วางแผนเกษียณ

วางแผนเกษียณ

คุณเคยออกแบบชีวิตในวัยเกษียณไว้บ้างหรือไม่... จะเกษียณตอนอายุเท่าไหร่? หลังเกษียณอยากใช้ชีวิตแบบไหน? อยากทำอะไร? หลายคนวาดฝันถึงชีวิตในบั้นปลายไว้เป็นอย่างดี แต่หลายคนก็ยังไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้เลยสักครั้ง โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่เพิ่งก้าวเข้าสู่วัยทำงาน อาจคิดว่าเป็นเรื่องของอนาคตอันยาวไกล ยังมีเวลาอีกตั้ง 20 – 30 ปี เอาไว้อายุปลายๆ เลข 4 หรือขึ้นเลข 5 ค่อยเตรียมตัวก็คงทัน 
 
ไม่ผิดหรอก... ถ้าคิดว่ายังมีเวลาเหลือเฟืออีกหลายปี แต่คุณคิดว่าตัวเองจะมีเรี่ยวแรงทำงานและมีรายได้อย่างสม่ำเสมอไปอีกนานเท่าไหร่? เพราะไม่ว่าใคร ก็ต้องมีช่วงวัยเกษียณด้วยกันทั้งนั้น และนั่นหมายถึง “การหยุดทำงานประจำ + ไม่มีรายได้หลักอีกต่อไป”แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า... เมื่อเกษียณอายุแล้ว คุณจะหยุดใช้ชีวิต หยุดใช้เงิน ทุกๆ วันที่เหลืออยู่ คุณยังต้องกินต้องใช้ ยิ่งอายุยืนยาวเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้นเท่านั้น 
 
ลองคิดดูเล่นๆ ก็ได้... ถ้าคุณเกษียณตอน 60 และพิจารณาจากอายุขัยของญาติพี่น้องแล้ว ก็คาดว่าจะอยู่ถึงอายุ 80 ปี เท่ากับคุณต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยไม่มีรายได้ราวๆ 20 ปี สมมติคุณมีค่าอาหาร 100 บาทต่อวัน หรือ 37,000 บาทต่อปี แสดงว่าคุณต้องเตรียมค่าอาหารหลังเกษียณไว้สูงถึง 7 แสนกว่าบาทเลยทีเดียว นี่ขนาดยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ ยังต้องใช้เงินเยอะขนาดนี้ แล้วคุณจะเอาเงินมาจากไหน เพื่อให้เพียงพอใช้ไปตลอดชีวิต
 
บางคนบอกไม่เห็นต้องทำอะไรมากมาย เดี๋ยวลูกหลานก็เลี้ยงดู ให้กินให้อยู่อย่างสุขสบาย บางคนบอกไม่ต้องห่วงเลยก็ได้ ยังไงรัฐก็มีสวัสดิการตั้งมากมายมอบให้ผู้สูงอายุอยู่แล้ว 
 
เรื่องของอนาคต... คงไม่มีใครฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะเป็นไปตามที่เราคาด หากเรามองโลกในแง่ดีจนเกินไป เกิดวันหนึ่งรัฐบาลไม่พร้อมจะช่วยเหลือ แถมลูกหลานก็มีภาระรัดตัว ชีวิตเรามิต้องเคว้งคว้างไร้คนดูแลหรอกหรือ? !
ฉะนั้น “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นั่นแหละ... ดีที่สุด เพราะชีวิตคนเราเกิดมาทั้งที แก่ได้แค่ครั้งเดียว คงจะดีไม่น้อย... หากในช่วงบั้นปลาย เราได้ใช้ชีวิตตามที่ปรารถนาโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร แถมมีเงินเลี้ยงตัวเองได้อย่างสบายๆ จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัย... แล้วต้องมีเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้สบายๆ ไปตลอดชีวิต? จริงๆ มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่เอาเป็นว่า... ถ้าคุณจะเช็คเงินออมที่ต้องมีคร่าวๆ แบบที่ยังสามารถรักษาไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบเดิมๆ เอาไว้ได้ ก็ลองใช้สูตรนี้
ตัวอย่างเช่น เพลินใจตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณอายุไปอีก 20 ปี ถ้าเพลินใจมีค่าใช้จ่ายปัจจุบัน 30,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของเพลินใจจะเท่ากับ 21,000 บาทต่อเดือน (70% x 30,000) หรือราวๆ 252,000 บาทต่อปี
จากนั้นก็นำไปคูณกับจำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ ซึ่งก็คือ 20 ปี นั่นหมายความว่าเพลินใจควรมีเงินประมาณ 5,040,000 บาทตอนอายุ 60 ปี (252,000 x 20) ซึ่งก็ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม หลังเกษียณแล้ว...
คุณอาจมีเงินออมหรือเงินลงทุนบางส่วนที่สะสมไว้และสามารถนำมาใช้ตอนเกษียณอายุได้โดยที่คุณคาดไม่ถึง เช่น การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมถึงเงินจากการลงทุนส่วนตัว หรือรายได้จากช่องทางอื่นๆ ฯลฯ แต่โดยทั่วไปเงินออมเหล่านี้มักไม่มากพอที่จะทำให้คุณมีชีวิตที่สุขสบายหรือวิ่งตามความฝันในวัยเกษียณได้ 
 
ดังนั้น หากไม่อยากลำบากตอนแก่ ก็เริ่มคิดและออกแบบชีวิตในวัยเกษียณซะตั้งแต่วันนี้... ว่าต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงจะพอใช้ไปตลอดชีวิต ถ้าขืนมานึกขึ้นได้ว่าต้องเก็บออมตอนอายุย่างเข้าเลข 5 เค้าลาง “โคม่า” และ “ลำบากแสนเข็ญ” คงลอยมาอยู่ตรงหน้าตั้งแต่ยังไม่เกษียณเลยด้วยซ้ำ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณต้องเตรียมตัวไว้ก่อน พร้อม “ลงมือออมให้เร็วที่สุด” เพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงของตัวคุณเอง
https://www.set.or.th/set
 974
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores