งานบัญชี (Accounting) เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางบัญชี รวมถึงการบันทึก จัดเก็บ รวบรวม และตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทางบัญชี บันทึกรายรับรายจ่าย ตลอดจน การจัดทำรายงานทางการเงิน โดยผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าว เรียกว่า “นักบัญชี” ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง เรียนจบมาทางสายงานบัญชี และต้องมีประสบการณ์ด้านบัญชีมาพอสมควร
ผู้ที่หางานบัญชีควรเป็นผู้ที่จบการศึกษามาจากคณะต่าง ๆ ดังนี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี (สาขาการบัญชี) คณะเศรษฐศาสตร์ (สาขาการบัญชี) คณะบริหารธุรกิจ (สาขาการบัญชี) คณะสังคมศาสตร์ (สาขาการบัญชี) คณะวิทยาการจัดการ (สาขาวิชาการบัญชีบริหาร) คณะบริหารศาสตร์ (สาขาการบัญชี)
สาเหตุที่สายงานบัญชีไม่ได้เปิดกว้างให้กับคนที่เรียนจบมาจากสาขาอื่น เนื่องจาก งานบัญชีเป็นงานเฉพาะทาง ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของงานอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถฝึกหัดกันได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เหมือนสายงานอื่น ๆ
งาน Accounting มีกี่ประเภท
งานในวิชาชีพบัญชีสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
- งานบัญชีของธุรกิจ (Private Accounting) คือ งานบัญชีทั่วไป ที่นักบัญชีรับทำให้แก่บริษัทเอกชนทั่วไป
- งานบัญชีสาธารณะ (Public Accounting) คือ งานบัญชีอิสระ ที่ผู้ทำบัญชีจะให้บริการด้านการบัญชีโดยไม่ต้องเป็นลูกจ้างของหน่วยงาน หรือองค์กรใด
- งานบัญชีของรัฐบาล (Governmental Accounting) คือ งานบัญชีที่ทำให้กับหน่วยงานรัฐบาล โดยนักบัญชี จะมีฐานะเป็นข้าราชการประจำของหน่วยงานราชการนั้น
คุณสมบัติของนักบัญชี
- นักบัญชีต้องเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ และเก็บรักษาความลับได้ดี เพราะนักบัญชีเป็นผู้ที่รู้ความเคลื่อนไหวทางการเงินของบริษัทอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ควรนำเรื่องดังกล่าวมาเปิดเผย
- มีความละเอียดรอบคอบ นักบัญชีจะต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทางบัญชี และเก็บรักษาไว้ในที่ที่ปลอดภัย
- มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานบัญชีอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
- เปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับงานบัญชี พัฒนางานของนักบัญชีให้ทันสมัยอยู่เสมอ
- มีความรับผิดชอบต่อวิชาชีพ นักบัญชีต้องนำเสนอข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง และรวดเร็ว เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการตัดสินใจ
ลักษณะของงานบัญชี
ลักษณะโดยทั่วไปของงานบัญชีที่ให้บริการกัน ได้แก่ การรับทำบัญชี การตรวจสอบบัญชี การวางระบบบัญชี การบัญชีต้นทุน การพยากรณ์ทางการเงิน การวางแผนภาษีอากร การบัญชีเพื่อการบริหาร เป็นต้น
โดยนักบัญชีจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก ๆ ดังนี้
- ทำหน้าที่บันทึกข้อมูลทางการเงินตามระบบของการบัญชี
- ทำบัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย ให้กับองค์กร
- ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารทางบัญชี
- บันทึกการจ่ายเงิน การรับเงิน และธุรกรรมทางการเงิน
- ทำงบดุล และรวบรวมรายงานการเงินตามระยะเวลาที่กำหนด
- จัดแสดงรายรับรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัท
- ทำรายงานปิดงบการเงินประจำเดือนให้กับบริษัท
การเป็นนักบัญชีมือ อาชีพ เป็นสิ่งที่ผู้ทำงานด้านบัญชีต้องฝึกฝน และพัฒนาตนเอง โดยนำมารวมกับความรู้ความเข้าใจที่ได้เรียนมา มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับงานบัญชี เมื่อนักบัญชีมีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้รวมเข้าไว้ด้วยกันแล้ว การจะเป็นนักบัญชีที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถจึงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ขอบเขตของงานบัญชี สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
- การบัญชีการเงิน (Financial Accounting) - เป็นการบัญชีที่จัดทำโดยบันทึกตามมาตรฐานการบัญชีหรือหลักการบัญชีที่รับรอง กันทั่วไป ได้แก่ งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด นโยบายการบัญชีและหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อรายงานต่อบุคคลภายนอกกิจการอาทิ นักลงทุน เจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้น หน่วยงานราชการ ลูกจ้าง
- การบัญชีเพื่อการจัดการ (Managerial Accounting) - เป็นการจัดทำเพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอต่อผู้ใช้ข้อมูลที่เป็นบุคคลภายในกิจการ ได้แก่ กรรมการบริหาร ผู้จัดการ หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนก ฯลฯ เพื่อใช้ในการวางแผน และควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลนั้นส่วนหนึ่งมาจากการทำบัญชี รวมกับข้อมูลอื่นๆทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน เช่น จำนวนชั่วโมงการทำงาน จำนวนหน่วยของวัตถุดิบ เป็นต้น รายงานทางการบัญชีเพื่อการจัดการมีได้หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความต้องการ ของผู้บริหาร
บทความโดย: https://my.dek-d.com