ความผิดพลาดเรื่องเงินของคน ทำธุรกิจ ที่ไม่ควรทำผิดซ้ำรอย

ความผิดพลาดเรื่องเงินของคน ทำธุรกิจ ที่ไม่ควรทำผิดซ้ำรอย

หลายคนกระโดดเข้ามา ทำธุรกิจ เพราะอยากจะมีอาชีพใหม่หรือร่ำรวยมากขึ้น แต่สุดท้ายไปไม่รอด ทั้งที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่พอมาดูกำไรแล้วต้องถามตัวเองตลอดว่าเงินหายไปไหน

 มันนี่โค้ช รวบรวมความผิดพลาดทางการเงิน ที่หลายคนมักมองข้าม เพราะมัวไปโฟกัสเรื่องการบริหารและการตลาด จนลืมไปว่าสิ่งที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้จริงๆ คือเรื่องการเงิน

 


 

1. เลือก ทำธุรกิจ ที่มาร์จินต่ำ

ให้ลองดูว่าธุรกิจกลุ่มไหนที่ส่วนต่างกำไรต่ำ กำไรบางมาก เราบริหารงานพลาดนิดหน่อยมันกินเนื้อเข้าไปแล้ว จะเริ่มสะท้อนได้ว่าเป็นกลุ่มที่ไม่น่าไปทำ ถ้าจะเริ่มธุรกิจสักอย่างให้ดูสเกลด้วย ดูว่ากลุ่มลูกค้าที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการของเรามีมากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดว่าสเกลเราใหญ่พอ มาร์จินอาจจะไม่ต้องมากก็สามารถมั่งคั่งได้ ธุรกิจที่มาร์จินสูง ถ้าเป็น Gross Margin หรือกำไรขั้นต้น 20-30% ถือว่าดีเลย เช่น ธุรกิจบริการ เป็นธุรกิจที่ตั้งราคาได้ตามความพอใจ

 ปัจจุบันมีคนทำธุรกิจหลากหลาย แต่คนส่วนใหญ่เวลาจะไปทำธุรกิจชอบมองว่าคนอื่นทำอะไร เขาทำอะไรแล้วรวยเราก็กระโดดลงไปทำตามเขา กระโดดลงไปมากๆ ก็แน่นตลาดจะทำให้เราเสียโอกาสได้ เราทำธุรกิจที่เป็นนีชก็สามารถสร้างรายได้และมั่งคั่งได้ เช่นคนที่มาปรึกษาโค้ชคนหนึ่ง เขาทำธุรกิจรับ-ส่งศพชาวต่างประเทศกลับบ้าน ปัจจุบันมีคนต่างประเทศเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเยอะ บริการนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งรับทำทั้งฌาปนกิจ พิธีกรรมทางศาสนา เดินเรื่องนำศพข้ามประเทศ เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ในขณะเดียวกันก็ทำธุรกิจรับศพคนไทยจากต่างประเทศมาเมืองไทยด้วย

 ลองตั้งโจทย์ว่าถ้าเราทำธุรกิจปีนี้ แล้วตั้งใจว่าอยากได้กำไรสัก 1 ล้านบาท คำถามคือ ถ้าเราขายสินค้าได้กำไรชิ้นละ 1 บาท เราต้องขายถึง 1 ล้านชิ้น การผลิตสินค้ามากขนาดนั้นแล้วกระจายให้คนมันไม่ง่าย แต่ถ้าปรับมาขายของกำไรชิ้นละ 10 บาท เรากระจายไปที่คนแค่หนึ่งแสน หรือถ้ากำไรชิ้นละ 1,000 บาท มันก็จะเหลือแค่ 1,000 คน เพราะฉะนั้นมันก็แตกต่างกัน

 

2. เอาเงินตัวเองไปปะปนกับเงินกิจการ

ที่เจอเยอะมากคือกลุ่มที่ขายของออนไลน์ พอขายปุ๊บ เราเริ่มๆ รีบๆ เอาบัญชีส่วนตัวที่เคยเปิดไว้ มาเป็นบัญชีที่รับออเดอร์จากลูกค้า เรื่องที่ชอบและอยากเล่าเป็นเรื่องของคนหนึ่งที่ทำธุรกิจขายของเก่า ซื้อแอร์เก่ามาแล้วแกะชิ้นส่วนมาขาย ซื้อของไม่ใช้แล้วมาแกะชิ้นส่วนแยกขาย เขาเคยมาปรึกษากับโค้ชแล้วก็เริ่มธุรกิจโดยการกู้เงิน 10 ล้านบาท ด้วยการเอาบ้านไปเข้าแล้วได้วงเงินเบิกเกินบัญชี ที่เรียก Overdraft หรือ OD แล้วก็เริ่มทำกิจการ ผ่านไป 20 กว่าปี เขาสงสัยว่าทำไมธุรกิจเขาก็ดี แต่สุดท้ายแล้วทำไมหนี้เขาเพิ่มขึ้น กำไรมีทุกเดือนโดยไม่ต้องกู้ แต่ไปๆ มาๆ เขาต้องกู้ตลอด จาก 10 เพิ่มเป็น 20 ล้าน โค้ชเลยถามว่าเคยแยกบัญชีไหม เขาบอกว่าไม่เคย เลยถามว่าปัจจุบันให้เงินเดือนตัวเองเท่าไร เขาบอกไม่ได้ให้ ก็เอาเงินจากรายได้มากินอยู่ใช้จ่าย วันนี้ขายของได้เงินมา วันนี้ต้องเอาเงินไปจ่ายตลาดก็เอาเงินก้อนนี้ไป ถ้าเราทำธุรกิจแล้วไม่รู้ว่ารายได้ของเราเท่าไร อันนี้มีปัญหา เพราะคนทำธุรกิจจะมีรายได้ 2 ส่วน ส่วนแรกคือเราตั้งเป็นเงินเดือนให้กับตัวเอง เพราะวันหนึ่งธุรกิจเราใหญ่ เราอาจจะไม่ได้อยู่บริหารธุรกิจของเราเอง เราจะได้รู้ว่าคนที่มาทำแทนเราควรจะให้เขาเท่าไร อีกอย่างการไม่กันให้ตัวเองแล้วหยิบจากตรงกลางมากิน สุดท้ายจะกลายเป็นกินต้นทุน

 โค้ชให้เขาลองแยกรายรับ-รายจ่ายธุรกิจ ปรากฏว่ากำไรเดือนละแสนกว่าบาท แต่ครอบครัวกินเดือนละ 2 แสนบาท แต่ไม่เคยรู้ ธุรกิจไปได้ดีก็เลยกินเต็มที่ พอเกินปุ๊บแล้วถึงงวดที่ต้องมารับซื้อของ เงินไม่มีก็เอาเงินจาก OD กู้เพิ่มแบบนี้ไม่รู้จบ เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวัง ควรแยกบัญชีให้ชัดเจน

 

3. มีเงินไม่พอหมุนเวียนกิจการ

เวลาวางแผนธุรกิจคนชอบคิดแค่ว่า ต้องมีเงินเริ่มต้นเท่าไรถึงจะพอ เช่น อยากจะเปิดร้านก็มานึกเลยว่าอุปกรณ์ในร้านมีอะไรบ้าง ค่าเช่าต้องเตรียมไว้เท่าไร มัดจำล่วงหน้าเท่าไร มีของปุ๊บ เปิดร้านลุยเลย ไม่ได้เตรียมเงินหมุนเวียน อันนี้ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องควรมีเงินหมุนเวียนกิจการ 1 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะบางธุรกิจมาถึงแล้วตูมตาม หรืออย่างน้อยที่สุดมี 2-3 เดือนให้ลูกค้าเริ่มรู้จักและติดสิ่งที่เราต้องทำตอนเริ่มต้นกิจการให้เรานั่งประมาณการรายรับ-รายจ่าย หรือ ประมาณการกำไร-ขาดทุน ตอนที่เริ่มต้นศึกษาเรื่องธุรกิจใหม่ๆ โค้ชก็เคยร่วมกับเพื่อนทำกิจการเหล่านี้เหมือนกัน เวลาเราไปดูทำเล เพื่อนเป็นคนละเอียดมาก คือไปนั่งอยู่แถวนั้นเลย สมมติไปเปิดใต้ออฟฟิศหนึ่งก็จะไปนั่งอยู่ข้างใต้ตึก ก็จะเช็กเวลาว่าตั้งแต่ 9-10 โมงมีคนผ่านเท่าไร ตอนเที่ยงมีคนผ่านเท่าไร จากนั้นก็มาคำนวณคร่าวๆ ว่าคนที่เดินผ่าน ซื้อกาแฟของเรา 1% 5% หรือ 10% เหมือนการทำนายรายรับ 3 สถานการณ์ ถ้าขายไม่ดี ขายปานกลาง และขายดี น่าจะได้ประมาณเท่านั้นเท่านี้ ที่ต้องมี 3 อย่าง เพราะขายดีทำไว้ให้รู้ว่ากำไรจากการทำธุรกิจมันจะประมาณเท่าไร เบ็ดเสร็จแล้วคุ้มค่าเหนื่อยเราหรือเปล่า อย่างแย่ๆ ดูเพื่อว่ามันรอดไหม ก็แสดงว่าธุรกิจนี้ความเสี่ยงต่ำ ส่วนตรงกลางๆ หรือที่น่าจะเป็นไปได้ เอาไว้คำนวณว่าเอาจริงๆ โอกาสในการขายจริงๆ ประมาณเท่าไร มีระยะเวลาในการคืนทุนเท่าไร คนทำธุรกิจแล้วเจ๊งส่วนใหญ่มี 2 แบบ คือ เข้าข้างตัวเองคิดรายได้เกินจริง ในขณะเดียวกันอีกด้านคือคิดรายจ่ายต่ำกว่าความเป็นจริง กลุ่มนี้ต้องระมัดระวังเลย เหมือนศึกษาธุรกิจยังไม่ดีพอ พอเข้าไปทำก็จะมีค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น ยกตัวอย่างเช่น เริ่มต้นคิดว่าอะไรก็ทำเองหมด อย่าเพิ่งไปจ้างใคร ทำไปทำมาขายดี พอเริ่มขายดีจะจ้างคนอื่น ก็ไม่ได้คิดเตรียมเงินส่วนนี้ไว้อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง

 เวลาเราทำธุรกิจไปสักพัก มีกำไร อย่าลืมทยอยกันเงินหมุนเวียนสำรองไว้ เมื่อจบปีเรามีกำไรเหลืออยู่เท่าไร ถ้าเกิดต้องทำอะไรปีหน้า จะได้ไม่ต้องกู้เขาทั้งหมด เพราะถ้ากู้ปุ๊บจะมีเงินที่เรียกว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจใหญ่เขาจะมีการคาดการณ์ รายรับ-รายจ่าย พอธุรกิจเล็กๆ เราไม่ทำ พอไม่ทำเราไม่รู้ ยิ่งเป็นธุรกิจที่มีต้นทุน ต้องใช้ทุนหมุนเวียนต้องพิจารณาและระมัดระวัง

 

4. กู้สินเชื่อผิดประเภท

ยกตัวอย่างเช่น พอเงินขาดมือแล้วเปิดวงแชร์ อันนี้เป็นเรื่องฮิตของคนรุ่นเก่าเลย เรียกเพื่อนระดมทุนกันใครอยากเล่นแชร์บ้างเพื่อได้เงินก้อนหนึ่งเอามาจ่ายในกิจการ และบางทีไหลไปนอกระบบเลยก็มี บางคนทำธุรกิจออนไลน์ก็ใช้บัตรเครดิตรูด แล้วเหมาของมาสต็อกเอาไว้ ธุรกิจกลุ่มที่ต้องสต็อกสินค้านี่ก็ต้องระมัดระวัง เล่นสต็อกกันไว้เยอะๆ ปุ๊บ กะว่าจะขายได้ สุดท้ายขายไม่ออก อันนี้ก็พังเหมือนกันคนส่วนใหญ่พอมีปัญหาเรื่องเงินขาด มักจะคิดเองหาเอง บางครั้งเราสามารถเดินเข้าไปคุยกับธนาคารได้ ยกตัวอย่างเช่น มีคนหนึ่งเปิดเป็นธุรกิจนำเข้าฮาร์ดแวร์และเขียนโปรแกรมต่างๆ วันดีคืนดีก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทโซนี่ เขาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะสั่งของมาเยอะมาก เลยไปคุยกับซัพพลายเออร์ เขาก็ให้วงเครดิตได้บางส่วน ถ้าจะสั่งเยอะขนาดนี้ที่เหลือก็ต้องใช้เงินสด เคสนี้ขอเท่าไรก็ไม่ได้ ได้มาประมาณครึ่งเดียว โค้ชเลยบอกว่าให้ลองเข้าธนาคารเพื่อถามหาสินเชื่อ Factoring ขอให้เรามีหลักฐานยืนยันว่าบริษัทชั้นนำเขาจะซื้อของกับเราจริงๆ อย่างเคสนี้ก็เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ขอใบสั่งซื้อสินค้า หรือ PO เราสามารถเดินเข้าไปในธนาคารแล้วพูดคุยว่าบริษัทนี้จะซื้อของเรา แล้วก็มีนัดหมายส่งของกันชัดเจน ตัว PO ตรงนี้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดึงเงินไปใช้ก่อนล่วงหน้าได้ อันนี้เป็นเรื่องที่คนไม่รู้ แต่ธนาคารมีคิดค่าธรรมเนียม มันเป็นเรื่องที่ถ้าเรามีความรู้ทางด้านการเงิน และมีความพยายามหน่อย เราอาจจะหาแหล่งเงินที่เหมาะสมได้ และมีต้นทุนที่ไม่แพงเกินไป

 “หัวใจสำคัญของผู้ประกอบการคือต้องวิ่ง ต้องสู้ เงินขาดต้องหา แต่ต้องหาอย่างฉลาด ไม่ใช่ได้อะไรก็คว้าเอามาหมด แล้วจะมาปวดหัวทีหลัง”

  

5. บริหารต้นทุนขาดประสิทธิภาพ

สมัยที่โค้ชเป็นวิศวกร เคยรับเป็นที่ปรึกษาด้านลดต้นทุน เข้าไปโรงงานผลิตเสื้อผ้า ชุดชั้นในสตรี เขาถามว่าจะลดค่าใช้จ่ายอะไรดี ตอนนั้นสังเกตเห็นเศษผ้าเต็มพื้น เลยถามว่าเคยชั่งเศษผ้าบ้างไหม ว่ามีเหลือเท่าไร กี่กิโลกรัม พอมาดูด้วยสายตาว่าถ้าเอามันมาต่อกันน่าจะได้เสื้อหลายตัว พูดไปตรงนั้นเขาก็เริ่มเอะใจ เลยย้อนกลับไปดูว่าเรามีกระบวนการตัดชิ้นผ้าอย่างไร พอเข้าไปถึงได้เห็นว่าตัดกันตามใจฉัน เอาผ้ามาตัดแบบไม่ได้มีการกำหนดว่าผ้าผืนหนึ่งต้องตัดมุมไหน อย่างไรจะประหยัดที่สุด เชื่อไหมว่าเข้าไปแก้แค่นี้ลดต้นทุนไปได้เยอะมาก เจ้าของกิจการบางคนได้ไอเดียมาผิดๆ ว่าจะลดทุกอย่าง ซึ่งบางทีมันไม่ได้อิมแพกต์ อย่างการไม่ให้ลูกน้องกินกาแฟ สูญเสียเรื่องกำลังใจอีกต่างหาก อันนี้มั่ว โค้ชกล้าพูดว่าไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาหรอก เจ้าของกิจการลองเดินตรวจดูระบบงานตัวเอง ลูกน้องทำงานกันอย่างไร เราก็จะเริ่มเห็นว่ามันมีความสูญเปล่าอยู่

 ในบางกรณีเรื่องการปรับปรุงต้นทุนที่ขาดประสิทธิภาพก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน แต่อันนี้พิจารณาได้จากเวลาคืนทุน ยกตัวอย่าง เพื่อนคนหนึ่งทำธุรกิจสนามฟุตบอลให้เช่า โค้ชไปดูสนามและพูดคุยกับเขา ไปเจอว่าสนามเขาใช้หลอดไฟเปลืองไฟมาก ค่าไฟเดือนละ 40,000 บาท ผมก็ไปคุยว่าทำไมไม่เปลี่ยนเป็นหลอด LED ซึ่งให้แสงสว่างและประหยัดไฟ เขาก็ไปเรียกช่างมาเสนอ Quotation สุดท้ายค่าไฟเหลือแค่ 15,000 บาทต่อเดือน ลงทุน 200,000 กว่าบาท แต่แบบนี้สบาย ไม่ถึงปีก็คืนทุน ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

บทความโดย : thestandard.co

 1312
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores