิน และค้นหายอดเงินที่ขาดแคลน หลังจากนั้นจึง จัดความสำคัญกับรายการใช้จ่าย ภายใต้ความเข้าใจที่ว่า... ค่าใช้จ่ายที่มีทั้งหมดไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งหมด และค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บ (ใช้บริการหรือได้รับสินค้ามาแล้ว และต้องจ่ายคืนเจ้าหนี้) จำเป็นต้องมีบางรายการได้รับการจ่ายคืนทีหลัง หรือช้ากว่าบางรายการบ้างถ้าจำเป็น ตัวอย่างรายจ่ายไม่จำเป็นในภาวะวิกฤติ เช่น ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเคเบิ้ล หรือค่าพักผ่อนหย่อนใจนอกบ้าน โดยจะลดหรือทำให้หมดไปได้ตามการประเมินของแต่ละคน หรือตัวอย่างการจ่ายคืนบิลเรียกเก็บในลำดับที่ต้องจ่ายก่อน เช่น เงินงวดผ่อนส่งบ้าน บิลบัตรเครดิต ค่าสาธารณูปโภค รวมทั้งหนี้สินที่มีภาระต้องจ่ายประจำและไม่มีระยะเวลาปลอดหนี้หรือระยะผ่อนผัน จำเป็นต้องจัดไว้เป็นลำดับแรก

 

การวางแผนการเงินสำหรับภาวะฉุกเฉิน ให้เริ่มบันทึก “เงินที่มี” กับ “เงินที่ต้องการทั้งหมด” ให้ชัดเจน เพื่อให้เห็นว่าเป้าหมายที่เป็นตัวเลขนั้น อยู่ในระดับสูง กลาง ต่ำ อย่างไร หลังจากนั้นให้เริ่มวางแผนตามลำดับ ดังนี้

 

  • หาแหล่งเงินเพื่อชดเชยความขาดแคลน เช่น กรณีตกงาน ให้มองหาประกันสังคม กรณีเกิดภัยธรรมชาติ ให้หาโครงการช่วยเหลือของรัฐ ถ้าหาไม่ได้ ให้หาแหล่งเงินกู้ทั้งจากสถาบันการเงิน การกู้เงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีมูลค่าเงินสดแล้ว กู้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ขึ้นกับเงื่อนไขของกองทุนว่ามีหรือไม่) หรือจากนายจ้างที่จัดไว้ให้เป็นสวัสดิการ ด้วยหลักการเลือกโดยเปรียบเทียบภาระการผ่อนชำระ ระยะเวลา และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม

 

  • จัดทำแผนการเงิน โดยระบุเป้าหมายให้เป็นตัวเลขที่ชัดเจน กำหนดระยะเวลาทั้งระยะสั้น กลาง หรือ
    ระยะยาว สร้างแผนปฏิบัติการละเอียด เช่น จะทำอะไร เมื่อใด เป็นระยะเวลานานแค่ไหน และโดยใครบ้าง ระบุแผนสำรองกรณีที่ไม่สามารถทำได้ตามแผนหลัก

 

  • สื่อสารกับเจ้าหนี้ กรณีที่พบว่าไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาจัดการหนี้สินได้ครบทุกรายการ โดยให้เริ่มจากการจัดลำดับหนี้ที่มี พร้อมด้วยรายละเอียดแผนการผ่อนชำระ หรือระยะเวลาผ่อนผันที่ต้องการ รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง และรีบติดต่อเจ้าหนี้ก่อนเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะมีภาระค้างชำระและทำให้เจ้าหนี้หงุดหงิดจนไม่อยากจะประนีประนอมด้วย เตรียมหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤติแค่ไหน และเดินหน้าเจรจา

วางแผนป้องกันอุบัติเหตุการเงินในอนาคต สำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นผู้ประสบเหตุวิกฤติ หรือผู้ประสบเหตุที่ผ่านพ้นวิกฤติได้แล้ว ให้เริ่มวางแผนรับมือกับวิกฤติในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น เริ่มสะสมเงินสำรองฉุกเฉิน (ถ้ายังไม่มี) ทำประกันภัยที่เหมาะสมเพื่อจำกัดระดับความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และสื่อสารให้คนในครอบครัวทราบถึงแผนและการเตรียมการรับมือนี้

อุบัติเหตุการเงินเกิดได้กับทุกคน แต่เชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนจะผ่านพ้นไปได้โดยไม่เจ็บตัวหากไม่ได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ดังนั้น จากที่กล่าวมาทั้งหมด “การคิดวางแผนป้องกันเหตุ” จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การวางแผนในสภาวะปกติย่อมให้ผลดีกว่าการนั่งวางแผนท่ามกลางวิกฤติที่มีความกดดันและข้อจำกัดรอบตัวเต็มไปหมด

บทความโดย:วีระพล บดีรัฐ

 1033
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores