กับดักทางการเงินที่พบว่ามีผู้พลัดตกลงไปเป็นประจำ คือการละเลยการวางแผนการเงิน หรือบางคนวางแผนการเงินแล้วแต่ไม่อดทนกับการเดินตามแผน อีกไม่น้อยที่ไม่จัดงบการเงิน ที่น่าห่วงที่สุดคือไม่มีเงินกองทุนฉุกเฉินของตัวเอง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แย่ยิ่งกว่านั้นคือพวกที่ใช้บัตรเครดิตเป็นแหล่งหมุนเงิน หรือบางคนก็หลงไปติดกับเงินกู้เงินปลอดดอกเบี้ย แต่ที่ดูเป็นกับดักของคนหมู่มากในทุกวันนี้คือการที่ใช้ก่อนออมทีหลัง บางคนทำท่าจะไปได้สวย ออมอย่างดิบดีแต่กลับถอนเงินเพื่อเกษียณมาใช้ก่อน หากมองในแง่ของการลงทุน ก็จะพบว่ามีกับดักมากมายที่ทุกคน
ติดอยู่ เช่นที่คนส่วนมากเป็นคือ ไม่กระจายการลงทุน และอีกไม่น้อยที่ไม่ใส่ใจค่าธรรมเนียมการลงทุน หรือบางคนก็รับความเสี่ยงมากหรือน้อยเกินไป จนไม่เหมาะกับความเสี่ยงที่ตัวเองรับได้ และที่เห็นบ่อยครั้ง คือ ปล่อยให้สถานการณ์รายวันกระทบการตัดสินใจลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกันยังพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ใช้ประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุน
ยังมีหลุมพรางทางการเงินอีกหลายอย่าง เช่น ไม่หมั่นตรวจสอบเครดิตทางการเงินของตัวเอง หรือบางคนชอบ
ทำธุรกรรมการเงินมากเกินไปจนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมากโดยไม่รู้ตัว
จากการสำรวจความเห็นของบรรดาคนในแวดวงการเงิน ก็พบว่า ล้วนแต่เคยมีประสบการณ์การติดกับดักการเงินมาบ้างแล้วทั้งสิ้น ใครติดกับดักอะไร หรือตกหลุมพรางไหน ตามไปดูพร้อมๆ กัน แต่พบว่าไม่มีใครยอมให้ตัวเองจมอยู่ในกับดักนั้นตลอดไป
“วิวรรณ” เคยละเลยวางแผนการเงิน
“วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ” บอกว่าเธอเองก็เคยมีประสบการณ์ความผิดพลาดทางการเงินเช่นกัน เช่นในเรื่อง
ของการ ”ละเลยการวางแผนการเงิน” นั้นเธอเองก็ยอมรับว่าเคย ซึ่งส่วนใหญ่เนื่องมาจากหน้าที่การงานยุ่ง จึงไม่มีเวลาดูแลปรับเปลี่ยนพอร์ตให้เหมาะกับสภาวะในขณะนั้นๆ และบางครั้งก็ทิ้งสภาพคล่องไว้จำนวนมากเพราะไม่มีเวลานำไปลงทุน
ส่วนเรื่องการที่ “ไม่จัดงบการเงิน” วิวรรณบอกว่าคนที่เคยผิดพลาดในข้อนี้น่าจะเกิดจากการที่ไม่จัดงบประมาณมากกว่า ไม่ใช่งบการเงิน ข้อนี้เธอไม่เคยผิดพลาด ส่วนใหญ่เรื่องเงินๆ ทองๆ จะจัดเตรียมเอาไว้แล้ว ยิ่งช่วงที่ยังมีเงิน
ไม่มากก็ยิ่งจำเป็นต้องจัดงบประมาณ
แต่พอมีความมั่งคั่งถึงจุดหนึ่งแล้ว ก็จะมีงบประมาณสำหรับเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งรวมถึงการใช้เงินซื้อของที่ไม่ได้
คาดว่าจะซื้อ แต่เผอิญเห็นลดราคา หรือเผอิญเกิดความจำเป็นต้องซื้อขึ้นมา เมื่อมีงบประมาณสำหรับสิ่งไม่คาดฝันก็จะทำให้ชีวิตสบายขึ้น
มีความความผิดพลาดทางการเงินหลายอย่างที่เธอไม่เคยมีประสบการณ์โดยตรง เช่น การ “ใช้บัตรเครดิต
เป็นแหล่งหมุนเงิน” ตรงนี้วิวรรณก็ไม่เคยมีประสบการณ์ เพราะดอกเบี้ยสูงมาก ไม่ยอมใช้เด็ดขาด
“แต่ที่เคยใช้บริการก็คือเล่นแชร์ แต่เลือกกลุ่มที่จะเล่นในกลุ่มที่ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน และดอกเบี้ยก็
ต่ำมากๆ เสมือนหนึ่งเวียนกันให้ยืมเงินนั่นเอง”
นอกจากนี้ “กู้เงินปลอดดอกเบี้ยจนหนี้สินล้นพ้นตัว” เธอก็ไม่เคยผิดพลาดในเรื่องนี้ วิวรรณบอกว่าถ้าจะปลอดดอกเบี้ยก็เป็นการผ่อนเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ก็ผ่อนโน้ตบุ๊ค และโทรทัศน์จอแบน เนื่องจากไม่มีดอกเบี้ย แถมยังได้ส่วนลดเพิ่มขึ้น เพื่อที่เราจะได้นำเงินก้อนที่จะซื้อของนั้น ไปลงทุนหรือไปใช้อย่างอื่นก่อน
“โดยทั่วไปเวลาจะซื้ออะไร จะออมก่อนแล้วค่อยซื้อ ยกเว้นบ้าน เท่านั้นที่ยอมกู้มาซื้อ เพราะถ้ารอ
ออมก่อน ราคาบ้านอาจเพิ่มขึ้น รายได้เราอาจจะโตไม่ทัน อาจจะอดซื้อได้”
และเนื่องจากตัวเองเป็นคนที่มีวินัยทางการเงินค่อนข้างดี ดังนั้น จะมีน้อยครั้งมากที่จะ “ใช้เงินก่อนแล้วค่อยออมทีหลัง” จะมีก็เดือนแรกที่เริ่มทำงานเท่านั้น ที่ต้องใช้เงินที่ไม่ได้ออม เพราะยังไม่มีรายได้ให้ออม ยิ่งเป็นการ “ถอนเงินเพื่อเกษียณมาใช้ก่อน” วิวรรณบอกว่า ไม่เด็ดขาด โดยเฉพาะตัวเองไม่มีลูก ต้องเก็บเงินเอาไว้ดูและตัวเองหลังเกษียณ เพราะฉะนั้นจะไม่ทำอย่างเด็ดขาด และจะไม่ใจอ่อนด้วย แม้ตอนเปลี่ยนงานจะมีโอกาสให้ถอนก็ตาม ก็ยังไม่เคยถอนเลย
“ไม่หมั่นตรวจสอบเครดิตทางการเงินของตัวเอง” เรื่องนี้วิวรรณบอกว่า ปกติเครดิตทางการเงินก็ตรวจสอบเองไม่ได้อยู่แล้ว แต่ด้วยความที่เก็บเงินตั้งแต่เดือนแรกของการทำงาน และไม่เคยผ่อนชำระบัตรเครดิตบางส่วน จึงมั่นใจว่าไม่มีประวัติเครดิตที่ไม่ดี
ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ คือ ”ไม่กระจายการลงทุน” แต่สำหรับวิวรรณเธอบอกว่า อาจจะเป็นเฉพาะช่วงแรกที่มีเงินออมค่อนข้างน้อย จึงไม่สามารถกระจายได้มากนัก แต่หลังจากนั้นไม่มีช่วงเวลาไหนที่ไม่กระจาย
การลงทุนเลย
“เรื่องที่จะไม่ใส่ใจค่าธรรมเนียมการลงทุน ต้องบอกว่าถ้าไม่ใส่ใจก็ไม่ใช่วิวรรณ เพราะปกติเป็นคนคิดละเอียดมากด้วย และเรื่องที่รับความเสี่ยงมากหรือน้อยเกินไป ก็มีบ้าง ถ้าจะพลาดไปก็คืออาจจะรับมากไปในบางช่วง จริงๆ แล้วปกติจะรับความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะเป็นคนชอบความเสี่ยงในการลงทุน สำหรับเรื่องไม่ใช้ประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุน ต้องบอกว่าใช้จนเกือบเกิน เพราะเราแนะนำให้คนอื่นทำแล้วตัวเองไม่ทำไม่ได้หรอก”
นักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยให้สถานการณ์รายวันกระทบการตัดสินใจลงทุนระยะยาว แต่เรื่องนี้วิวรรณบอกว่าเธอไม่ผิดพลาดจากเรื่องนี้ เพราะวางแผนการเงินไว้แล้วจะนิ่งมาก ความผันผวนระยะสั้นอาจจะทำให้วอกแวกไปบ้าง แต่ไม่ได้ take action อะไรที่ออกนอกลู่นอกทางเลย
ยิ่งถ้าเป็นเรื่อง ”ไม่มีเงินกองทุนฉุกเฉิน” วิวรรณตอบได้เต็มที่ว่า เธอไม่มีความผิดพลาดในเรื่องนี้แน่นอน เพราะเริ่มเก็บเงินไว้ตั้งแต่เริ่มทำงานเดือนแรกเลย เอาไว้เผื่อฉุกเฉินก็ได้ เอาไว้ซื้อของที่อยากได้ เพื่อให้รางวัลกับตัวเองบ้าง
“อัจฉรา” ใช้ก่อนออมทีหลัง
“อัจฉรา โยมสินธ์”อาจารย์ภาควิชาการเงิน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ธรรมะพารวย” บอกว่า เธอเองก็เคยตกมาหลายหลุม ตั้งแต่ละเลยการวางแผนการเงิน ไม่ทำงบการเงิน ใช้ก่อนออมทีหลัง ไม่กระจายการลงทุน
ไม่ใส่ใจค่าธรรมเนียมการลงทุน ไม่สนใจความเสี่ยง รวมทั้งไม่ใช้ประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุน
“สมัยที่เพิ่งเรียนจบ และเริ่มทำงานใหม่ๆ จะใช้เงินแบบไม่วางแผนเพราะคิดว่าแป๊บเดียวเดี๋ยวก็มีเงินเข้าบัญชีแล้ว เลยไม่ค่อยกังวลว่าจะไม่มีสตางค์ใช้ อยากใช้อะไร อยากซื้ออะไรก็ซื้อ ไม่คิดมาก ใช้ชีวิตสนุกสนานไปเรื่อยเปื่อย สะสมข้าวของไร้สาระเต็มไปหมด เงินไม่พอก็ขอที่บ้านเพิ่ม ช่วงนั้นเลยมีเงินเก็บ
น้อยมาก ซึ่งก็เป็นเงินเหลือจากการใช้จ่าย โดยเงินออมทั้งหมดก็จะฝากธนาคารไว้แบบไม่ใส่ใจ จำได้ว่า
ตอนนั้นดอกเบี้ยเงินฝาก 10% กว่าเราก็แฮปปี้แล้ว”
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เริ่มรู้ตัวว่าเรากำลังตกหลุมพรางหรือติดกับดักทางการเงินอยู่ก็คือ ตอนที่ได้เลือกเรียนวิชา Personal Financial Planning หรือการวางแผนการเงินส่วนบุคคล ช่วงที่เรียน MBA ที่สหรัฐอเมริกา ตอนแรกก็งง
ว่ามีวิชาแบบนี้ด้วยหรือ แล้วอาจารย์ท่านจะสอนอะไรเราบ้าง มีข้อสงสัยเต็มหัวไปหมด
เพราะรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะต้องเรียนกันเป็นเทอมๆ พอได้เรียนไปเรื่อยๆ ก็อึ้งว่าฝรั่งนั้นคิดเรื่องเงินๆ ทองๆ
กันละเอียด รอบคอบและวางแผนล่วงหน้ากันยาวนานตลอดช่วงชีวิตเลย รวมทั้งยังได้รู้ ได้เข้าใจว่าทางเลือกสำหรับ
การออมการลงทุนมีเยอะแยะมากมาย เลยกลายเป็นเรื่องท้าทายมากที่เราจะต้องหาทางเลือกที่พอเหมาะพอดีกับตัวเรา
ให้เจอ
จากนั้นก็เลยเริ่มจัดการตัวเอง ช่วงแรกจะรู้สึกยุ่งยาก ก็ทำบ้าง ลืมบ้าง พออายุมากขึ้น ระบบเริ่มลงตัวมากขึ้น
จึงได้บทเรียนสำคัญว่าการทำความรู้จักกับตัวเองผ่านการวางแผนทางการเงิน ทำให้ต้องคิดไกลๆ คิดยาวๆ และยังช่วยให้เรามีพลังที่จะทำงานทุกวัน เพราะเรามีเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงเพื่อตัวเราเองในอนาคต เป้าหมายง่ายๆ ในใจตอนนี้ก็คือ เราต้องสบายวันนี้ เพื่อที่จะสบายวันหน้า
“เด็กๆ สมัยนี้โชคดีเพราะหลายหน่วยงานเห็นความสำคัญของการให้ความรู้ทางการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งทางเลือกในการลงทุนและที่ปรึกษาทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ความสะดวกสบายในการวางแผนการเงินในปัจจุบันจึงพร้อมเสิร์ฟทุกที่ทุกเวลา ใครอยากสบายทั้งในวันนี้และวันข้างหน้าก็ต้องรีบเช็คว่าเราตกหลุมพรางทางการเงินอยู่หรือเปล่า แล้วคงต้องรีบหาทางออกจากหลุมพรางเหล่านั้นให้เร็วที่สุด”
“วศิน” เคยพลาดไม่กระจายการลงทุน
“วศิน วัฒนวรกิจกุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บลจ.บัวหลวง บอกว่า อาจจะเคยมีประสบการณ์ตกหลุมพราง
มาแบบหอมปากหอมคอ เช่น ใช้ก่อนออมทีหลัง ตามประสาวัยรุ่น หรือไม่ก็ในช่วงเทศกาล ซึ่งทำให้อารมณ์เคลิบเคลิ้มอยากใช้เงิน
“ทางแก้ที่ได้ผลดีมากๆ ก็คือ มอบเงินทั้งหมดให้ภรรยาก่อน แล้วค่อยเบิกมาใช้ทีหลัง”
อีกหลุมพรางหนึ่งที่วศินเคยพลาดท่าตกลงไปคือ ไม่กระจายการลงทุน นั่นเกิดขึ้นในสมัยที่เขาลงทุนในตลาดหุ้นใหม่ๆ ซึ่งนานมาแล้ว
“เดี๋ยวนี้ไม่ได้ซื้อแล้ว กฎเกณฑ์เยอะ เมื่อก่อนซื้อหุ้นแค่เพียง 2-3 ตัวที่คิดว่าเด็ด และเชื่อมั่นข้อมูลและการตัดสินใจของตัวเอง ประสบความสำเร็จได้กำไรมากก็หลายครั้ง แต่เจ็บตัวก็ไม่น้อย ทางแก้ก็ไม่มีอะไร เพราะจะเข็ดไปเอง แต่ก็พยายามบอกตัวเองเหมือนกันว่าอะไรก็ไม่แน่นอน อย่าหวังพึ่งอะไรจากสิ่งสิ่งเดียว”
“สมจินต์” ปล่อยให้เงินแช่ในออมทรัพย์มากเกินไป
“สมจินต์ ศรไพศาล” กรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ แชร์ประสบการณ์ว่าความผิดพลาดของเขามาจาก
การปล่อยปละละเลยเงินเล็กน้อย โดยมักจะทอดทิ้งเงินอยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์มากเกินไปและนานเกินไป บัญชี
ออมทรัพย์มีข้อดี คือ ให้ความคล่องตัวในการหยิบมาใช้ได้ทุกวัน แต่มีข้อเสียคือได้ดอกเบี้ยน้อยมาก ตอนนี้ก็มีอัตราเพียง 0.75% เท่านั้น แล้วยังต้องเสียภาษีอีก 15 %ของดอกเบี้ยรับอีก ตกลงเลยได้รับ แค่ 0.64% โดยประมาณ
“ลองคิดดูสิครับว่าในสิบปียี่สิบปีที่ผ่านมาเราได้สูญเสียเงินไปเท่าใดจากการปล่อยปละละเลยนี้ ถ้าลองคำนวณตัวเลขง่ายๆ ว่าใครทิ้งเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์หนึ่งล้านบาทก็จะได้ดอกเบี้ยหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายเท่ากับ 6,375 บาท แต่ถ้าเราเอาเงินนั้นไปลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนแบบระมัดระวังมากๆ ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดของเงินอยู่ในพันธบัตรภาครัฐ แล้วได้ดอกผลประมาณ 3% ต่อเดือนโดยไม่ต้องเสียภาษี เราจะได้ผลตอบแทน 30,000 บาทต่อปี ซึ่งดีกว่ากันอย่างมาก
นี่แค่ปีเดียวนะ ถ้าระยะเวลายาวนานกว่านี้เราจะสูญเสียเงินมากแค่ไหน คิดขึ้นมาแล้วน่าเสียดายจริงๆ ดอกผลที่ขาดไปนั้นเอาไปซื้อของเล่นหรือจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกได้ตั้งเยอะ”
ดร.สมจินต์บอกว่า ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจมีข้อแก้ตัวว่า ไม่มีทางเลือกอื่นที่ให้ความคล่องตัวอย่างเงินฝากออมทรัพย์ แต่เดี๋ยวนี้เรามีทางเลือก กองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐและเข้าออกได้ทุกวันมีให้เราเลือกได้พอสมควร เดี๋ยวนี้เขาจึงออมเงินไว้ในกองทุน วรรณเดลี่ หรือ วรรณพันธบัตรไทย แทนการทิ้งไว้ในออมทรัพย์ ซึ่งก็ได้ทั้งความมั่นคงของเงินลงทุนและความสะดวกเพราะสามารถถอนการลงทุนเข้าบัญชีเงินฝากของเราได้ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งแทบไม่ต่างจากการฝากออมทรัพย์เลย
อีกเหตุหนึ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่ทอดทิ้งเงินในบัญชีออมทรัพย์มากเกินไป คือ ไม่มีเวลาไปทำธุรกรรม พวกมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายก็เป็นเหมือนกันหมด ตัวผมเองรวมทั้งลูกน้องในบริษัทก็เช่นกัน เดี๋ยวนี้เราเลยอำนวยความสะดวกให้ฝ่ายบุคคลจัดจ่ายเงินเดือนเข้ากองทุนรวมที่พนักงานเลือกเลยทุกเดือน เมื่อก่อนนี้พวกเราทำงานหนักแต่เงินของพวกเราทำงานเบา แต่เดี๋ยวนี้เงินของพวกเราก็ต้องทำงานหนักเหมือนพวกเราด้วยเช่นกัน สองแรงแข็งขันจะสามารถสร้างความมั่งคั่งให้เราได้อย่างเต็มกำลัง
“ให้ผิดเป็นครู” น่าจะหยิบมาใช้ได้ทุกเมื่อ ความผิดพลาดทางการเงินมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ขอเพียงนำมาเป็นบทเรียนสอนตัวเอง ไม่ให้ผิดซ้ำซาก น่าจะเป็นชีวิตที่มีคุณภาพได้
บทความโดย:bangkokbiznews