ผลเสียเหล่านี้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดกระแสการทำธุรกิจที่คำนึงถึงความห่วงใยต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรม Corporate Social Responsibility (CSR) โดยมีวัตถุประสงค์ให้กิจการดำเนินการภายใต้หลักจริยธรรมและการจัดการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม ความเป็นอยู่และสิ่งเเวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทั้งยังเป็นแนวทางที่ทำให้ธุรกิจพัฒนาไปพร้อมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (อ่านเกี่ยวกับ “CSR กับการมัดใจผู้บริโภค”)
ด้วยกระแสสังคมในปัจจุบันข้างต้น ทำให้มีกระแสการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน โดยนักลงทุนได้หันเหจากการสร้างผลตอบแทนในรูปแบบของเงินเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว ไปสู่การส่งคืนประโยชน์และคุณค่ากลับสู่สังคมและสิ่งแวดล้อมไปในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดแนวคิด “การลงทุนเพื่อสังคม” หรือ Socially Responsible Investment
การลงทุนเพื่อสังคม เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่นอกจากนักลงทุนจะคาดหวังผลตอบแทนทางการเงินแล้ว ยังต้องการให้ธุรกิจที่ตนเองลงทุนไปสามารถส่งผลกระทบในทางบวกหรือสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการดำเนินธุรกิจ โดยเชื่อว่าการลงทุนแบบนี้ทำให้เกิดผลกระทบที่ยั่งยืน สามารถขยายผลให้เติบโตไปได้ในระยะยาว และได้มาพร้อมกับผลตอบแทนทางการเงินนั่นเอง โดยการลงทุนตามแนวคิด Socially Responsible Investment (SRI) ยังถูกเรียกว่า Impact investing หรือ การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ และ ESG (Environmental, Social and Governance) Screened Investments หรือการลงทุนที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม, สังคม และบรรษัทภิบาล
นักลงทุนที่ลงทุนตามแนวคิดของ SRI สามารถเลือกลงทุนในธุรกิจที่สนใจและต้องการช่วยส่งเสริมการแก้ปัญหาเพื่อยกระดับมาตรฐานของสภาพสังคมหรือสิ่งแวดล้อมในขอบเขตนั้นๆ ได้ เช่น การเลือกลงทุนในบริษัทที่ส่งเสริมความหลากหลายของพนักงานในองค์กรหรือ Workforce Diversity, การลงทุนในบริษัทที่มีนโยบายในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, หรือการลงทุนในบริษัทหรือกิจการที่ดำเนินการถูกหลักศีลธรรมและจริยธรรม เป็นต้น การลงทุนตามแนวคิดของ SRI ยังสร้างนวัตกรรมและแนวทางการลงทุนใหม่ๆ ที่สนับสนุนการลงทุนที่คำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมเช่น
- การให้การร่วมทุน (Venture Philanthropy) โดยเป็นการร่วมลงทุนในโครงการหรือธุรกิจเพื่อส่งเสริมการช่วยเหลือสังคม เช่น การลงทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรยากไร้ที่ขาดแคลนเงินทุนในการเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและสร้างผลผลิตต่อไปในอนาคต
- การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (Impact Investment) มีวัตถุประสงค์ที่แทบจะคล้ายคลึงกับ Venture Philanthropy แต่มีความแตกต่างกันตรงที่ Impact Investment มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรหรือธุรกิจ ที่เริ่มมีการเจริญเติบโตมาแล้ว (Emerging Market) เป็นการต่อยอดและพัฒนาองค์กรและธุรกิจ ยกตัวอย่างการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเช่น บริษัท General Electric (GE) ลงทุนเปลี่ยนแปลงกระบวนการการผลิตโดยการสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่ผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์แก่สังคมโลก หรือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพความรู้ความสามารถ เป็นต้น
- การลงทุนด้านความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคม (Corporate partnership/ Hybrid value chain) มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ต้นทุนต่ำ (Cost-effective) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐ
- การระดมเงินทุนจากประชาชนแบบเปิดกว้างขนาดใหญ่ (Crowd funding) มุ่งเน้นการร่วมลงทุนโดยคนหมู่มากหรือนำแหล่งเงินทุนจากหลายๆ แห่งมาลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น การร่วมลงทุนของ Angel Investors และการลงทุนใน Peer-to-Business Lending (P2B) เป็นต้น (อ่านเกี่ยวกับ “Crowdfunding - ระดมทุน โดยมวลชน”)
https://www.moneywecan.com