เสริมเขี้ยว SMEs : “งบการเงิน” ง่ายนิดเดียว

เสริมเขี้ยว SMEs : “งบการเงิน” ง่ายนิดเดียว

 คำว่า งบการเงิน ชาวเอสเอ็มอี คงได้ยินกันบ่อยว่าจะต้องยื่นงบการเงินภายในวันนั้นวันนี้ตามที่สำนักงานบัญชีที่รักบอกมา รอเวลาให้เขาเอามาให้เราเซ็นชื่อว่าเป็นเจ้าของงบการเงินเมื่อไรก็เมื่อนั้น รู้ตัวอีกที่สรรพากรก็ส่งหนังสือมาขอพบกันแล้ว เนื่องจากว่างบการเงินดูแล้วผิดปกติ  ก็จะไม่ผิดปกติได้อย่างไร ในเมื่อเจ้าของกิจการยังไม่รู้เลยว่าเซ็นรับรองอะไรไปบ้าง

อย่าเพิ่งร้องยี้... เพราะการทำความรู้จักกับงบการเงินนั้นไม่ยากอย่างที่คิด เราลองมาค่อย ๆ เรียนรู้กันแต่ก่อนอื่น อยากให้เพื่อนๆ เอสเอ็มอี ลืมภาพตัวเลขมึนๆ ไปซะ แล้วมาดูที่มาที่ไปของงบการเงินกันก่อน

              การลงบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปนั้น จะประกอบด้วยรายการหลัก 5 หมวดด้วยกัน นั่นคือ 1 สินทรัพย์ 2 หนี้สิน 3 ทุน 4 รายได้ และ 5 ค่าใช้จ่าย ซึ่งการออกงบการเงินนั้นจะต้องใช้ตัวเลขทั้ง 5 หมวดนี้แหละมาสร้างความสัมพันธ์กันเพื่อแสดงให้เห็นเป็นรูปแบบที่สะท้อนผลของการทำธุรกิจของกิจการ ลักษณะของงบต่าง ๆ จะเป็นดังนี้

 

งบดุล 

       งบดุล คือ งบที่แสดงฐานะการเงินหรือความมั่งคั่งของกิจการ ณ วันใดวันหนึ่ง ให้สังเกตตรงส่วนหัวงบ เช่น งบดุล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้น งบดุลเป็นความสัมพันธ์ของรายการ 3 หมวดแรก คือ สินทรัพย์ หนี้สิน และทุน ซึ่งสินทรัพย์จะเป็นตัวบอกว่าเรามีทรัพย์สินอะไรที่เราเป็นเจ้าของอยู่บ้าง ณ วันนั้น ส่วนหนี้สิน และ ทุนนั้นจะเป็นตัวบอกว่าเราได้สินทรัพย์มาจากทางใดบ้าง เช่น ถ้าเรามีหนี้สินมากก็แสดงว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่มาจากเจ้าหนี้ ....ระวังดอกเบี้ยบานนะจ๊ะ....แต่ถ้าเรามีส่วนทุนมากก็แสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์

ส่วนใหญ่ได้มาจากเจ้าของเอง ..... อันนี้สมเหตุสมผลดีนะ.... เป็นที่มาของสมการบัญชีที่เราคุ้นเคยกันดีว่า

 

สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน       

              ทางด้านสินทรัพย์ ตามแบบรายการย่องบดุลนั้น แบ่งเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนและสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ชื่อเรียกก็บอกความหมายอยู่แล้วว่า สินทรัพย์หมุนเวียนก็คือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง จะหมุนไปเรื่อย ๆ ภายใน 1 ปี ส่วนสินทรัพย์ที่ไม่หมุนเวียน จะนิ่งๆ ไม่หมุนเวียนภายใน 1 ปีและรายการในแต่ละหมวดก็จะเรียงกันไปตามสภาพคล่องนั่นเอง จึงสังเกตได้ว่ารายการสินทรัพย์ ต้องขึ้นต้นด้วยรายการเงินสดและเงินฝากสถาบันการเงินเสมอ

ทางด้านหนี้สินก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือมีหนี้สินหมุนเวียนและหนี้สินไม่หมุนเวียน สำหรับส่วนทุนนั้น ชื่อเรียกและการระดมทุนจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของธุรกิจ แต่หลัก ๆ แล้ว ก็จะประกอบด้วย ทุน และ กำไร(ขาดทุน) สะสม

       
       งบกำไรขาดทุน

งบกำไรขาดทุน คือ งบที่แสดงผลการดำเนินงาน สำหรับงวดบัญชีใดงวดบัญชีหนึ่ง สังเกตได้ที่ส่วนหัวงบเช่นกัน เช่น งบกำไรขาดทุน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 โดยงบกำไรขาดทุนนี้ จะเป็นความสัมพันธ์ของรายการ 2 หมวดสุดท้าย คือ รายได้ หัก ด้วยค่าใช้จ่าย ผลต่างจะเป็นกำไรหรือขาดทุนสุทธินั่นเอง ตัวรายได้จะประกอบด้วยรายได้หลัก และ รายได้อื่น ๆ ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นจะแบ่งเป็น ต้นทุนขาย และ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (บางงบอาจแยกค่าใช้จ่ายอื่น ที่ไม่สามารถแสดงรวมกันออกมาก็ได้) ผลกำไรขาดทุนสุทธิที่ได้ จะถูกนำไปรวมเป็นกำไร(ขาดทุน)สะสม ในส่วนทุนของงบดุล หรือ พูดง่าย ๆ ก็คือ กำไรขาดทุนสุทธิเกิดจากผลการดำเนินงานในงวดบัญชีนี้ แต่กำไร(ขาดทุน)สะสมเป็นผลการดำเนินงานสะสมตั้งแต่เริ่มตั้งกิจการจนถึง ณ ปัจจุบัน

       
       งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น 

งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้นนั่น จะแสดงที่มาที่ไปของทุนที่เคลื่อนไหวในงวดนั้น ๆ แถวแนวตั้งจะประกอบด้วย ทุนเรือนหุ้น ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงด้วย การเพิ่มทุน ลดทุน เป็นต้น ถัดไปจะเป็นช่องกำไร(ขาดทุน)สะสม ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงด้วย กำไร หรือ ขาดทุนของงวดบัญชี หรือ การจ่ายเงินปันผล เป็นต้น และช่องสุดท้ายจะเป็น ช่องรวม โดยยอดรวมของแต่ละช่องที่ได้จะเท่ากับส่วนทุนที่แสดงในงบดุลนั่นเอง

       
       หมายเหตุประกอบงบการเงิน

หมายเหตุประกอบงบการเงินเป็นรายละเอียดประกอบที่ต้องการเปิดเผยให้ผู้ใช้งบการเงินได้ทราบ ซึ่งไม่สามารถแสดงให้เห็นกันเป็นตัวเลขได้หรือไม่สามารถแสดงรายการได้ละเอียดพอในงบดุลก็สามารถแสดงได้ในที่นี้ หลัก ๆ แล้วมักเป็นหัวข้อ ข้อมูลทั่วไป นโยบายบัญชี รายละเอียดและการคำนวณประกอบงบการเงินที่จำเป็น และการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นตามมาตรฐานบัญชีที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ เป็นแนวทางในการอ่านงบการเงินคร่าว ๆ เพื่อไม่ให้งบการเงินดูมีแต่ตัวเลขลายตากันจนเกินไป ทั้งยังมีความหมายที่น่าค้นหาให้พี่ ๆ เอสเอ็มอีทั้งหลาย ได้ศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป       

 

บทความโดย : ดุลวรรณ์ สกุลดี  จาก  ผู้จัดการออนไลน์

 982
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores