อะไรคือ สินทรัพย์ดิจิทัล?

อะไรคือ สินทรัพย์ดิจิทัล?






ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กระแสการลงทุนใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset)ได้รับความนิยมและมีผู้ที่สนใจเข้าไปลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะมีความเชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูง ในเวลาอันรวดเร็ว แต่เนื่องจากเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนเรื่องใหม่ ทำให้ต้องทำความเข้าใจให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน



ที่ผ่านมา นักลงทุนยังเข้าใจว่าสินทรัพย์ดิจิทัล คือ เงินตราดิจิทัล หรือที่รู้จักกันดีว่า Cryptocurrency (คริปโทเคอร์เรนซี) แต่ความจริงแล้วสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เงินตราดิจิทัลเท่านั้น ยังหมายรวมถึงเหรียญดิจิทัล (Cryptotoken) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า โทเคนดิจิทัล (Digital Token) รวมถึงสินทรัพย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลอื่นๆ



สำหรับ สินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมี 2 ประเภท ได้แก่



1. คริปโทเคอร์เรนซี เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นหรือสิทธิอื่นใด โดยสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้หากผู้ใช้ยอมรับ ปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซียังไม่ใช่เงินที่ธนาคารกลางใดในโลกรับรองว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) โดยคริปโทเคอร์เรนซีที่คนไทยคุ้นเคยกันดี ได้แก่ บิทคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอร์เลียม (Ethereum) ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินดิจิทัลทั้ง 2 ได้รับความนิยม เพราะว่านักลงทุนสามารถใช้เงินลงทุนจำนวนน้อย มีระบบ ขั้นตอนการซื้อขายที่เข้าใจง่ายขณะเดียวกันร้านค้าบางร้านยอมรับให้สามารถนำมาซื้อสินค้าแทนเงินสดได้



2. โทเคนดิจิทัล คือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (Investment Token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการหรือสิทธิอื่นๆ (Utility Token) ตามที่ได้ตกลงกับผู้ออกโทเคน ซึ่งอาจเสนอขายโทเคนผ่านกระบวนการ Initial Coin Offering (ICO)



การระดมทุนแบบ ICO เป็นการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย โดยบริษัทจะเสนอและกำหนดขายโทเคนที่กำหนดสิทธิหรือผลประโยชน์ต่างๆ ของนักลงทุน เช่น ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการหรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจงและกำหนดให้นักลงทุนที่ต้องการจะร่วมลงทุนสามารถเข้าร่วมได้ โดยการนำคริปโทเคอร์เรนซีหรือเงิน มาแลกโทเคนที่บริษัทออก โดยมีการกำหนดและบังคับสิทธิที่จะได้รับด้วย Smart Contract (สัญญาอัจฉริยะ) บนเทคโนโลยีบล็อกเชน



ICO อาจไม่ใช่หุ้นและไม่ใช่หนี้ ถึงแม้ ICO จะมีชื่อคล้ายกับการออกและเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (Initial Public Offering : IPO) แต่อาจมีสาระสำคัญที่แตกต่างกันมาก โดยผู้ถือโทเคนจากการลงทุนใน ICO อาจไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทเหมือนผู้ถือหุ้น IPO และอาจไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท อาจไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของบริษัท กรณีเลิกกิจการหรือล้มละลาย แต่ผู้ถือโทเคนจะมีสิทธิตามที่ระบุในเอกสารประกอบการเสนอขาย (White Paper)



(ที่มา : สำนักงาน ก.ล.ต.)




สนใจลงทุน ต้องทำอย่างไร



ในช่วงที่กระแสการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมาแรง ทำให้มีผู้ที่สนใจระดมทุนด้วยการออก ICO และเริ่มมีการชักชวนให้ประชาชนลงทุนใน ICO และคริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทยและเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง หากไม่เข้าใจอย่างแท้จริงอาจสร้างความเสียหายได้


ด้วยเหตุนี้ หากสนใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ ที่สำคัญต้องลงทุนกับศูนย์ซื้อขาย (Digital Asset Exchange), นายหน้า (Digital Asset Broker) และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. เท่านั้น (สามารถตรวจสอบรายชื่อได้จาก www.sec.or.th/mpublish/digitalasset/digitalasset.html)



หากลงทุนคริปโทเคอร์เรนซีกับบริษัทที่ได้รับอนุญาต จะมีความมั่นใจได้ว่าจะได้รับการบริการที่มีมาตรฐาน และลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกให้ลงทุน (Scam) เช่นกันหากลงทุนในโทเคนกับบริษัทที่ได้รับอนุญาต จะมีความมั่นใจได้ว่าสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ผ่านการตรวจสอบโดย ICO Portal ว่าตรงกับ White Paper และลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกได้

แต่ถ้านักลงทุนถูกชักชวนให้ไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจากบริษัทที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก สำนักงาน ก.ล.ต. หากได้รับความเสียหาย จะไม่ได้รับความคุ้มครองไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น



สำหรับวิธีการดูว่าบริษัทนั้นมีมาตรฐานหรือไม่ ควรดูว่ามีแหล่งเงินทุนเพียงพอหรือไม่ มีความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมขนาดไหน มีตัวตนจริงๆ ตรวจสอบได้ รวมถึงมีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน เป็นต้น



เมื่อตรวจสอบแล้วและพบว่ามีมาตรฐาน นักลงทุนก็ต้องเข้าไปเว็บไซต์ของบริษัทนั้นเพื่อศึกษารายละเอียด อ่านข้อมูลให้ครบถ้วน จากนั้นก็ลงทะเบียนตามขั้นตอนก่อนลงทุน และหากมีความคุ้นเคยกับการลงทุนในหุ้น จะพบว่าหน้าจอมีความคล้ายกัน เช่น รายชื่อสกุลเงินดิจิทัล ราคาซื้อขายล่าสุด จำนวนซื้อขาย ราคาสูงสุด/ต่ำสุดต่อวัน รวมถึงข้อมูลอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียม, บทวิเคราะห์ เป็นต้น




ความเสี่ยงสูง



“ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงสูง” ใช้ได้กับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นกัน และเนื่องจากเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนไทย ยิ่งต้องศึกษาหาข้อมูลให้ถี่ถ้วน ที่สำคัญต้องติดตามข่าวสารจาก สำนักงาน ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการชักชวนจากผู้ที่ไม่หวังดีให้เข้าไปซื้อขายจนอาจเกิดความเสียหายได้ ดังนั้น จึงควรดูความเสี่ยงก่อนลงทุนเป็นหลัก


1. อย่าโลภ

กรณีที่มีคนไทยถูกหลอกลวงให้เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วได้รับความเสียหายจนเกิดการฟ้องร้อง ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ เกิดจากความโลภที่ต้องการผลตอบแทนสูงๆ ในระยะเวลาอันสั้น โดยที่ไม่ศึกษาข้อมูลก่อนว่าสินทรัพย์ที่ไปลงทุนนั้น คืออะไร มีความเสี่ยงแค่ไหน ขณะเดียวกันไม่ได้ตรวจสอบว่าบริษัทได้รับอนุญาตจาก สำนักงาน ก.ล.ต. หรือไม่



2.โอกาสล้มเหลวสูง

เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ Startup ดังนั้นจึงมีโอกาสล้มเหลวสูง หากสนใจลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงเรื่องดังกล่าวด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งถือว่าไม่มีการรับประกันความสำเร็จหรือผลตอบแทน



3.ไม่มีการคุ้มครอง

ถ้าเป็นการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลกับบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยและได้รับอนุญาตจาก สำนักงาน ก.ล.ต. นักลงทุนจะได้รับความคุ้มครองในระดับหนึ่ง แต่ถ้าโอนเงินไปลงทุนต่างประเทศ จะไม่ได้รับความคุ้มครองอะไรเลย



4.ไม่มีสภาพคล่อง

เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ และนักลงทุนนิยมลงทุนกับสินทรัพย์บางประเภท ทำให้การซื้อขายไม่มีสภาพคล่องเปลี่ยนมือยาก ดังนั้นหากซื้อและต้องการขายอาจต้องใช้เวลานาน ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ราคาซื้อขายในแต่ละวันมีความผันผวนสูง เมื่อลงทุนไปแล้วก็ต้องมีเวลาในการติดตามด้วย



5.ถูก Hack

เนื่องจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องเทคโนโลยีล้วนๆ ดังนั้น จึงมีโอกาสถูกโจมตี (Hack) จากผู้ที่ไม่หวังดีตลอดเวลา ซึ่งนักลงทุนต้องเรียนรู้ถึงวิธีการป้องกันบัญชีตัวเอง รวมถึงเมื่อโดนโจมตีแล้วต้องรู้ขั้นตอนการเอาตัวรอด



ถึงแม้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่น่าสนใจ แต่ปัจจุบันยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนไทย ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุนต้องศึกษาหาความรู้ให้ละเอียดถี่ถ้วน ถ้ายังไม่มั่นใจอย่าพึ่งกระโดดเข้าไป ควรใช้วิธีการลงทุนแบบจำลอง เช่น ทดลองซื้อขายผ่านการจดลงบนสมุด เมื่อผ่านไปสักระยะให้สรุปผลลัพธ์ว่าเป็นอย่างไร เมื่อเข้าใจดีแล้วค่อยเข้าไปลงทุน ด้วยการเริ่มจากเงินลงทุนจำนวนน้อยๆ และถ้าคิดว่าเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะกับสไตล์การลงทุนของตัวเองก็ค่อยๆ ใส่เงินเพิ่มขึ้น



ที่มา : ธนาคารไทยพาณิชย์
 571
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores