อนาคตสภาการบัญชีฯ

อนาคตสภาการบัญชีฯ

เมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา ผมในฐานะสมาชิกของสภาการบัญชีฯ ได้ไปเข้าร่วมประชุมใหญ่สามัญของสภาการบัญชีฯ หวังจะไปฟังเรื่องราวดีๆ ทางวิชาการ กับความก้าวหน้าของอาชีพการบัญชี ทั้งนักบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่ถือว่าเป็นกลุ่มคนวิชาชีพที่จะสำคัญและมีผลต่อความเป็นไป กับทิศทางความเจริญของเศรษฐกิจประเทศ รวมทั้ง การมีธรรมาภิบาลกับประสิทธิภาพการบริหารเพื่อการแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่
ในฐานะที่เป็นคนที่จบบัญชี กับได้อยู่ในแวดวงวิชาการบริหารธุรกิจทั้งการศึกษาและโตมาในภาคปฏิบัติกับธุรกิจด้วย เห็นชัดเจนว่า วิชาการบัญชีมีคุณค่าสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในแง่การบริหาร การดำเนินงานกับการสร้างธรรมาภิบาล หรือการสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขันต่างๆ ด้วย
ทั้งนี้ ย่อมหมายความถึงการที่นักบัญชีต้องมีการปรับตัวตามทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ และมีบทบาทตามวิชาชีพ ที่สามารถสะท้อนถึงความเป็นจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคใหม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ใช้ข้อมูลตามความเป็นจริงต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพในทางธุรกิจของคนด้วย โดยสิ่งสำคัญที่พึงต้องมีและต้องทำคือ การชี้แจงเปิดเผยข้อมูล ให้มีความโปร่งใส และอย่างถูกต้องกับพอเพียง
พูดถึงตรงนี้ จะเห็นว่าอาชีพนักบัญชีสำคัญยิ่ง มากกว่าที่เคยคิดกันมาก่อน กล่าวคือ นอกจากต้องรับผิดชอบในการบันทึก และออกรายงานที่ถูกต้อง ทันกับความจำเป็นใช้และสะท้อนถึงความเป็นจริง กับมีการป้องกันไม่ให้มีการฉ้อฉล หลอกลวง หรือเพื่อลดการทำทุจริตให้หมดสิ้นไป
อาชีพนักบัญชีจึงสำคัญตามยุคสมัย แต่ในเวลาเดียวกัน ภาระหน้าที่กับความรู้และค่าตอบแทนแห่งวิชาชีพของนักบัญชี ดูจะพัฒนาไปไม่สมดุลกับการภารกิจกับการเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เกิดขึ้น
สะท้อนว่า สภาการบัญชีฯ มีปัญหาที่จะต้องพัฒนาหรือทำกิจกรรมให้สมาชิกมากขึ้น ดีขึ้น และอย่างพอเพียง กับต้องมีกลไกคุณภาพในการช่วยให้นักบัญชีโดยอาชีพมีความสามารถและมีความพร้อมมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ รายงาน กำกับ จำกัดขอบเขตการผิดพลาด กับเพิ่มความโปร่งใส ภายใต้การมีระบบการจัดการที่ดี หรือ มี “ธรรมาภิบาล” ที่ดีขึ้น นั่นเอง
ในการนี้ นักบัญชีคือ คนที่มีที่ยืนที่จะทำได้ดีที่สุด เพราะ เป็นวิชาชีพอิสระ ที่มีหลักเกณฑ์การทำงาน แต่ในความเป็นจริง กลับปรากฏว่า นักบัญชีต่างถูกปล่อยให้ต้องไปยืนที่ข้างหลัง แบกรับความรับผิดชอบไว้หนักมากกว่าปกติ และมีภาวะที่ขาดการพัฒนาที่จำเป็น โดยเฉพาะ ความรู้ที่เป็น Non- accounting ทั้งหลาย ซึ่งสำคัญไม่แพ้หลักเกณฑ์และวิชาการทางบัญชีใหม่ๆ ทั้งหลายที่พัฒนาขึ้นมาใหม่
จนทำให้นักบัญชีกลายเป็นกลุ่มที่ห่างไกลสังคม ตามไม่ทันเหตุการณ์ ไม่อาจรู้เท่าทันกับกลเกมการพลิกแพลงใหม่ๆ ซึ่งหมายถึง ทักษะทางการบริหาร ทั้งการวางแผน การควบคุมและการจัดวางระบบต่างๆ อันเป็นพื้นฐานของการนำมาใช้สร้างธรรมาภิบาลและการจัดการที่ดี
ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ ผู้เขียนเองก็เรียนจบทางบัญชี  ได้เห็นถึงคุณค่าว่า แท้จริงแล้ว การบริหารจัดการที่ดี ทุกเรื่อง ที่ต่างต้องทำทั้งภายในต่อภายนอกนั้น ล้วนอยู่ที่การสามารถประยุกต์ใช้บัญชีเพื่อการบริหารเป็นสำคัญ
การขยายโลกทัศน์และความรู้ให้กับนักบัญชีจึงเป็นงานสำคัญลำดับแรกสุดที่ต้องทำ ตามด้วยการต้องมีการคุ้มครองการปฏิบัติทางวิชาชีพ ที่มิใช่เพียงทำตามมาตรฐานที่ออกมาหรือลอกและแปลมาเท่านั้น
หากแต่ต้องสามารถนำการปฏิบัติให้นักบัญชีสามารถปฏิบัติงานทางวิชาชีพได้เต็มที่ และอย่างสมศักดิ์ศรี กับได้รับความคุ้มครองที่จะเป็นแรงเสริมในฐานะวิชาชีพอิสระ ที่จะสร้างความโปร่งใสให้กับสังคมได้จากจุดเล็กๆ ภายในของกิจการ
ทั้งนี้ วิธีการมีมากมาย หาใช่แค่เพียงการอบรมพัฒนาเท่านั้น แต่หมายถึง การต้องมีการศึกษาวิจัยและมีสื่อกลางในการประสานความรู้ การปฏิบัติงาน กับการรุกคืบเพื่อสร้างคุณภาพงานทางวิชาชีพ
จากที่ว่ามาแล้วนั้น ดูจะเป็นงานใหญ่เกินตัว แต่แท้จริงแล้ว ความดีและชั่วของธุรกิจที่กระทบต่อประชาชนและสังคม ล้วนมาจากวงในที่นักบัญชีได้เห็นและรู้ก่อน ซึ่งสะท้อนว่าการสร้างธรรมาภิบาล และการป้องกันควรเริ่มได้จากคนระดับแรกที่อยู่ในอาชีพนี้
ในปีที่ผ่านมามีคนจำนวนมากแสดงความต้องการอยากเข้ามาเป็นนักบัญชี เพราะ เป็นอาชีพอิสระที่ดี ซึ่งผมเห็นด้วย แต่เมื่อพิจารณาถึงภารกิจ และการสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในบรรดาสถาบันการศึกษาอันเป็นแหล่งผลิตนักบัญชีเอง ก็ขยายตัวไม่ไวพอกับมัวไปสนใจกับความรู้แบบ “ฟองสบู่ทางการจัดการ” มากเกินไป ทำให้การผลิตบัณฑิตใหม่ที่มีคุณภาพที่จะเข้ามาขยายผลและต่อยอดหดหายไปเรื่อย
ทั้งหลายนี้คือความจริงที่เกิดขึ้นได้ง่ายในยุคโลกาภิวัตน์ เพราะ ข่าวสารข้อมูลที่มากและดี สามารถชี้นำจนนักบัญชีวิ่งตามไปให้ภาพความจริงทำไม่ทัน หรือ สร้างความโปร่งใสได้ช้าเกินไป น่าเสียดายยิ่ง
ลำพังอาชีพนักบัญชีมักอยู่ในสภาพเก็บกดอยู่แล้ว เมื่อต้องจมปลักอยู่กับข้อมูลมากมาย ไร้ระเบียบ กับ อยู่กับผู้บริหารที่ถือว่า บัญชีคือ ข้อมูลที่เพียงมีทำไปตามหน้าที่ แต่จะให้ใช้เวลาไปดูสาระยิ่งยากขึ้นไปอีก  เพราะ วัฒนธรรมการทำธุรกิจของไทยนั้น อาศัยสายใย ความสัมพันธ์กับข้อยกเว้น เป็นธรรมชาติของลักษณะธุรกิจไทยอยู่แล้ว
จะมีบ้างก็เพียงส่วนน้อย ที่เป็น “นักบริหารกลับใจ” หันกลับมาให้น้ำหนักการบัญชี และให้บทบาทแก่นักบัญชี ให้เป็น “มือขวาของนักบริหาร” ที่จะให้การประชุมการจัดการมีรสชาติ ต้องรู้ต้นทุน ต้องมีข้อมูล กับต้องโปร่งใสและชี้แจงได้
ในสภาพที่ว่านี้ หากมีกรณีที่นักบัญชี ได้รับโอกาสถูกชูเป็นมือขวาของคณะผู้บริหาร ในฐานะคล้าย Controller ในอดีตแล้ว บทบาทหน้าที่ก็จะมีขอบเขตใหม่ กว้างและใหญ่กว่าเดิม นั่นคือ บทบาทจะขยายและกลายเป็น CFO ของกิจการ ที่จะช่วยการบริหารของ CEO ทำได้อย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร ในรูปแบบของ “การบริหารกระดานหก” หรือ Balanced Scorecard ได้อย่างเต็มระบบกับครบด้านด้วย
กล่าวถึงจุดนี้ อาชีพนักบัญชี จึงควรเดินไปกว้างและสูงขึ้นได้ คือ การเป็นผู้ช่วยมือขวาของนักบริหารระดับสูง ในฐานะผู้วางแผนและควบคุมด้านกลยุทธ์ นโยบายและแผนงาน
กับอีกสายงานของการเป็นนักบัญชีที่ทันสมัยและลึกในทางวิชาชีพ เพื่อวางระบบ ทำการตรวจสอบและออกรายงานเพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลได้รับการปกป้องและเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลขึ้นในสังคม พร้อมกับมีการจัดการที่ดีของกิจการ ด้วยข้อมูลที่เป็นจริงและครบถ้วนด้วย
สิ่งที่สังเกตจากที่ได้เข้าประชุม เห็นว่าที่ประชุมมิได้มีการเปิดใจพูดแสดงความเห็นกันอย่างที่ควร โดยเฉพาะในการตอบคำถามแก่สมาชิกต่อหมายเหตุที่ไม่ชัดเจน ที่กรรมการบางคนตอบแบบศรีธนญชัย หรือ คล้ายกับนักมวยชกสวยทีมุดรอดรักแร้ตลอดเวลา จนเอาชนะไปได้ โดยไม่เปิดหน้าชกแบบจะจะ เพื่อโอกาสที่สมาชิกจะได้ทราบและช่วยกันพัฒนาคัดเลือกกรรมการที่ทำงานจริงว่า ควรเป็นอย่างไร ควรเลือกใครดี
อีกประการหนึ่งคือ วัฒนธรรมของนักบัญชี คือ ต่างจะเป็นปัจเจกชนที่ชอบทำตัวเงียบ ขี้เกรงใจ ไม่กล้าพูดแสดงความเห็น เปิดเผยตรงไปตรงมา กับใจไม่กว้างที่จะยอมรับความจริงและทำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้สภาพัฒนาคืบหน้าไปได้ช้ากว่าที่ควร
อย่างไรก็ตามเมื่อออกมา ได้รับแผ่นปลิวหาเสียงของ 3 ทีม ซึ่งมีสายธรรมศาสตร์ สายจุฬาฯ กับสายศิษย์รามฯ รุ่นแรก ซึ่งบางคนบอกว่านี่คือ การแข่งแบบชู “สถาบัน” ซึ่งผมว่า ไม่มีน้ำหนักอะไร เพราะที่สำคัญกว่าคือ เห็นผู้สมัครหลายคนมาจากตัวแทนธุรกิจที่ใกล้ชิดการเมือง กับ บางคนที่เป็น “ซูสีไทก๋ง” ตัวจริง อันเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองบางพรรคที่สอดแทรกเข้ามาและอยู่ในขั้นตอนสำคัญของการเสนอชื่อและการแข่งขัน
ในฐานะนักบัญชีคนหนึ่ง ที่ทำงานด้านบริหารมามากและนานตามสมควร ผมไม่กล้าที่จะเหมาเอาว่า ควรทำตามความคิดของผม แต่กลับทำให้นึกย้อนกลับไปโดยเฉพาะจากในสมัยที่เคยเป็นตำแหน่งคณบดีมาก่อน ก็ได้เห็นนักบัญชีที่ขยายบทบาทนักบริหารได้กว้างขวางในอดีต พร้อมกับจุดอ่อนของการต้องไปยืนเบื้องหลัง ทำความโปร่งใสให้ดีขึ้นไม่ได้แล้ว
ในครั้งนี้จึงอยากฝากสมาชิกสภาการบัญชีฯให้ไปใช้สิทธิเลือกกรรมการด้วยเกณฑ์สำคัญคือ ด้วยการชู “ศักดิ์ศรีของนักบัญชี” ไว้ให้สูง เพื่อให้ได้กรรมการสภาที่จะมาช่วยเราเชิดหน้าชูตาเหนือกว่าสมาคมวิชาชีพอื่นๆ
เพราะ หากมองย้อนกลับไปดูกรณีศึกษาการล่มสลายของสำนักงานสอบบัญชีที่มีอายุถึง 100 ปี อย่าง อาร์เทอร์ แอนเดอร์สัน ที่ปิดตัวเองไปแล้วแล้ว ที่แท้ก็เพราะ จากความเก็บกด ขาดโอกาส กับตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลง จนทำให้หลงทางไปติดกับผลประโยชน์ทำเสียหายในหน้าที่ กับทำให้ศักดิ์ศรีพลอยมัวหมองหมดไป อย่างน่าเสียดายยิ่ง

 685
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores