5 ไฮไลต์งบการเงิน อยาก "สตรอง" ต้องรู้

5 ไฮไลต์งบการเงิน อยาก "สตรอง" ต้องรู้

          การเงินนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ ถ้าอยากรู้ว่าธุรกิจเราแข็งแรงดีหรือไม่ เราก็สามารถตรวจเช็กได้จากสถานการณ์เงินของบริษัท แต่ผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่อาจจะละเลยและให้ความสำคัญด้านการเงินน้อยกว่าด้านการตลาด เพราะคิดว่าถ้าขายของได้เดี๋ยวเงินก็จะมาเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด จริงๆ ผู้ประกอบการควรดูงบการเงินเป็น หรืออย่างน้อยใน 5 ตัวที่ต้องโฟกัสกับมัน 

1. ยอดขาย (Sales) เป็นตัวเลขที่อยู่ในงบกำไรขาดทุน ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนให้ความสำคัญกันอยู่แล้ว เพราะยอดขายหรือรายได้จากการขายคือแหล่งที่มาของเงินที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจ ใครๆ ก็ชอบที่จะมียอดขายเยอะๆ แต่ต้องพิจารณาร่วมกับลูกหนี้การค้าด้วย หากมีลูกหนี้เยอะแสดงว่าธุรกิจเน้นการขายเชื่อ ซึ่งก็มีความเสี่ยงจากการเก็บหนี้ไม่ได้ ตรงนี้ผู้ประกอบการก็ต้องระมัดระวังอย่าให้ตัวเลขยอดขายนั้นหลอกตา 

2. กำไร(ขาดทุน)ขั้นต้น (Gross Profit) เป็นตัวเลขที่อยู่ในงบกำไรขาดทุนเช่นกัน กำไรหรือขาดทุนขั้นต้นก็คือยอดขายหักด้วยต้นทุนสินค้าเพื่อขาย (Cost of Goods Sold) ซึ่งตัวเลขนี้ยังสะท้อนถึงลักษณะความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีกำไรจากการดำเนินงานที่หักค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่สะท้อนถึงประสิทธิภาพและความสามารถในการจัดการและกำไรสุทธิที่สามารถเจาะลึกถึงภาระการใช้สินเชื่อและผลตอบแทนของเจ้าของธุรกิจ

3. ลูกหนี้การค้า (Account Receivable) เป็นตัวเลขที่อยู่ในงบดุลที่อยากให้ผู้ประกอบการพิจารณา เนื่องจากลูกหนี้การค้าจะเกิดขึ้นมาได้นั้นแสดงว่าคุณต้องขายสินค้าได้ การมีลูกหนี้การค้ามาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เนื่องจากถ้าลูกหนี้ใช้เวลานานกว่าจะจ่ายเงินแปลว่าเงินในธุรกิจของคุณก็อาจจะติดขัดได้หรืออาจทำให้ภาระดอกเบี้ยสูงจนไม่เหลือกำไร   ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับระยะเวลาการจ่ายหนี้ รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย 

4. เจ้าหนี้การค้า (Account Payable) เป็นตัวเลขอีกตัวที่อยู่ในงบดุล ธุรกิจทั่วไปก็มีเจ้าหนี้การค้า ซึ่งบางคนจะเข้าใจว่าการมีเจ้าหนี้มากๆ นั้นอาจไม่ดี แต่ถ้าธุรกิจสามารถต่อรองระยะเวลาการจ่ายเงินและบริหารจัดการสภาพคล่องให้ดี ตรงนี้จะถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะคุณเอาสินค้าเขามาขายแต่ยังไม่ต้องจ่ายเงิน ข้อควรระวังก็คือ ต้องบริหารระยะเวลาจ่ายคืนเจ้าหนี้ให้สัมพันธ์กับระยะเวลาที่ลูกหนี้จะจ่ายเงินให้เราและมีวงเงินกู้หรือโอดีเพียงพอในการใช้งานในกรณีที่ยังไม่ได้รับเงินจากลูกหนี้การค้า แต่หากธุรกิจของคุณขายเงินสดตรงนี้คุณมีแต่ได้กับได้ เพียงแค่ต้องอย่าเอาเงินไปใช้ผิดประเภทแล้วหมุนกลับมาชำระหนี้ไม่ทัน

5. สินค้าในสต็อก (Inventory) เป็นตัวเลขที่อยู่ในงบดุลเช่นกัน การสต็อกสินค้าเอาไว้มากๆ นั้นไม่ดีกับธุรกิจ เพราะคุณเสียเงินหรือต้องกู้เงินมาจ่ายเพื่อให้ได้สินค้ามาเก็บไว้ เท่ากับเงินส่วนนั้นนอนจมเฉยๆ อยู่ในโกดังไม่ก่อให้เกิดรายได้ โดยไม่รู้ว่าจะขายหมดเมื่อไหร่ อีกทั้งยังต้องรับความเสี่ยงว่าสินค้าจะขายได้หรือไม่ อาจจะเพราะสินค้าตกรุ่น สินค้าหมดอายุ หรือแม้แต่เหตุการณ์ไฟไหม้ น้ำท่วม ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้สินค้าเหล่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำก็คือ การพยากรณ์ยอดขายของธุรกิจตัวเองให้ได้ เพื่อนำมาวางแผนการสต็อกสินค้าให้เหมาะสม คือมีสินค้าขายเพียงพอไม่ขาดไม่เกิน และไม่สำรองเอาไว้มากเกินไป  

     ตัวเลขมากมายที่อยู่ในงบการเงินนั้นล้วนมีความหมายในตัวของมันเอง บางตัวมีมากๆ เป็นเรื่องดี แต่บางตัวก็ไม่ใช่ ผู้ประกอบการจึงต้องระวังอย่าติดกับดักของตัวเลขเหล่านี้จนตัดสินใจบริหารผิดพลาด กระทั่งส่งผลกระทบร้ายแรงกับธุรกิจ ดังนั้นถ้าอยากให้ธุรกิจของคุณ “สตรอง” ก็ควรอ่านงบการเงินให้เป็น

บทความโดย   www.kasikornbank.com

 1396
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores