ใครที่ทำธุรกิจ ทำกิจการอยู่ คงพอจะทราบดีว่า หากต้องการให้กิจการของตัวเองเป็นที่น่าเชื่อถือ และมีการจัดการที่เป็นระบบ สามารถที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคตนั้น จะต้องนำธุรกิจของตัวเองไปจดทะเบียนนิติบุคคล และดำเนินการจัดการนิติบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะว่าไปแล้ว กฎหมายได้เข้ามาช่วยในเรื่องการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ของแต่ละคน หากได้ดำเนินการไปตามกฎหมายแล้ว โอกาสที่จะมีปัญหายุ่งยากตามมาภายหลังมีน้อยเต็มที
การทำธุรกิจการค้า หากมีการดำเนินงานโดยบุคคลคนเดียว เป็นกิจการส่วนตัวของผู้นั้นโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นวิธีที่เก่าแก่และง่ายที่สุด มีมาช้านานแล้วก่อนธุรกิจการค้าในรูปแบบใดๆ วิธีการดำเนินงานก็ง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ไม่มีปัญหาในการจัดการควบคุม หากแต่ต้องรับผิดชอบในเรื่องเงินทุน และหนี้สินเพียงคนเดียว หากมีกำไรก็ได้กำไรคนเดียว ขาดทุนก็ขาดทุนคนเดียว
แต่ความสามารถในเรื่องเงินทุน และเครดิตของคนๆ เดียวย่อมมีจำกัด คนๆ เดียวย่อมไม่อาจทำกิจการค้าใหญ่ๆ หรือเป็นกิจการที่ถาวรได้ กิจการค้าที่ทำโดยบุคคลคนเดียว มักเป็นกิจการค้าเล็กๆ ดังนั้น กิจการค้าใหญ่ๆ มักจะต้องมีคนมาร่วมกันลงทุน และช่วยกันดำเนินงาน ซึ่งย่อมจะมีปัญหาว่า คนเหล่านั้นจะประพฤติปฏิบัติต่อกันอย่างไร จะลงทุนกันอย่างไร จะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบกันอย่างไร หากมีกำไรหรือขาดทุน จะแบ่งกำไรหรือช่วยกันขาดทุนอย่างไร ปัญหาเหล่านี้ บางกรณี บุคคลเหล่านั้นอาจจะคาดคิดไว้ล่วงหน้า บางคนไม่ได้คาดคิดไว้ล่วงหน้า ซึ่งต้องมีบทกฎหมายคอยช่วยแก้ไขให้
การที่บุคคลร่วมกันทำธุรกิจ ถ้าประสงค์จะให้ทุกคนมีสิทธิเท่ากันในการดำเนินงาน ทุกคนรับผิดในหนี้โดยไม่จำกัด เสมือนหนึ่งกิจการค้านั้นเป็นของทุกคน ก็อาจจะตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ
แต่ถ้าต้องการให้กิจการค้านั้น เป็นเอกเทศต่างหากจากผู้ร่วมกิจการ ก็จดทะเบียนห้างหุ้นส่วนขึ้นมาเป็นนิติบุคคล
ถ้าไม่ประสงค์จะรับผิดในหนี้โดยไม่จำกัด ก็อาจจะจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด
และหากผู้ร่วมกิจการค้านั้นประสงค์จะรับผิดในหนี้ของกิจการนั้น มีจำนวนจำกัดตามที่ตนจะรับผิดชอบได้ ก็อาจจะจดทะเบียนเป็น บริษัท จำกัด
(อ้างอิงจาก หนังสือหุ้นส่วน บริษัท, โสภณ รัตนากร สำนักพิมพ์นิติบรรณการ)
จัดทำใบหุ้น
เมื่อเห็นลำดับความของกิจการประเภทต่างๆ และความสำคัญของการจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว จึงน่าสนใจต่อไปว่า เรื่องราวของการจัดการนิติบุคคลในระดับพื้นฐานที่ผู้ประกอบการทั่วไปควรทราบนั้น มีเรื่องอะไรบ้าง
เมื่อไม่นานที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดโครงการอบรมนิติบุคคลตั้งใหม่ แก่ผู้ประกอบการทั่วไป ซึ่งมี คุณสนธยา ทรัพยะประภา นักวิชาการพาณิชย์ สำนักทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ มาให้ความรู้
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ใครที่ทำธุรกิจ ทำกิจการอยู่ คงพอจะทราบดีว่า หากต้องการให้กิจการของตัวเองเป็นที่น่าเชื่อถือ และมีการจัดการที่เป็นระบบ สามารถที่จะเติบโตต่อไปได้ในอนาคตนั้น จะต้องนำธุรกิจของตัวเองไปจดทะเบียนนิติบุคคล และดำเนินการจัดการนิติบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะว่าไปแล้ว กฎหมายได้เข้ามาช่วยในเรื่องการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามสิทธิและหน้าที่ของแต่ละคน หากได้ดำเนินการไปตามกฎหมายแล้ว โอกาสที่จะมีปัญหายุ่งยากตามมาภายหลังมีน้อยเต็มที
เรื่องแรกที่คุณสนธยาพูดให้ฟังคือ การจดทะเบียนเป็นบริษัท จำกัด เมื่อจดทะเบียนแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคืออะไร อันดับแรก ต้องทำใบหุ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ว่า ให้บริษัททำใบหุ้น คือใบสำคัญสำหรับหุ้นใบหนึ่งหรือหลายใบ มอบให้เป็นคู่มือแก่ผู้ถือหุ้นทุกคน และเมื่อมอบใบหุ้นนั้น จะเรียกค่าธรรมเนียมก็ได้ สุดแต่กรรมการจะกำหนด แต่ไม่ให้เกิน 10 บาท
นอกจากนี้ ในใบหุ้นทุกๆ ใบ กรรมการต้องลงลายมือชื่อเองคนหนึ่งเป็นอย่างน้อย และประทับตราของบริษัทเป็นสำคัญ
ส่วนรายละเอียดในใบหุ้นนั้น ต้องมีข้อความ ต่อไปนี้คือ
1. ชื่อบริษัท
2. เลขหมายหุ้นที่กล่าวถึงในใบหุ้นนั้น
3. มูลค่าหุ้นหนึ่งเป็นเงินเท่าใด
4. ถ้าและเป็นหุ้นที่ยังไม่ได้ใช้เงินจนครบมูลค่าหุ้น ให้จดลงว่าได้ใช้เงินค่าหุ้นแล้ว หุ้นละเท่าใด
5. ชื่อผู้ถือหุ้น หรือคำแถลงว่า ได้ออกใบหุ้นนั้นให้แก่ผู้ถือ
มูลค่าหุ้น
สำหรับมูลค่าของหุ้นนั้น กฎหมายว่าด้วยบริษัท จำกัด กำหนดว่า มูลค่าหุ้นๆ หนึ่งนั้น ต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 บาท ส่วนของบริษัท มหาชน จำกัด มิได้กำหนดมูลค่าหุ้นไว้ แต่ให้คำนวณเป็นเงินได้ ดังนั้นจะเห็นว่าบางบริษัทมีมูลค่าหุ้น 1 สตางค์ ซึ่งเป็นหน่วยเงินบาท ที่เล็กที่สุด
นอกจากนี้ หุ้นที่ยังชำระไม่หมด ในใบหุ้นที่ต้องให้ระบุว่า ใช้เงินค่าหุ้นแล้ว หุ้นละเท่าใด เนื่องจากกฎหมายบังคับว่า บริษัทเรียกเงินค่าหุ้นได้ต่ำที่สุด คือ 25 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าหุ้น ซึ่งจะไปเกี่ยวโยงถึงความรับผิดของผู้ถือหุ้นคือ รับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ ความรับผิดนี้ ได้แก่ หนี้สินที่บริษัทอาจจะไปก่อไว้กับบุคคลภายนอกนั่นเอง
การโอนหุ้น
สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
เมื่อมีใบหุ้นแล้ว หุ้นนี้อาจจะโอนต่อกันไปได้ ซึ่งการโอนหุ้นนั้น กฎหมายก็เข้ามาควบคุมอีกว่า หุ้นย่อมโอนกันได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมของบริษัท เว้นแต่ เป็นหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้นนั้น ซึ่งมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อลงในใบหุ้น ต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยรับรองลายมือชื่อนั้น และต้องระบุเลขหมายของหุ้นที่โอนกันด้วย
วิทยากรแนะนำว่า ไม่ควรซื้อหุ้นชนิดผู้ถือ เนื่องจากหุ้นชนิดนี้ออกมาเพื่อความสะดวกในการโอนคือ แค่ส่งมอบ แต่จะไม่ทราบว่า บริษัททำอะไร อย่างไร เพราะบริษัทก็ไม่รู้ว่าใครถือหุ้นบ้างนั่นเอง ดังนั้นบริษัทจะไม่รับทราบเลยว่า ได้โอนกันไปอย่างไร
หุ้น มีการขายหุ้นแล้ว บริษัทต้องจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นออกมาด้วย ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดดังนี้
ชื่อและสำนัก กับอาชีวะ (ถ้ามี) ของผู้ถือหุ้น
จำนวนเงินที่ได้ใช้แล้ว หรือที่ตกลงกันให้ถือว่าได้ใช้แล้วในหุ้นของผู้ถือหุ้น
วัน เดือน ปี ซึ่งได้ลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้น
วัน เดือน ปี ซึ่งบุคคลใดขาดจากการเป็นผู้ถือหุ้น
เลขหมายใบหุ้น (เลขหุ้น) และวันที่ลงในใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ
เลขหมายใบหุ้น และวันที่ลงในใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ และเลขหมายของหุ้นซึ่งได้ลงไว้ในใบหุ้นนั้นๆ
วันที่ได้ขีดฆ่าใบหุ้นชนิดระบุชื่อ หรือชนิดออกให้แก่ผู้ถือ
สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ต้องเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานของบริษัท
"การทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น จะมีชื่อ ที่อยู่ของผู้ถือหุ้น เพื่อให้ทางบริษัทติดต่อกับผู้ถือหุ้นได้ เช่นส่งหนังสือเชิญประชุม เรียกให้มารับเงินปันผล และยังต้องลงรายการจำนวนเงินที่ได้ใช้แล้ว สำหรับมูลค่าหุ้นที่ถือไว้ เป็นต้น เหล่านี้จะต้องทำไว้เป็นหลักฐานทั้งหมด ผมเห็นมาเยอะแล้ว ตอนเริ่มต้นก็ยังดีๆ กันอยู่ ระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน แต่วันไหนเริ่มจะมีเงิน ธุรกิจรุ่งเรือง ความสัมพันธ์เริ่มมีปัญหาแล้ว ดังนั้น การทำอะไรที่ชัดเจนไว้จะดีที่สุด" นี่เป็นคำแนะนำจากภาคปฏิบัติของวิทยากร ที่เห็นปัญหาในเรื่องเหล่านี้มามากมาย และต่ออีกว่า
"สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น" ควรจะใช้หนึ่งหน้าสำหรับผู้ถือหุ้นหนึ่งคน เนื่องจากอาจจะมีรายการแก้ไขเพิ่มเติม ย้ายที่อยู่ เพิ่มทุน จะได้เป็นรายละเอียดสำหรับผู้ถือนั้นๆ ไปเลย และที่มองข้ามกันไปคือ สมุดทะเบียน ควรเก็บรักษาไว้ที่บริษัท เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่า ผู้ประกอบการบางคน เก็บไว้ที่สำนักงานกฎหมาย ถึงเวลาเจ้าหน้าที่ไปขอตรวจดู ก็หาไม่พบบ้าง อะไรบ้าง
ห้ามบริษัท
รับจำนำหุ้นตนเอง
ข้อสำคัญประการหนึ่งสำหรับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ บริษัท จำกัด คือ ห้ามมิให้บริษัทจำกัด เป็นเจ้าของถือหุ้นของตนเอง และรับจำนำหุ้นของตนเอง นั่นหมายความว่า บริษัทจำกัด มีสภาพเป็นนิติบุคคล นั้นคือเป็นบุคคลทางกฎหมาย มีความสามารถในการทำนิติกรรมต่างๆ โดยผ่านผู้แทนบริษัทภายใต้กรอบวัตถุประสงค์การจัดตั้งบริษัท และข้อห้ามนี้ก็คือ มิให้ บริษัทจำกัด ถือหุ้นไว้ในนามบริษัทเอง และผู้ถือหุ้นรายใดเป็นหนี้บริษัท หรือกู้เงินบริษัทไป โดยเอาหุ้นมาจำนำไว้กับบริษัท มิได้
บริษัทที่จดทะเบียนแล้ว หากต้องการแก้ไขเพิ่มเติม เช่น เปลี่ยนแปลงเงินทุน กรรมการ ผู้ถือหุ้น วัตถุประสงค์ ที่ตั้งบริษัท เหล่านี้ ทำการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งสิ้น ยกเว้นเรื่องเดียวคือ ตัวผู้เริ่มก่อการ 7 คน ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว
คุณสนธยา ว่า กฎหมายกำลังแก้ไขว่า ต่อไป เข้าชื่อรวมกัน 3 คนก็สามารถจดทะเบียนตั้งบริษัทได้แล้ว แต่ทั้งนี้ ต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งในระหว่างนี้ ก็คงต้องใช้จำนวนคน 7 คนไปก่อน แต่ทั้งนี้ เขาว่า การจะหาคน 7 คนก็ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าสมมติว่า ใช้ตัวผู้ประกอบการ 1 คน คู่สมรส 1 คน พ่อแม่ตัวเอง 2 คน พ่อแม่คู่สมรส 2 คน และบุตรอายุเกิน 12 ปี อีก 1 คน ก็ครบแล้ว 7 คน
ห้ามมิให้ตั้งข้อบังคับขึ้นใหม่ หรือเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ หรือข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิแต่อย่างหนึ่งอย่างใด เว้นแต่จะได้มีการลงมติพิเศษข้อบังคับอันได้ตั้งขึ้นใหม่ หรือได้เพิ่มเติมเปลี่ยนแปลง
บริษัทต้องไปจดทะเบียนภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่ได้ลงมติพิเศษ
ซึ่งในส่วนหนังสือบริคณห์สนธินั้น ต้องมีรายการดังนี้
1. ชื่อบริษัท และต้องมีคำว่า จำกัด ไว้ปลายชื่อเสมอ
2. ที่สำนักงานของบริษัท
3. วัตถุประสงค์ทั้งหลายของบริษัท
4. ถ้อยคำที่แสดงว่าความรับผิดของผู้ถือหุ้นจะมีจำกัด
5. จำนวนทุนเรือนหุ้น ซึ่งบริษัทคิดจะจดทะเบียน แบ่งออกเป็นหุ้นมีมูลค่ากำหนดหุ้นละเท่าไร
6. ชื่อ สำนัก อาชีวะ และลายมือ ของบรรดาผู้เริ่มก่อการ ทั้งจำนวนหุ้นซึ่งต่างคนต่างเข้าชื่อซื้อไว้คนละเท่าใด
เหล่านี้คือรายละเอียดที่จะต้องมีอยู่ในหนังสือบริคณห์สนธิ ซึ่งหากต้องการเปลี่ยนแปลงรายการใดรายการหนึ่ง จะต้องมีการลงมติพิเศษระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน และต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการภายใน 14 วัน นับแต่วันลงมติพิเศษ
เรื่องสำคัญ
ต้องลงมติพิเศษ
การลงมติใดๆ ในระหว่างผู้ถือหุ้น จะมีมติธรรมดาซึ่งเป็นการทำในเรื่องทั่วๆ ไป และมติพิเศษ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งการลงมติทั้งสองประการนี้มีวิธีการที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ ในกฎหมายจะกำหนดไว้ว่า เรื่องใดบ้างที่ต้องลงมติพิเศษ เรื่องนั้นก็ต้องลงมติพิเศษ หากไม่ดำเนินการตาม จะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งจะทำให้ผลการลงมตินั้นเสียไป ดังที่กฎหมายกำหนดว่าเมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้วให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่ อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ลงมตินั้น
กิจการที่ต้องลงมติธรรมดา
1. การตั้งกรรมการใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงกรรมการ
2. การอนุมัติงบดุล
3. การจ่ายเงินปันผล
4. การตั้งผู้สอบบัญชี
ส่วนกิจการที่ต้องลงมติพิเศษ ได้แก่
1. การตั้งข้อบังคับใหม่ หรือเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ
2. การแก้ไขข้อความในหนังสือบริคณห์สนธิ
3. การเพิ่มทุนและลดทุน
4. การเลิกบริษัท
5. การควบบริษัท
การลงมติพิเศษ มีขั้นตอนตามกฎหมายดังนี้
ถ้าที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติอันใดเป็นลำดับสองครั้งประชุมแล้ว มติอันนั้นถือว่าเป็นมติพิเศษ เมื่อได้ทำให้เป็นไปโดยวิธีดังนี้
ข้อความที่นำเสนอให้ลงมตินั้น ได้จดลงในคำบอกกล่าวนัดประชุมใหญ่ในครั้งแรก
ที่ประชุมครั้งแรกได้ลงมติโดยเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมด
การประชุมใหญ่ครั้งหลังนั้น ได้นัดเรียกและได้ประชุมกันในเวลาไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน และไม่มากกว่าหกสัปดาห์ภายหลังการประชุมครั้งแรก
ข้อความที่นำเสนอให้ลงมตินั้น ได้จดลงในคำบอกกล่าวนัดประชุมครั้งหลัง
ที่ประชุมครั้งหลังได้ลงมติยืนตามมติของที่ประชุมครั้งแรก โดยคะแนนเสียงข้างมากนับได้ไม่น้อยกว่าสองในสามส่วนของจำนวนเสียงทั้งหมด
การประชุมผู้ถือหุ้น
ต้องทำตามกฎหมาย
การประชุมผู้ถือหุ้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และควรทราบ กฎหมายบังคับว่า ให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทั่วไปเป็นประชุมใหญ่ ภายในหกเดือนนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนบริษัท ต่อจากนั้นให้มีการประชุม ครั้งหนึ่งเป็นอย่างน้อยทุกระยะเวลาสิบสองเดือน การประชุมเช่นนี้ เรียกว่า ประชุมสามัญ
การประชุมใหญ่คราวอื่นบรรดามี นอกจากนี้ เรียกว่า ประชุมวิสามัญ
ซึ่งจะต้องมีการบอกกล่าวเรียกประชุมทุกครั้ง ดังที่กฎหมายกำหนดว่า
คำบอกกล่าวเรียกประชุมใหญ่ทุกคราว ให้ลงพิมพ์โฆษณาอย่างน้อยสองคราวในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ฉบับหนึ่ง ก่อนวันนัดประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน หรือส่งทางไปรษณีย์ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนบรรดามีชื่อในทะเบียนของบริษัทก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน และให้ระบุสถานที่ วัน เวลา และสภาพแห่งกิจการที่จะได้ประชุมกันนั้นด้วย
และจะต้องมีองค์ประชุมดังนี้
ในการประชุมใหญ่ ถ้าไม่มีผู้ถือหุ้นมาเข้าประชุมรวมกันแทนหุ้นได้ถึงจำนวนหนึ่งในสี่แห่งทุนของบริษัทเป็นอย่างน้อยแล้ว ที่ประชุมจะปรึกษากิจการอันใดหาได้ไม่
สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด และ
บริษัทมหาชนจำกัด หากได้ประกอบกิจการดังต่อไปนี้ จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย คือ
1. การขายหรือให้เช่า แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
2. การขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
3. การซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
4. การให้บริการอินเตอร์เน็ต
5. การให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
6. การบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
7. การผลิต รับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
8. การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเตอร์เน็ต
9. การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
10. การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
11. การให้บริการตู้เพลง
12. โรงงานแปรสภาพแกะสลักและการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
สำหรับสถานที่ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์
กรณีห้างหุ้นส่วนบริษัทมีสำนักงานแห่งใหญ่ ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่
1. ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง ชั้น 9 อาคารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
2. สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 1 ชั้น 14 อาคารธนาลงกรณ์ ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน
3. สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 2 สี่แยกประดิพัทธ์ ถนนพระราม 6 เขตพญาไท
4. สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 3 (5 และ 7) อาคารปรีชาคอมเพล็กซ์ซี ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง
5. สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 4 อาคาร ชั้น 8 ถนนสุริวงศ์ เขตบางรัก
6. อาคารโมเดิร์นฟอร์มทาวเวอร์ ชั้น 16 ถนนศรีนครินทร์ เขตสวนหลวง
หากเป็นกรณีอยู่ต่างจังหวัด ไปยื่นจดได้ที่สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ในแต่ละจังหวัด
ศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เว็บไซต์กรม www.dbd.go.th
การขอรับบริการ
ท่านสามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาด้วยตนเอง ณ ชั้น 3 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
สอบถามทางโทรศัพท์ Call Center (02) 547-5050 หรือโทร.1570
ตั้งกระทู้ถามผ่านทางเว็บไซต์ของกรม www.dbd.go.th
การให้บริการ
1. ด้านการจดทะเบียนธุรกิจ
ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ การจดทะเบียนนิติบุคคล เช่น การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด, บริษัทจำกัด ติดต่อ : สำนักทะเบียนธุรกิจ ชั้น 9, 10 หรือโทร. (02) 547-5995, (02) 547-5996, (02) 547-5050 ต่อ 3548, 3067
2. ด้านบัญชีธุรกิจ
ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ การจัดทำบัญชีและงบการเงิน มาตรฐานการบัญชี ติดต่อ : สำนักกำกับดูแลธุรกิจ ชั้น 13, 14 หรือโทร. (02) 547-4406, (02) 547-4942, (02) 547-5050 ต่อ 3064
สอบถามหลักเกณฑ์การจัดหลักสูตรอบรมผู้ทำบัญชี ติดต่อ : งานศึกษาและเทคโนโลยี กลุ่มงานธรรมาภิบาล 3 โทร. (02) 547-4405, (02) 547-5050 ต่อ 3842
สอบถามเรื่องผู้ทำบัญชี การนับชั่วโมงผู้ทำบัญชี ติดต่อ : งานกำกับผู้ทำบัญชี โทร. (02) 547-4395, (02) 547-5977, (02) 547-5050 ต่อ 3852
3. ด้านส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ
ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ แนวทางในการพัฒนาผู้ประกอบการและสถาบันการค้า ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจบริการ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาความรู้ในการประกอบธุรกิจ โทร. (02) 547-5980, (02) 547-5050 ต่อ 3009
4. ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจดทะเบียนพาณิชย์-อิเล็กทรอนิกส์ โทร. (02) 547-5998, (02) 547-5050 ต่อ 3081
ที่มา : คอลัมน์ เสริมไอเดีย