วางแผนออมเงิน

วางแผนออมเงิน

ความร่ำรวยและชีวิตที่มีอิสรภาพทางการเงิน มักเริ่มต้นมาจากคำว่า “ออม” เสมอ ใครที่เริ่มเก็บออมได้เร็วกว่า ย่อมรวยเร็วกว่า และโปรดรู้ไว้ว่า... คุณกำลังเดินหน้าสู่ความมั่งคั่ง ขณะเดียวกันก็ยังมีคนอีกนับไม่ถ้วนที่ตัดพ้อว่าอยากออมเต็มที แต่กลับมีอุปสรรครายล้อม เงินเดือนน้อยบ้างหละ ภาระทางบ้านล้นมือ ไหนจะผ่อนบ้านผ่อนรถ ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว แถมยังต้องให้เงินพ่อแม่ทุกเดือน แล้วแบบนี้จะเอาจากไหนไปออม
ออมได้แน่นอน เพียงเปลี่ยนจากเดิมที่เคยคิดว่า “ใช้จ่ายก่อน... เหลือเท่าไหร่ค่อยออม” มาเป็น “ออมก่อน... เหลือเท่าไหร่ค่อยใช้” ส่วนจะออมเดือนละเท่าไหร่ ก็ตามใจ สูตรใครสูตรมัน
เงินได้-เงินออม
อย่างที่บอกไปแล้วว่าออมเร็ว... รวยเร็ว ออมมาก... รวยมาก หากใครไม่อยากรู้สึกว่าการออมเป็นภาระจนเกินไป ลองเริ่มเบาะๆ แค่เดือนละ 10% ของรายได้ก่อน ประมาณว่าได้เงินมา 15,000 บาท ก็อย่าเพิ่งรีบร้อนใช้ ให้หักไว้เป็นเงินออมก่อน 1,500 บาท จากนั้นค่อยนำส่วนที่เหลืออีก 13,500 บาทไปใช้ตามอัธยาศัย
ออม10%ของเงินที่ใช้ไป
แต่หากคุณเป็นคนที่ชอบใช้จ่าย พยายามแก้ยังไงก็ไม่หายสักที ลองเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้... ทุกครั้งที่ใช้จ่าย ต้องเก็บเงินเพิ่มให้ได้ 10% ของเงินที่ใช้ไป เช่น ซื้อของ 2,000 บาท ก็ต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 200 บาท ด้วยวิธีนี้... ไม่ว่าคุณจะใช้จ่ายมากแค่ไหน คุณก็จะได้เงินออมแถมมาครั้งละนิดละหน่อยเสมอ 

แม้ช่วงแรกๆ คุณอาจรู้สึกอึดอัด ฝืนใจ หรือไม่ก็แอบขี้โกงตัวเองบ้างในบางครั้ง แต่พอลงมือทำไปสักพัก คุณจะเริ่มคุ้นเคยกับการออมมากขึ้น บวกกับเห็นเม็ดเงินในบัญชีค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ ทีนี้แหละ... หากคุณอยากจะขยับยกระดับการออมเป็น 20% หรือ 30% ก็ทำได้ไม่ว่ากัน เพราะไม่ว่าจะออมเท่าไหร่ก็ดีทั้งนั้น ถ้ามันทำให้เงินออมของคุณค่อยๆ งอกเงย ออกดอกออกผลโตวันโตคืน
มาถึงตรงนี้... คุณคงพอเห็นภาพการออมชัดเจนมากขึ้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราอยากแนะนำและคุณควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือ “แยกบัญชีเงินออมออกจากบัญชีทั่วไป” ที่คุณใช้บัตรเอทีเอ็มเบิกถอนอยู่เป็นประจำ ซึ่งสาเหตุที่ไม่ควรนำเงินทั้งหมดมากองรวมไว้ในบัญชีเดียวกัน ก็เพราะธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน เมื่อมีเงินอยู่ในมือ ก็มักจะมีเรื่องให้ใช้จ่ายได้ตลอดเวลา หากใช้เพลิน ใช้แล้วยังเห็นว่ามีเงินเหลืออยู่ ก็จะใช้อีก สุดท้ายก็หมด
หากคุณไม่อยากให้เงินออมของคุณต้องหมดไป เพียงเพราะความเพลิดเพลินหรือประมาทเลินเล่อในการใช้จ่าย ให้คุณแบ่งเงินออมเป็น “4 บัญชี” โดยแยกแต่ละบัญชีตามวัตถุประสงค์การออมให้ชัดเจน
บัญชี S.O.S
บัญชีแรก “บัญชี S.O.S” หรือเรียกง่ายๆ ว่า “บัญชีฉุกเฉิน” เงินก้อนนี้เก็บไว้รับมือกับเรื่องราวไม่คาดฝันต่างๆ ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ เจ็บไข้ได้ป่วย ขึ้นโรงขึ้นศาล หรือตกงานกะทันหัน ทางที่ดี... คุณควรมีเงินก้อนนี้ติดบัญชีไว้บ้างสัก 6 เท่าของค่าใช้จ่าย อย่างน้อยหากเข้าตาจน เงินก้อนนี้ก็น่าจะพอเยียวยาชีวิตคุณได้บ้าง
บัญชีเงินออม : ระยะสั้นถึงระยะกลาง
บัญชีที่สอง “บัญชีเงินออม: ระยะสั้นถึงระยะกลาง” ถ้าคุณตั้งใจจะเก็บเงินสักก้อนไว้ดาวน์บ้าน ดาวน์รถ ท่องเที่ยว หรือเก็บเงินไว้เป็นสินสอดทองหมั้นเพื่อแต่งงานกับคนรัก ก็ควรจะเจียดเงินออมส่วนหนึ่งมาเข้าบัญชีนี้ เพื่อเป็นบันไดให้คุณก้าวเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นใจ
บัญชีเงินออม : ระยะยาว
บัญชีที่สาม “บัญชีเงินออม: ระยะยาว” เป็นบัญชีเงินออมเพื่ออนาคตที่คุณควรเก็บไว้ใช้หลังเกษียณ หรือไม่ก็เป็นค่าเล่าเรียนของลูกยามที่เขาเติบโต เงินก้อนนี้ต้องใช้ความตั้งใจและวินัยในการออมสูง จึงต้องกันเงินไว้ทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ... เมื่อใส่เงินเข้าไปในบัญชีนี้แล้ว“จงลืมมัน” คิดเสียว่าเป็นตายร้ายดี ก็จะไม่ยอมถอนเงินก้อนนี้ไปใช้เด็ดขาด
บัญชีเพื่อการลงทุน
บัญชีที่สี่ “บัญชีเพื่อการลงทุน” หากชีวิตนี้คุณเคยแต่ฝากเงินไว้กับธนาคารเพียงอย่างเดียว ลองเปิดหูเปิดตาให้กว้างไกล แล้วแบ่งเงินมาเข้าบัญชีนี้ดูบ้าง วันละนิดวันละหน่อยก็ยังดี เมื่อมีเงินเป็นกอบเป็นกำ ค่อยถอนไปลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อให้เงินทำงาน สร้างเงินให้กับเรา
ส่วนใครจะจัดสรรเงินออมเข้าบัญชีไหนมากบัญชีไหนน้อยนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว คงเป็นเรื่องที่คุณต้องวางแผนให้สอดรับกับเงื่อนไขทางการเงินที่ตัวคุณเองย่อมรู้ดีที่สุดว่าควรจัดสรรยังไงถึงจะเวิร์ค
แต่ที่แน่ๆ เมื่อคิดจะออม... ก็ต้องออมแบบไม่มีเงื่อนไข ออมแบบมีวินัย ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ที่สำคัญต้องหมั่น “ทำบัญชีรับจ่าย” เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมการใช้เงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วย
https://www.set.or.th
 848
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores