งบดุล (Balance Sheet)(1)

งบดุล (Balance Sheet)(1)

ในบทความนี้เราจะพูดถึงส่วนประกอบของ งบดุล (Balance Sheet) หรือ งบแสดงฐานะทางการเงิน ว่าใน งบดุล มีส่วนประกอบอะไรบ้าง และส่วนประกอบเหล่านั้นให้ข้อมูลอะไรกับเรา

 

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

 

เราคงเคยเห็นสมการด้านบนกันมาบ้าง แล้วมันหมายถึงอะไรล่ะ ลองนึกถึงเวลาที่เราต้องการจะซื้อสินทรัพย์ที่มีราคาสูง อย่างเช่น บ้าน หรือ คอนโด ส่วนมากแล้วเราไม่นิยมจ่ายเงินสดเต็มจำนวนเพื่อซื้อสินทรัพย์นั้น เช่น บ้านราคา 5 ล้านบาท เราอาจมีเงินสดอยู่เพียง 2 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 3 ล้านบาท เราจำเป็นจะต้องไปกู้ยืมจากธนาคาร เมื่อเรากู้ยืมเงินมา เราก็จะเป็นหนี้ตามจำนวนเงินที่กู้ยืม(ในกรณีนี้คือ 3 ล้านบาท) เราจะมาเขียนสมการนี้กันใหม่ด้วยข้อมูลการซื้อบ้านที่เรามี

 

5 ล้านบาท (สินทรัพย์) = 3 ล้านบาท (หนี้สิน) + 2 ล้านบาท (ส่วนของเจ้าของ)

 

สินทรัพย์มูลค่า 5 ล้านบาท คือ ราคาบ้านที่เราต้องการซื้อ หนี้สินมูลค่า 3 ล้านบาท คือ เงินในส่วนที่เราไปกู้ยืมมาจากธนาคาร และส่วนของเจ้าของมูลค่า 2 ล้านบาท คือ เงินของเรานั้นเอง

ในกรณีขององค์กรธุรกิจก็มีลักษณะคล้ายกัน แต่รายการต่างๆ จะมีรายละเอียดที่มากกว่า

 

สินทรัพย์ (Assets)

หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ ทรัพยากรดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีตซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต

ถ้าถามว่างงไหมก็ตอบเลยว่างง ผมก็งง งั้นเอาใหม่ แปลเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายๆ คือ สินทรัพย์ที่อยู่ในการครอบครองของเรา และสามารถสร้างประโยชน์ให้เราได้ทั้งในปัจจุบันและอยาคต เปรียบเทียบกับบุคคลก็อาจจะเป็น บ้าน รถยนต์ ที่ดิน คอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูป หนังสือ ปากกา ดินสอ ยางลบ ไม้บรรทัด และอีกเยอะแยะมากมาย เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราครอบครอง และ ให้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆกับเราได้ ในกรณีของกิจการก็อาจเป็น เครื่องจักร เงินฝาก ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ ที่ดิน อาคารและอุกรณ์ เงินลงทุน ค่าความนิยม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กิจการครอบครองและให้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆแก่กิจการนั้นเอง

 

หนี้สิน (Liability)

หมายถึง ภาระผูกพันในปัจจุบันของกิจการ ภาระผูกพันดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งการชำระภาระผูกพันนั้นคาดว่าจะส่งผลให้กิจการสูญเสียทรัพยากรที่เป็นประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ

งงอีกไหม แน่นอนว่าต้องงงอยู่แล้ว แปลเป็นภาษามนุษย์จะได้ว่า เหตุการณ์ในอดีตซึ่งส่งผลให้เราต้องสูญเสียสินทรัพย์ที่เราครอบครองอยู่ในปัจจุบันหรืออนาคต เช่น เราเคยกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อซื้อบ้าน เราเคยยืมเงินเพื่อน เราเคยขอยืนของๆเพื่อนมาใช้ แน่นอนว่าการจะปลดภาระผูกพันเหล่านี้ เราจะต้องสูญเสียสินทรัพย์ (เงิน) ของเรา ในกรณีของกิจการก็เช่นกัน อาจมีการกู้ยืมเพื่อขยายกิจการ หรือ ดำเนินงาน เจ้าหนี้การค้า สัญญาเช่าการเงิน การจะปลดภาระผูกพันเหล่านี้เราจำเป็นจะต้องชำระภาระการกู้ยืมต่างๆ ซึ่งส่งผลให้เราต้องสูญเสียสินทรัพย์ที่ครอบครองบางอย่างไป อาจจะเป็นเงินสด หรือ สินทรัพย์อื่นๆ

 

ส่วนของเจ้าของ (Owners’ Equity)

หมายถึง ส่วนได้เสียคงเหลือในสินทรัพย์ของกิจการหลังจากหักหนี้สินออกแล้ว

ง่ายๆแบบนี้เลยหรอ คำตอบก็คือ “ใช่” เราลองคิดถึงกรณีบ้าน 5 ล้านบาทที่เคยยกตัวอย่างไป บ้านราคา 5 ล้านบาท กู้ยืมมา 3 ล้านบาท เอา 5 – 3 = 2 ซึ่ง 2 ก็คือเงิน 2 ล้านบาทที่เป็นเงินของเรานั่นเอง กรณีของกิจการก็เช่นกัน บางกิจการอาจจะใช้เงินทุนของตนเองทั้งหมด กิจการนั้นก็จะไม่มีหนี้สิน มีส่วนของเจ้าของ 100% แต่บางกิจการอาจมีการกู้ยืมมา เช่น ใช้เงินตนเอง 70 ล้านบาท กู้ยืมมา 30 ล้านบาท กิจการนี้จะมีสินทรัพย์มูลค่า 100 ล้านบาทนั้นเอง

 

บทความนี้ น่าจะช่วยให้เห็นภาพเกี่ยวกับฐานะการเงินของกิจการมากขึ้น ตอนนี้เราสามารถวิเคราะห์ได้แล้ว ว่ากิจการใดมีการกู้ยืมมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งการกู้ยืมในอัตราที่มากจะทำให้กิจการมีภาระในการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ที่มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน แต่บทความ งบดุล ยังไม่จบเพียงเท่านี้ บทความหน้า เราจะเขียนถึงประเภทของสินทรัพย์และหนี้สินในงบดุล อย่าลืมติดตามอ่านกันนะ

http://www.selfinvest.co

 1826
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores