“อิสรภาพทางการเงิน” ของเรา มีมูลค่าเท่าไหร่ ?

“อิสรภาพทางการเงิน” ของเรา มีมูลค่าเท่าไหร่ ?

“อิสรภาพทางการเงิน” หรือ Financial Freedom พื่ทุยเชื่อว่า เป็นคำที่ทุกคนใฝ่ฝันถึง ซึ่งมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ ฝ่ารถติด ฝ่าคนแน่นๆ บนรถไฟฟ้า เพื่อมาทำงานในเมืองให้ทันเวลา ไม่งั้นจะโดนหัวหน้าลงโทษได้ !!

อิสรภาพการเงินที่ไม่ต้องทำงาน คือ มีเงินเข้ามาให้ใช้ได้ในทุกเดือน แล้วถ้าเราอยากจะไปเที่ยวไหนบนโลกใบนี้ก็สามารถทำได้ อยากกินอะไรอร่อยๆ แพงแค่ไหนก็ได้ หรืออยากทำอะไรก็ทำได้ โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลยแบบนั้นจริงหรอ ?

“อิสรภาพทางการเงิน” คืออะไร ?

อิสรภาพทางการเงิน คือ คนที่มีรายได้จากสินทรัพย์ต่างๆ เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ย ค่าเช่าอสังหาฯ ค่าสิทธิบัตรลิขสิทธิ์ รวมผลตอบแทนจากสินทรัพย์เหล่านี้แล้วมีมากกว่าค่าใช้จ่ายในแต่ละปีหรือคิดแยกเป็นเดือนๆก็ได้

ก่อนที่จะเกิดอิสรภาพทางการเงินได้ สิ่งแรกเริ่มเลย เราต้องเริ่มสร้างสินทรัพย์เหล่านี้ขึ้นมาก่อน แล้วคอยดูแลบริหารจัดการทรัพย์สิน ทำให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอแม้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

พี่ทุยจะชี้ให้เห็นว่าอิสรภาพการเงินแบบไม่ต้องทำอะไรเลยเนี่ย มันไม่ได้มีอยู่จริงๆหรอก ยกเว้นแต่บางคนที่โชคดีได้รับมรดกตกทอดจากรุ่นพ่อแม่ รุ่นปู่ย่าตายาย สร้างสมมาให้แล้วเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท แค่นำเงินไปฝากธนาคารกินดอกเบี้ยก็เพียงพอแล้ว แต่อย่าลืมว่า มีได้ ก็หมดได้เช่นกัน !! ถ้าไม่คิดจะรักษาหรือต่อยอดการลงทุนไว้ให้ดี

อย่าเพิ่งน้อยใจไป… ถึงแม้ว่าพวกเราอาจไม่ได้โชคดีแบบนั้น รวมถึงตัวพี่ทุยเอง T_T แต่พี่ทุยเชื่อว่า เราก็สามารถสร้างอิสรภาพทางการเงินได้ด้วยตนเองได้ อิสรภาพแบบที่คนทั่วๆ ไป อย่างเราหรือพี่ทุยก็ทำได้

คำถามสำคัญต่อมา อิสรภาพทางการเงินของเรา มีมูลค่าเท่าไหร่กัน ? 

คำถามที่ดูฟังเหมือนง่ายๆ แต่จะหาคำตอบที่ถูกต้องคงยาก บางคนบอกว่าต้องมีเงิน 1 ล้าน 10 ล้าน 100 ล้านบาท ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นตัวเลขที่มโน…ขึ้นมากันเอง เพราะว่ามูลค่าของอิสรภาพทางการเงินของแต่ละคนไม่เท่ากัน !!

ดังนั้น เรามาลองคำนวณตัวเลข บวก ลบ คูณ หาร กันแบบเข้าใจง่ายๆ กันหน่อยดีกว่า เริ่มจากทำบัญชีรายรับรายจ่าย สรุปออกมาทุกเดือนๆ ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เราจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ หรือจะคูณ 12 เดือน ไปเป็นปีไปเลยก็ได้ เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ แล้วอย่าลืมคิดด้วยว่าจำนวนปีที่คาดว่าจะอยู่ถึง คืออายุเท่าไหร่

พี่ทุยว่า เรามายกตัวอย่างกันไปเลยดีกว่า ขอยกกรณีศึกษา สำหรับวัยมนุษย์เงินเดือน เริ่มทำงานกันมาได้ไม่นาน เช่น นาย ก มีค่าใช้จ่ายตกอยู่เดือนละ 20,000 บาท หรือคิดเป็นปีละ 240,000 บาท แล้วคิดว่าจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี คาดว่าจะต้องอยู่ไปอีก 20 ปี จนอายุ 80 ปี

วิธีคิดง่ายๆ คือ นำเงิน 240,000 บาท x 20 (ปี) เท่ากับ 4,800,000 บาท แสดงว่า เมื่อเราเลิกทำงานประจำแล้ว และต้องการมีอิสรภาพทางการเงินเพื่อใช้ชีวิตอย่างทุกวันนี้ได้ไปอีก 20 ปี จำนวนเงินที่เราจะต้องออมไว้ก่อน คือ มูลค่า 4,800,000 บาท ซึ่งจำนวนนี้ยังไม่รวมอัตราเงินเฟ้อ แล้วเราจำเป็นต้องรวมเงินเฟ้อด้วยมั้ย ?

พี่ทุยขอบอกเลยว่าควรที่จะคิดนำมารวมด้วย เพราะพี่ทุยกินก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม เมื่อสมัย 10-20 ปีก่อน ชามละ 15-20 บาท (ย้อนอดีตไปนานจัง ><) แต่ราคาสมัยนี้ชามละ 30-40 บาท หรือคิดง่ายๆ ว่าเงินเฟ้อขึ้นประมาณ 2 เท่าภายใน 20 ปี (จากสถิติข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของไทย ตกเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 % โดยประมาณ) พี่ทุยขอให้สูตรไว้ไปลองคิดกัน

จำนวนเงินที่ต้องมีเพื่ออิสรภาพทางการเงิน = จำนวนเงินที่ต้องการใช้ต่อปี X จำนวนปี X ตัวเลขเงินเฟ้อ

ถ้าจำนวนปี 10 ปี คูณตัวเลขเงินเฟ้อประมาณ 1.3 เท่า
ถ้าจำนวนปี 20 ปี คูณตัวเลขเงินเฟ้อประมาณ 1.8 เท่า
ถ้าจำนวนปี 30 ปี คูณตัวเลขเงินเฟ้อประมาณ 2.8 เท่า

ต่อจากกรณีข้างบน 4,800,000 บาท คูณ 1.8 เท่ากับ 8,640,000 ล้านบาท !

ยังไงก็ตาม พี่ทุยว่าเพื่อให้ง่ายๆ ต่อการคิดเลข หรือตีกลมๆ แนะนำว่า ให้คูณ 2 เท่าไปเลยก็ได้ หรือคิดรวมมูลค่าของอิสรภาพอยู่ที่ 9,600,000 บาท !! (เชื่อเถอะว่า มีเงินเหลือไว้ใช้ดีกว่า เคยได้ยินกันมั้ยว่า ตายไปแล้วใช้ตังค์ไม่หมดดีกว่า ใช้ตังค์หมดไปแล้วยังมีชีวิตอยู่นะ)

ถึงตอนนี้แล้ว อย่าเพิ่งท้อแท้กันไปก่อน ว่าเงินออมเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงิน มันต้องเยอะขนาดนี้เลยหรอ !!

คำตอบคือ ใช่ กลับมาคิดและวางแผนการเงินการลงทุนกันก่อนดีกว่า เช่น ถ้าเราอายุ 30 ปี ก่อนที่เราจะสร้างสินทรัพย์เพื่อมีอิสรภาพทางการเงินได้นั้น เราต้องมาเริ่มลงทุนกันตั้งแต่วันนี้ หากตั้งเป้าไว้ว่าจะลงทุนเดือนละ 5,000 บาท ไปจนถึงอายุ 60 ปี แสดงว่ามีเวลาให้เก็บออมเงินเพื่อลงทุนเป็นเวลา 30 ปี ลองให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนดัชนี SET ในระยะยาวที่ 12%

เราจะพบว่า.. เงินก้อนที่เราทยอยลงทุนสะสมทุกๆเดือน จนมาถึงวันที่เราอายุ 60 ปี เชื่อหรือไม่ว่า… เราจะมีมูลค่าพอร์ตการลงทุนถึง 10,856,605 บาท เห็นได้ว่า อิสรภาพทางการเงินสามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งมีกองทุนหรือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมากที่ในระยะยาวมีผลตอบแทนที่ดี อย่างกองทุนหลายกองที่ผลตอบแทนเฉลี่ยในระยะยาวสูงกว่า 6-8% ต่อปี หรือหุ้นบางตัวให้ผลตอบแทนสูงกว่า

หากเรามีความรู้การเงินการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น เราจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยได้ หรือว่าในระยะยาว เราก็สามารถเพิ่มการเก็บเงินออมต่อเดือนให้มากขึ้น ก็จะทำให้เราถึงเป้าหมายได้อิสรภาพได้ไวยิ่งขึ้นได้

พี่ทุยคิดว่าอิสรภาพทางการเงินในแบบของเราเอง เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเลย เราอาจไม่จำเป็นต้องกินหรูๆ แพงๆ ทุกวัน เราอาจจะไม่จำเป็นต้องไปท่องเที่ยวต่างประเทศทุกเดือน เราอาจไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงๆก็ได้ ขอเพียงแค่เรารู้จักตนเอง รู้จักความพอดี และมีความรู้ความเข้าใจของการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้ดี แล้วทำในสิ่งที่เรารัก เพียงแค่นี้เราก็เจออิสรภาพทางความสุขในแบบของตนเองได้แล้วล่ะ

บทความโดย: https://www.moneybuffalo.in.th

 3164
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores