การจัดทำงบทดลองมีประโยชน์ดังนี้
1. เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกบัญชีว่าถูกต้องตามหลักการบัญชีคู่หรือไม่ ซึ่งหากพบว่าไม่ถูกต้องจะได้ทำการแก้ไขข้อผิดพลาดได้อย่างทันท่วงที
2. ข้อมูลในงบทดลองจะถูกใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำงบการเงิน ซึ่งได้แก่งบกำไรขาดทุน และงบดุล เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงินของกิจการ
3. ข้อมูลในงบทดลองจะถูกใช้เป็นข้อมูลในปรับปรุงบัญชี และปิดบัญชี เมื่อสิ้นงวดระยะเวลาบัญชีของกิจการ
ถึงแม้ว่าการจัดทำงบทดลองจะมีประโยชน์คือเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความถูกต้องของการบันทึกบัญชี แต่ก็ตรวจสอบได้เฉพาะความถูกต้องในการบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีคู่เท่านั้น แต่ถ้าเป็นความผิดพลาดอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ความผิดพลาดตามหลักการบัญชีคู่ งบทดลองก็จะยังคงลงตัว ดังนั้นการจัดทำงบทดลองก็จะไม่สามารถตรวจสอบได้สำหรับความผิดพลาดของการบันทึกบัญชีประเภทนี้ ความผิดพลาดดังกล่าวที่ไม่สามารถตรวจสอบได้โดยการจัดทำงบทดลอง ได้แก่
1. ความผิดพลาดในการบันทึกบัญชีผิดบัญชี เช่น การซื้อเครื่องตกแต่งเป็นเงินเชื่อ ที่ถูกต้องจะต้องบันทึกบัญชีโดย เดบิต เครื่องตกแต่ง เครดิต เจ้าหนี้ แต่ในการบันทึกบัญชีได้บันทึกโดย เดบิต เครื่องตกแต่ง เครดิต เงินสด ซึ่งการบันทึกบัญชีแบบนี้จำนวนเงินทางด้านเดบิต เท่ากับจำนวนเงินทางด้านเครดิต ดังนั้นงบทดลองก็ยังคงลงตัว ทั้งที่การบันทึกบัญชีไม่ถูกต้อง
2. ความผิดพลาดที่อาจชดเชยกันได้ เช่น การหายอดคงเหลือของบัญชีต่าง ๆ ในสมุดบัญชีแยกประเภทผิด แต่เป็นความผิดที่ชดเชยกันได้ เช่น ยอดคงเหลือของบัญชีเงินสดที่ถูกต้องเป็น 251,000 บาททางด้านเดบิต แต่หาได้ 250,000 บาท ทางด้านเดบิต ซึ่งต่ำไป 1,000 บาท และปรากฏว่าในการยอดคงเหลือของบัญชีเจ้าหนี้ หาได้ 41,000 บาท ที่ถูกต้องคือ 42,000 บาท ซึ่งต่ำไป 1,000 บาท ทำให้ยอดรวมของจำนวนเงินทางด้านเดบิตยังคงเท่ากับจำนวนเงินรวมทางด้านเครดิตหรืองบทดลองยังคงลงตัวอยู่ดี ทั้งที่ยอดคงเหลือของบัญชี 2 บัญชีดังกล่าวไม่ถูกต้อง
3. ความผิดพลาดที่เกิดจากการลืมบันทึกบัญชีทั้งทางด้านเดบิตและด้านเครดิต ซึ่งกรณีนี้จำนวนเงินรวมทางด้านเดบิตยังคงเท่ากับจำนวนเงินรวมทางด้านเครดิต หรืองบทดลองยังคงลงตัว ถึงแม้ว่าจะบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องเนื่องจากบันทึกบัญชีไม่ครบทุกรายการ
บทความโดย: http://www.tacthai.com