ผลกระทบต่อนักบัญชีกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษีตามนโยบาย National E-Payment

ผลกระทบต่อนักบัญชีกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านภาษีตามนโยบาย National E-Payment

สำหรับความรู้ในตอนนี้คงเป็นการแชร์เรื่องราวและแนวคิดส่วนตัวของผมเกี่ยวกับนโยบาย National E-Payment ที่กำลังจะมีผลกระทบต่อวิชาชีพบัญชีให้ฟังกันครับ

National E-Payment คือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่รัฐบาลกำลังพยายามผลักดันเพื่อให้มีระบบรองรับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานมากขึ้น และสอดคล้องกับการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี  2558 จนถึงปัจจุบัน และเป็นแนวทางระยะยาวที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในอนาคต

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะเริ่มเห็นสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นมายกตัวอย่างเช่น ระบบพร้อมเพย์ (Promptpay) ซึ่งมีทั้งสำหรับบุคคลธรรมดา (ใช้เบอร์โทรศัพท์และเลขบัตรประชาชน) และนิติบุคคล (ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก) เพื่ออำนวยความสะดวกมากมายในการรับเงินจากการทำธุรกรรมต่างๆ มากยิ่งขึ้น นโยบายการใช้เครื่องรูดบัตร EDC สำหรับการรับบัตรเครดิตเพื่อรับเงิน โดยทางภาครัฐเองก็จัดแคมเปญต่างๆ ทั้งเรื่องของการชิงโชค การใช้งานต่างๆ ไปจนถึงนโยบายจูงใจด้านภาษี ให้นิติบุคคลสามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แต่เห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบต่อนักบัญชีที่ต้องรับผิดชอบเรื่องราวต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ผลกระทบและสิ่งที่นักบัญชีจะต้องทำ 

ในมุมมองของผมสิ่งที่กระทบต่อนักบัญชีนั้นแบ่งออกเป็น 2 มุมมองครับ ในเรื่องของ “การจัดการและการทำความเข้าใจ” กับ “การวางแผนภาษีในรูปแบบใหม่” โดยแยกอธิบายได้ดังนี้ครับ

• การจัดการและการทำความเข้าใจ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจัดการและการทำความเข้าใจ ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับนักบัญชีมาก เพราะการเปลี่ยนแปลงต่างที่จะเกิดขึ้นนี้ส่งผลให้ตัวนักบัญชีเองต้องรีบทำความเข้าใจ และจัดการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ดังนั้นหากนักบัญชีไม่มีความรู้หรือไม่เข้าใจ สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตย่อมจะทำให้วิชาชีพลำบากมากขึ้น

• แนวคิดเรื่องการวางแผนภาษีในรูปแบบใหม่ 

ผมเชื่อว่าหลายคนยังคงคุ้นเคยกับการวางแผนภาษีหรือจัดการภาษีให้ในแบบเดิมๆ อยู่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนี้มีสิ่งที่จะทำให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งหลักฐานที่เกิดขึ้นจากระบบชำระเงินที่พิสูจน์ได้ การยืนยันความมีตัวตน นโยบายภาษีที่มีประโยชน์ต่อกิจการ รวมถึงการจัดการต่างๆ ที่จะเกิดต้นทุนตามมา ซึ่งนักบัญชีนั้นต้องมองไปข้างหน้าและเตรียมรับมือให้ทันเวลาครับ

อย่างที่เราทราบกันดีว่า วิชาชีพบัญชีนั้นมีหน้าที่ “รับทุกอย่าง” และ “จัดการทุกด้าน” และจากการพูดคุยกับนักบัญชีหลายๆ คนในช่วงนี้ มีจำนวนหนึ่งที่รู้สึกเครียดและกดดันจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ค่อนข้างมากเพราะไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง  แนวทางหนึ่งที่ผมพยายามจะบอกอยู่เสมอคือ  ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเรามีหน้าที่ต้องเปลี่ยนแปลงการกระทำนั้นๆ เพราะถ้าหากเราไม่เปลี่ยนแปลงวันหนึ่งเรานั่นแหละจะถูกเปลี่ยนแปลงเสียเองครับ

หวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลดีในระยะยาว และถ้ามีคำถามข้อสงสัยใดๆ สามารถส่งข้อความมาที่ Facebook Fanpage TAXBugnoms  ได้ตลอดเวลาครับผม 

บทความโดย : https://www.dharmniti.co.th

 1958
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores