4 พฤติกรรม SME ขอสินเชื่อยาก

4 พฤติกรรม SME ขอสินเชื่อยาก

3 มีนาคม 2560

4 พฤติกรรม SME ขอสินเชื่อยาก

​      ยอดขายคือสิ่งแรกๆ ที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสำคัญ เพราะยอดขายก็คือรายได้และกำไรของธุรกิจ หลายคนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียเวลามานั่งคิดเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจ โดยเฉพาะการทำบัญชี ในเมื่อขายดิบขายดีก็น่าจะเพียงพอแล้วนี่ แต่รู้หรือไม่ว่าคุณกำลังลดโอกาสในการขอสินเชื่อลงไป! ทีนี้ลองมาดูกันว่าคุณกำลังมีพฤติกรรมแบบนี้อยู่หรือไม่

1. ไม่เดินบัญชีธนาคาร การที่ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนทางการค้าที่ไม่ผ่านระบบบัญชีธนาคาร บางครั้งก็หมุนเวียนในนามบุคคลอื่น หรือซื้อขายกันเป็นเงินสด ทำให้ธนาคารไม่เห็นปริมาณกระแสเงินสดที่หมุนเวียนเข้าออกจริงๆ ในธุรกิจ จึงเกิดความไม่มั่นใจว่าธุรกิจมีประวัติการรับและจ่ายเงินอย่างไรกันแน่ กลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดังนั้นผู้ประกอบการควรรับและจ่ายเงินผ่านทางบัญชีธนาคาร ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขา แต่สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านทางออนไลน์บนมือถือได้แล้ว และหากคุณซื้อของเงินสด เมื่อได้รับเงินมาก็ควรรีบเอาไปเข้าบัญชีธนาคารอย่าเอาเก็บไว้ในลิ้นชัก เพราะนอกจากคุณจะได้เดินบัญชีแล้ว ยังป้องกันเงินหายได้อีกด้วย

2. ให้ข้อมูลไม่ชัดเจน การไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่ครบถ้วนให้แก่ธนาคาร เช่น แหล่งที่มาของรายได้ไม่ชัดเจน ไม่มีเอกสารการค้าขายอ้างอิง ไม่ว่าจะเป็น บัญชีซื้อ บัญชีขาย สำเนาใบกำกับภาษี ใบสั่งซื้อ ใบเสร็จรับเงิน ซึ่งการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนชัดเจนนั้นทำให้ธนาคารมีข้อมูลไม่เพียงพอในการพิจารณาสินเชื่อ เพราะเอกสารเหล่านี้สนับสนุนที่มาของรายได้ธุรกิจ ว่าคุณค้าขายกับใคร ต้องรับและจ่ายเงินเมื่อไหร่ ซึ่งส่งผลกับความต้องการเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจทั้งสิ้น ดังนั้นหากคุณมีแผนจะขยับขยายธุรกิจด้วยการขอสินเชื่อ ก็ต้องเก็บเอกสารทุกอย่างเอาไว้ให้ครบถ้วน ถือซะว่าเผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด

3. ลงบัญชีขายน้อยกว่าความเป็นจริง เป็นพฤติกรรมที่ผู้ประกอบการทำเพื่อประโยชน์ทางภาษี คือลงบัญชีขายน้อยกว่าที่ขายได้จริงๆ แล้วลงบัญชีซื้อตามจริงหรือสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อให้รายรับน้อยกว่ารายจ่าย จะได้เสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง แต่คุณรู้หรือไม่ว่า นั่นก็ทำให้ธนาคารเห็นผลประกอบการที่ไม่ใช่ของจริง ทำให้เป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อกับธนาคาร

4. นำเงินหมุนเวียนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ผู้ประกอบการมักจะคิดว่าไม่เป็นไร ก็เหมือนกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวา แต่การนำเงินหมุนเวียนของบริษัทไปซื้อสินทรัพย์หรือจ่ายค่าใช้จ่ายส่วนตัวนั้นไม่ทำให้เกิดรายได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเพราะเงินหมุนเวียนคือเงินที่ไว้ใช้จ่ายในบริษัท เพื่อผลิตสินค้าขาย เป็นรายได้ให้ธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรแยกเงินบริษัทออกจากเงินส่วนตัวให้ชัดเจน เพราะการใช้เงินปนกันเช่นนี้อาจทำให้ธุรกิจประสบปัญหาขาดสภาพคล่องได้ในที่สุด นอกจากนี้ยังทำให้ธุรกิจต้องขอสินเชื่อเกินความจำเป็นที่แท้จริง ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ เพราะธนาคารมองว่าผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพียงพออยู่แล้ว

     สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ นอกจากจะเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อแล้ว ยังเป็นอุปสรรคในการเติบโตของธุรกิจต่อไปในอนาคตด้วย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตระหนักไว้ว่า ยอดขายไม่ใช่ทุกอย่างของธุรกิจ ดังนั้นหากคุณอยากจะไปต่อก็ต้องบริหารจัดการเงินให้เป๊ะ
https://kasikornbank.com
 763
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores