ถูกหวยต้องเสียภาษีไหม ?

ถูกหวยต้องเสียภาษีไหม ?




การถูกหวย หรือได้รางวัลก้อนโตจากการเสี่ยงโชค คงเป็นสิ่งที่หลายคนฝันถึง แต่รู้ไหมว่า รางวัลที่เราได้รับจากการเสี่ยงดวงนั้น ใช่ว่าจะได้มาฟรี ๆ ซะเมื่อไหร่ เพราะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมาด้วย อย่างที่เคยเห็นในข่าวอยู่บ่อย ๆ ที่คนถูกหวย ถูกรางวัลเป็นหลักล้าน หลักสิบล้าน กลับต้องมาโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังจำนวนมาก จนความโชคดี กลายเป็นความโชคร้ายไปซะอย่างนั้น

ถูกหวย-รางวัลชิงโชค ต้องเสียภาษีไหม ?
การถูกลอตเตอรี่ หรือได้รางวัลชิงโชคต่าง ๆ ทั้งการส่งรหัสใต้ฝาชิงโชค หรือตอบคำถามร่วมสนุกในรายการทีวี หนังสือพิมพ์ รางวัลที่ได้รับล้วนต้องถูกเก็บภาษีทั้งนั้น โดยรางวัลแต่ละประเภท จะถูกเก็บภาษีในรูปแบบและอัตราที่แตกต่างกัน ส่วนจะโดนเก็บภาษียังไงบ้างนั้น ตามมาดูกัน    

ถูกหวย-รางวัลชิงโชค ต้องเสียภาษีประเภทไหน อย่างไรบ้าง ?
สามารถแบ่งประเภทของรางวัลออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล และรางวัลชิงโชคอื่น ๆ โดยมีรูปแบบการเก็บภาษี ดังนี้

1. สลากกินแบ่งรัฐบาล
หากถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล ผู้ถูกรางวัลจะโดนหักค่าอากรแสตมป์ หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย ทันทีที่ไปขึ้นเงินในอัตรา 0.5% ของเงินรางวัล หากเป็นสลากแบบธรรมดา แต่ถ้าเป็นสลากการกุศลชุดพิเศษ จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย อัตรา 1% โดยทั้ง 2 แบบจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้ไม่ต้องนำเงินรางวัลไปยื่นภาษีประจำปีอีก


2. เงินรางวัลชิงโชคอื่น ๆ
แต่หากเป็นเงินรางวัลจากการชิงโชคอื่น  ๆ เช่น ส่งรหัสใต้ฝา ทายบอลผลโลก ตอบคำถามร่วมสนุก เป็นต้น จะโดนเก็บทั้งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 5%

รวมต้องนำมูลค่าเงินรางวัลไปรวมกับเงินได้ เพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีอีกด้วย เพราะถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภท 8 แห่งประมวลรัษฎากร หรือมาตรา 40 (8)
วิธีคำนวณภาษีเมื่อถูกรางวัล

1. สลากกินแบ่งรัฐบาล
สามารถคำนวณได้ง่าย ๆ คือ สมมติเราถูกรางวัลลอตเตอรี่ 60 ล้านบาท ก็จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 0.5% หรือคิดเป็น 300,000 บาท
ดังนั้น สรุปแล้วก็จะได้เงินรางวัลสุทธิอยู่ที่ 59.70 ล้านบาท โดยไม่ต้องนำเงินจำนวนนี้ไปคิดภาษีเงินได้ประจำปี

2. เงินรางวัลชิงโชคอื่น ๆ
อย่างที่บอกไปคือจะโดนหักภาษี 2 ต่อ โดยต่อแรกเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย 5% เช่น ส่งรหัสใต้ฝาชิงโชค ได้รับรางวัลเป็นเงินสด 10 ล้านบาท ก็จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย ในวันแรกที่ไปรับรางวัลเป็นจำนวน 500,000 บาท 
หลังจากนั้น ถึงนำมูลค่าเงินรางวัลที่ได้รับ 10 ล้านบาท ไปรวมกับเงินได้อื่น ๆ ของเรา เพื่อนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ซึ่งจะโดนเก็บแบบอัตราเป็นขั้นบันได ตั้งแต่ 5% จนถึง 35% ขึ้นอยู่กับรายได้สุทธิของเราตามนี้

ทั้งนี้ หากเป็นกรณีที่มูลค่าเงินรางวัล รวมกับเงินได้สุทธิอื่น ๆ ไม่ถึง 150,000 บาท คือ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าเป็นแบบนี้ เราสามารถยื่นภาษีเพื่อขอคืนภาษีส่วนที่โดนหัก ณ ที่จ่าย 5% ได้ 

เช่น เป็นนักเรียนที่ไม่มีรายได้ส่วนอื่นเลย ถูกรางวัลชิงโชคได้รับเงินสด 50,000 บาท ทำให้โดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% จำนวน 2,500 บาท แต่เมื่อถึงปลายปี พอคำนวณเงินได้สุทธิแล้ว เด็กนักเรียนคนนี้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็จะสามารถยื่นภาษี เพื่อทำเรื่องขอคืนเงินจำนวน 2,500 บาท ที่เคยจ่ายไปได้ด้วย


ถูกรางวัล สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ไหม ?
เงินรางวัลจากการชิงโชค 
ที่ไม่ใช่สลากกินแบ่งฯ จะต้องนำมาเงินภาษีเงินได้ประจำปีด้วย เพราะถูกจัดเป็นเงินได้พึงประเมิน ประเภท 8 โดยสรรพากรอนุญาตให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเท่านั้น ไม่สามารถหักแบบเหมาจ่ายได้ รวมทั้งไม่สามารถนำค่าลดหย่อนส่วนตัวอื่น ๆ มาหักได้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่น นาย A ส่งชิ้นส่วนในหนังสือพิมพ์ เพื่อชิงโชคทายผลฟุตบอล แล้วได้รับเงินรางวัลมูลค่า 10,000 บาท หากนาย A ต้องการหักค่าใช้จ่ายก่อนนำไปคำนวณภาษี จะต้องนำหลักฐานค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงมาแสดง เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าหนังสือพิมพ์ หรือใบเสร็จรับเงินค่าส่งไปรษณียบัตร เป็นต้น

ไม่ยื่นภาษีเมื่อถูกรางวัล มีความผิดหรือเปล่า ?
ขอบอกไว้เลยว่าการเลี่ยงยื่นภาษีเงินรางวัลนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก และมีโอกาสถูกกรมสรรพากรตรวจสอบพบได้ง่าย ๆ เพราะผู้จัดชิงโชคต้องนำส่งข้อมูลภาษีให้กับกรมสรรพากรรับทราบอยู่แล้ว ดังนั้น จึงควรยื่นภาษีให้ถูกต้องตั้งแต่แรกจะได้ไม่มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เพราะหาก

พบการหลีกเลี่ยงภาษี จะมีความผิดและบทลงโทษทางกฎหมาย ดังนี้
          1. กรณีไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในเวลาที่กำหนด ต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันชำระภาษี และมีโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
          2. กรณียื่นเสียภาษีไม่ครบจำนวน จะต้องเสียค่าปรับ 1-2 เท่าของจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมด
          3. เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อหนีภาษี จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
          4. จงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จเพื่อหนีภาษี จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท


      สรุป แล้วจะพบว่าภาษีเงินรางวัลจะโดนเก็บอยู่ 2 ส่วน คือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่จะเก็บ 0.5% สำหรับสลากกินแบ่งฯ ธรรมดา และ 1% สำหรับสลากการกุศล ส่วนถ้าเป็นเงินรางวัลอื่น ๆ ก็จะโดนเยอะหน่อยที่ 5% และยังต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้ประจำปีด้วย รู้แบบนี้แล้ว ใครที่แต้มบุญสูง ถูกรางวัลจากการชิงโชค ก็อย่าลืมไปจัดการเรื่องภาษีให้เรียบร้อยด้วยนะ ไม่อย่างนั้นอาจต้องนอนก่ายหน้าผากหากถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเมื่อใช้เงินหมดกระเป๋าไปแล้วก็เป็นได้


บทความโดย : kapook


 2942
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores