เวลาที่เราอ่าน หรือ ฟังบทวิเคราะห์หุ้นแต่ละตัว จากเหล่านักวิเคราะห์ เรามักจะได้ยินคำว่า “EBITDA” อยู่บ่อยๆ แล้วมันเกี่ยวข้องกับ EBIT อย่างไร ทำไมนักวิเคราะห์ถึงให้ความสำคัญกับมันมากนัก เราจะมาทำความเข้าใจ และหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกับกำไรแต่ละประเภทตามภาพด้านล่างกันก่อน
เมื่อเรารู้จักกำไรแต่ละประเภทแล้ว เรามาทำความเข้าใจเพิ่มเติมในส่วนของ EBIT และ EBITDA กันอีกสักหน่อย
EBIT (Earnings Before Interest and Tax) คือ กำไรหลังหักต้นทุนขาย และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร แต่เป็นกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย และค่าใช้จ่ายทางภาษี เพราะทั้งดอกเบี้ยจ่าย และค่าใช้จ่ายทางภาษี เป็นผลกระทบที่ไม่ได้เกิดจากผลการดำเนินงานของบริษัท แต่เป็นภาระผูกพันทางการเงิน และภาระผูกพันทางกฎหมาย ที่บริษัทจำเป็นต้องปฏิบัติตาม
กำไรขั้นต้น – ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
หรือ
ราคาขาย – ต้นทุนขาย – ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
EBITDA (Earnings Before Interest , Tax , Depreciation and Amortization) คือ EBIT บวกด้วย ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และ ค่าจัดจำหน่าย (Amortization)
กำไรขั้นต้น – ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร + ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
หรือ
ราคาขาย – ต้นทุนขาย – ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร + ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
ก่อนพูดถึงความแตกต่าง เราต้องทำความเข้าใจเรื่อง ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และ ค่าจัดจำหน่าย (Amortization) ก่อน
ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และ ค่าจัดจำหน่าย (Amortization) คือ ค่าใช้จ่ายที่บริษัทไม่ได้จ่ายออกไปจริงๆ แต่เป็นเพียงการปันส่วนต้นทุนของสินทรัพย์ ไปตลอดอายุการใช้งานของสินทรัพย์นั้น เช่น บริษัทซื้อเครื่องจักรสำหรับการผลิต ราคา 1,000,000 บาท ซึ่งคาดว่าเครื่องจักรนี้จะมีอายุการใช้งานประมาณ 5 ปี ดังนั้น เครื่องจักรนี้จะถูกคิดค่าเสื่อมราคาปีละ 1,000,000/5 = 200,000 บาท ซึ่งค่าเสื่อมราคาปีละ 200,000 บาทนี้ บริษัทไม่ได้จ่ายออกไปจริง เพราะบริษัทจ่ายชำระค่าเครื่องจักรจำนวน 1,000,000 บาทไปแล้วในปีแรกที่ซื้อมา ดังนั้น
เนื่องจาก EBIT คือ กำไรจากการดำเนินงาน หักด้วยค่าเสื่อมราคา และค่าจัดจำหน่าย แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นไม่ได้ถูกจ่ายออกไปจริง จึงถูกบวกกลับเข้าไปที่กำไรจากการดำเนินงาน และกลายเป็น EBITDA ซึ่ง EBITDA ถูกมองว่าเป็นความสามารถในการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัท ในการสร้างกระแสเงินสดกลับมา
ถึงแม้ว่า EBITDA จะถูกมองว่าเป็นความสามารถที่แท้จริงของบริษัท แต่ EBITDA ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่สำคัญที่สุดที่เราควรให้ความสำคัญ เราไม่สามารถดู EBITDA เพียงอย่างเดียว แล้วบอกว่าบริษัทมีผลการดำเนินงานดีขึ้นหรือไม่อย่างไร เราจำเป็นที่จะต้องดูงบการเงินในส่วนอื่นๆประกอบด้วย เพื่อเป็นตัวช่วยให้เราสามารถมองเห็นภาพรวมของบริษัทได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
http://www.selfinvest.co