เจ้าหนี้การค้า ลูกหนี้การค้า และหนี้สูญ, “สัญญาณเตือนภัย” ของกิจการ

เจ้าหนี้การค้า ลูกหนี้การค้า และหนี้สูญ, “สัญญาณเตือนภัย” ของกิจการ

เมื่อเปิดงบการเงินของแทบทุกบริษัท เรามักพบรายการ “เจ้าหนี้การค้า” และ “ลูกหนี้การค้า” จนชินตา บางคนอาจมองข้ามไปด้วยซ้ำ เพราะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา บริษัทไหนๆ ก็มี

ในการกู้ยืมทุกประเภท เงินจะถูกส่งผ่านจาก “เจ้าหนี้” ไปสู่ “ลูกหนี้” ซึ่งทุกคนต่างก็ทราบดี แต่สำหรับ “หนี้การค้า” นั้น มีความแตกต่างออกไป

แม้หนี้ทางการค้าจะเป็น “หนี้สิน” อย่างหนึ่ง แต่มันไม่ได้มาจากการ “กู้ยืมเงิน” เหตุเพราะหนี้ประเภทนี้เกิดจากธรรมชาติของการประกอบธุรกิจ ที่ย่อมมีการซื้อขายของกัน เช่น ซื้อวัตถุดิบ ขายสินค้า ฯลฯ และส่วนมากมักซื้อขายกันด้วย “เงินเชื่อ” จนเกิดเป็นหนี้การค้าขึ้นมา

หนี้การค้าเป็นหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย เพราะจุดประสงค์ของมันคือเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ไม่ใช่เพราะต้องการกู้ยืมเงินกัน กล่าวคือ แทนที่จะควักเงินสดจ่ายกันทุกครั้งที่มีการซื้อขาย ก็ให้บันทึกรวบรวมเอาไว้ก่อน พอถึงกำหนดก็ค่อยมาเคลียร์กันทีเดียว สะดวกกว่ามาก

ปกติแล้ว บริษัทที่ซื้อขายของกันจะตกลงกันว่าจะให้เครดิตกี่วัน เช่น 15 วัน 30 วัน 60 วัน ฯลฯ โดยให้ผู้ซื้อเอาของไปก่อน พอถึงกำหนดชำระค่อยเอาเงินมาจ่ายผู้ขาย หรือจะจ่ายก่อนก็ได้

ด้วยความที่ซื้อของมาแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระเงิน ผู้ซื้อจึงต้องบันทึกจำนวนเงินที่เป็นภาระผูกพันดังกล่าว เป็นรายการ “เจ้าหนี้การค้า” ซึ่งจะบอกว่าเรามี “เจ้าหนี้” ที่ต้องเอาเงินไปใช้เขาอยู่เท่าไร

ในส่วนของ “ผู้ขาย” เมื่อยังไม่ได้เงิน ก็ต้องบันทึกจำนวนเงินนั้นเป็น “ลูกหนี้การค้า” ซึ่งหมายถึงเรายังมี “ลูกหนี้” ให้ต้องตามเก็บอยู่เท่านั้นเท่านี้

ดังนั้น ธุรกิจที่มี “ระยะเวลาเรียกเก็บหนี้สั้น” แต่ “ระยะเวลาจ่ายหนี้ยาว” ก็ย่อมได้เปรียบ เพราะได้กระแสเงินสดเข้ามาเร็ว แต่จ่ายออกไปช้า พูดง่ายๆ คือได้เงินมาหมุนก่อน

ธุรกิจบางประเภท เช่น ธุรกิจค้าปลีก ที่นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าบ้านเราชอบนักชอบหนา ยิ่งได้เปรียบกว่านั้นอีก เพราะขายสินค้าเป็นเงินสด ส่งผลให้มีลูกหนี้การค้าน้อยมาก แต่มีระยะเวลาการจ่ายหนี้นานถึง 3-6 เดือน จึงมีเงินสดไว้ใช้ไม่เคยขาดมือ ทำให้หลายบริษัทสามารถจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเสมอ

จะเห็นได้ว่า “เจ้าหนี้การค้า” และ “ลูกหนี้การค้า” เป็นรายการอันเกิดจากการดำเนินงานตามปกติของธุรกิจ   การมีเจ้าหนี้การค้าไม่ได้แปลว่าบริษัทไปกู้เงินใครมา ในทางตรงข้าม การมีลูกหนี้การค้าก็ไม่ได้แปลว่าบริษัทเอาเงินไปปล่อยกู้แต่อย่างใด

และเนื่องจาก เจ้าหนี้การค้า เป็นภาระผูกพัน มันจึงถูกจัดอยู่ใน “งบแสดงฐานะการเงิน” (ที่แต่เดิมเรียกงบดุลนั่นแหล่ะ) เป็นประเภทหนึ่งของ “หนี้สิน” ในขณะที่ ลูกหนี้การค้า เป็นจำนวนเงินที่รอเปลี่ยนเป็นเงินสด มันจึงถูกจัดเป็น “สินทรัพย์” อยู่ในงบแสดงฐานะการเงินเช่นกัน

ขั้นต่อไป มาดูกันเถอะครับว่า เราจะวิเคราะห์มันอย่างไรได้บ้าง

โดยทั่วไป การจะบอกว่าบริษัทหนึ่งๆ ควรมี “เจ้าหนี้การค้า” และ “ลูกหนี้การค้า” มากน้อยแค่ไหนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เนื่องจากกิจการแต่ละประเภทย่อมมีลักษณะและนโยบายที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น เราสามารถดูคร่าวๆ ได้จากตัวเลขของปีก่อนหน้าว่ารายการทั้งสองมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากจนผิดสังเกตหรือไม่

ปกติแล้วการเพิ่มขึ้นของเจ้าหนี้และลูกหนี้การค้าควรสอดคล้องกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น ทว่าหากนักลงทุนพบเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ผิดสังเกตหรือน่าสงสัย ก็ควรพลิกดูในหมายเหตุประกอบงบการเงินเพื่อหาคำตอบ หากรู้สึกว่ามันไม่สมเหตุสมผลก็ควรตั้งข้อสงสัยและหาข้อมูลเพิ่มเติม

อีกประเด็นหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญก็คือ รายการที่บริษัทมีกับ “กิจการที่เกี่ยวข้อง” ไม่ว่าจะเป็น “บริษัทลูก” หรือ “บริษัทที่มีกรรมการร่วม” ก็ตาม

ตัวอย่างเช่น อาจมีกรรมการตัวแสบของบริษัท A เอาบริษัท B ซึ่งตัวเองมีเอี่ยวอยู่ด้วยทำทีมาซื้อของ บริษัท A จึงบันทึกรายการเป็น “ลูกหนี้การค้า” จากนั้นบริษัท B ก็หอบของหนีหายไป พอครบกำหนดก็ไม่มาจ่ายเงิน

ครั้นเวลาผ่านไป บริษัท A จึงจำต้องตัดลูกหนี้เป็น “หนี้สูญ” ปล่อยให้ภาระตกอยู่บนบ่าของนักลงทุนอย่างเราๆ ส่วนบริษัท B ของกรรมการรายนั้นก็เอาของไปขายได้เงินใช้สบาย (ที่พูดนี่มีจริงนะครับ…ไม่ใช่ไม่มี เจอกันมาเยอะแล้ว)

พูดถึง “หนี้สูญ” นี่คือสิ่งที่นักลงทุนพึงระวังให้จงหนัก โดยต้องตรวจสอบว่าบริษัทมีสัดส่วนลูกหนี้การค้าที่เกินกำหนดชำระเงินไปแล้วมากน้อยเพียงใด หากมีมากย่อมเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เพราะถ้าตามเก็บไม่ได้จริงๆ ลูกหนี้การค้าเหล่านั้นก็จะถูกตัดเป็นหนี้สูญ ซึ่งถือเป็นความเสียหายของบริษัท

การที่ลูกหนี้การค้าถูกตัดเป็นหนี้สูญ หรือถูกหักเป็น “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ” (หมายถึงหนี้ที่ยังไม่สูญ แต่มีโอกาสจะสูญ) หมายความว่า “สินทรัพย์” ที่บริษัทเป็นเจ้าของอยู่กำลังลดน้อยถอยลง ซึ่งคงไม่ดีแน่ๆ จริงไหมครับ

ทั้งนี้ ลูกหนี้การค้าที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงิน เป็น “ลูกหนี้การค้าสุทธิ” ซึ่งหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น แม้เราเปิดดูงบแสดงฐานะการเงินผ่านๆ แล้วเหมือนไม่มีอะไร เป็นไปได้ว่าในปีที่ผ่านมาอาจมีการหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไปแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งข้อเท็จจริงตรงนี้เราไม่อาจทราบได้เลยถ้าไม่เปิดดูในหมายเหตุประกอบงบการเงิน

ก่อนจบ ขอทวนอีกครั้งว่า ในส่วนของ “ลูกหนี้การค้า” เราต้องจับตามองว่ามันเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เรียบร้อยดีหรือไม่ ส่วน “เจ้าหนี้การค้า” เราต้องดูว่าบริษัทไปซื้ออะไรมาเยอะเกินไปหรือเปล่า สอดคล้องกับยอดขายหรือไม่ ยังค้างเป็น “สินค้าคงเหลือ” อยู่หรือไม่ ถ้าบริษัทไปซื้อของมามากๆ แต่ขายไม่ออก ไปกองเป็นสินค้าคงเหลือบานเบอะก็คงไม่เข้าท่าแน่นอน

เห็นหรือยังครับว่า เรื่องของเจ้าหนี้-ลูกหนี้การค้า มีประเด็นที่ต้องใส่ใจอยู่หลายต่อหลายจุด นักลงทุนจึงควรทำตัวเป็นนักสืบ ลองแกะงบไปเรื่อยๆ เมื่อนั้นท่านอาจพบ “สัญญาณเตือนภัย” อันบ่งบอกถึงความผิดปกติที่ซุกซ่อนอยู่ก็เป็นได้ครับ

บทความโดย : clubvi.com

 9157
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores