อัตราส่วนทางการเงิน เป็นเครื่องมือสำหรับใช้วิเคราะห์งบการเงิน และเนื่องด้วยงบการเงินมีข้อมูลมากมายไปหมดคงเป็นไปด้วยความยากลำบากสำหรับผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านบัญชีมาก่อนที่จะทำความเข้าใจ ดังนั้นอัตราส่วนทางการเงินจะทำให้การวิเคราะห์งบการเงินเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น แล้วง่ายขึ้นอย่างไรล่ะ ยกตัวอย่างเช่น เราเปิดงบการเงินของบริษัทที่เราสนใจที่จะลงทุนขึ้นมาดูแล้ว ไปอ่านที่หนี้สิน พบว่าบริษัทนั้นมีหนี้สินอยู่ 10 ล้านบาท แล้วผู้อ่านงบการเงินจะทราบได้อย่างไรว่าหนี้สินตรงส่วนนี้มากเกินไปหรือป่าว สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือ อัตราส่วนทางการเงิน นั้นเอง โดยการนำหนี้สินมาเปรียบเทียบกับส่วนของเจ้าของให้นั่นเอง
อัตราส่วนทางการเงิน แบ่งออกเป็นหลายประเภทดังนี้
1. อัตราส่วนสภาพคล่อง
2. อัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน
3. อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร
4. อัตราส่วนประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์
5. อัตราส่วนมูลค่าทางการตลาด
1. อัตราส่วนสภาพคล่อง
คือ อัตราส่วนที่บ่งบอกถึงสภาพคล่องทางการเงินของกิจการ หรือบอกถึงความสามารถในการชำระหนี้สินของกิจการ หากกิจการมีอัตราส่วนสภาพคล่องที่ไม่ดีจะมีผลทำให้กิจการไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ทำให้กิจการเสียความหน้าเชื่อถือหรือเสียเครดิตทางการเงินไปนั่นเอง อัตราส่วนสภาพคล่องจะประกอบไปด้วย อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน และ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเร็ว
2. อัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน
คือ อัตราส่วนที่ใช้วัดจำนวนเงินทุนของกิจการที่ได้มาจากการกู้ยืมกับเงินทุนที่ได้จากเจ้าของ โดยกิจการที่มีโครงสารทางการเงินจากหนี้สินมากจะทำให้กิจการมีความเสี่ยงสูง เพราะกิจการจะต้องชำระดอกเบี้ยจากการกู้ยืม อัตราส่วนโครงสร้างทางการเงิน ประกอบไปด้วยอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของ อัตราส่วนหนี้สิน อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย
3. อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร
คือ อัตราส่วนที่บ่งบอกถึงผลการดำเนินงานของกิจการว่ามีผลลัพธ์ดำเนินงานที่ดีหรือไม่ ซึ่งการวัดว่ากิจการนั้นๆมีผลการดำเนินงานที่ดีหรือไม่ก็คือ การวัดผลกำไร อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไร ประกอบไปด้วย อัตราส่วนกำไรขั้นต้น อัตรากำไรสุทธิ อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ อัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ
4. อัตราส่วนประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์
คือ อัตราส่วนที่ใช้วัดสินทรัพย์ที่มีอยู่ของกิจการว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งสินทรัพย์ที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ สินทรัพย์ ลูกหนี้ สินค้าคงเหลือ อัตราส่วนประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ ประกอบไปด้วยอัตราส่วนหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม อัตราส่วนหมุนเวียนลูกหนี้การค้าอัตราส่วนหมุนเวียนสินค้าคงเหลือ อัตราส่วนหมุนเวียนเจ้าหนี้การค้า
5. อัตราส่วนมูลค่าทางการตลาด
คือ อัตราส่วนทางการเงินอีกตัวหนึ่งที่สามารถใช้วัดผลการดำเนินงานของกิจการโดยใช้ กำไรสุทธิต่อหุ้น อัตราการจ่ายปันผล และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของราคาหุ้นกับกำไรสุทธิ ซึ่งจะช่วยบอกว่าราคาหุ้นนั้นๆ แพงหรือถูก อัตราส่วนมูลค่าทางการตลาด ประกอบด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ มูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้น ราคาหุ้นต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน
บทความโดย : doithai.com