1. แหล่งระดมเงินทุนระยะยาว
- บริษัทสามารถระดมทุนจากประชาชนเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจได้โดยง่ายและรวดเร็ว
- ก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน
- ทำให้มีโครงสร้างทางการเงินที่เหมาะสมต่อการดำเนินกิจการ มีโอกาสในการเลือกระดมทุนผ่านการออกหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นภายหลังการเข้าจดทะเบียน เช่น หุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ เป็นต้น
2. ภาพลักษณ์
- เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะที่บริษัทได้ผ่านการพิจารณาจาก สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดี และมีฐานะมั่นคงในระดับหนึ่ง รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส
- ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ เช่น ความน่าเชื่อถือ อำนาจในการต่อรอง
- สร้างความตระหนัก ตลอดจนความนิยมในผลิตภัณฑ์/บริการของกิจการโดยทางอ้อม
- การเผยแพร่ข่าวสารและความเคลื่อนไหวของบริษัทผ่านสื่อต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่เสริมให้บริษัทเป็นที่รู้จักและยอมรับของสาธารณชนมากยิ่งขึ้น หากสามารถตีค่าเป็นตัวเงินแล้วย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายจำนวนมากสำหรับคู่แข่งที่มิได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
3. การเชื่อมโยงทางธุรกิจ
- เป็นแรงจูงใจให้เกิดความสนใจในการเข้าร่วมลงทุนจากกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะเกื้อหนุนให้เกิดการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่บริษัทมากยิ่งขึ้น
- การมีแนวร่วม พันธมิตรทางธุรกิจ ที่สามารถเกื้อกูลระหว่างกันทั้งในด้านการตลาด การผลิต เทคโนโลยี การเงิน และบุคลากร ย่อมส่งผลให้เกิดความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน
4. การบริหารงานแบบมืออาชีพ
- มีส่วนช่วยกระตุ้นให้มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและรัดกุมมากขึ้น เนื่องจากบริษัทจะอยู่ในความสนใจของผู้ลงทุนโดยมีราคาหุ้นของบริษัทเป็นตัวสะท้อนความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อกิจการในระดับหนึ่ง
- มีเครื่องมือในการกำกับดูแลการบริหารกิจการให้เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพตลอดจนเพิ่มพูนประสิทธิผลในการประกอบธุรกิจ อันจะเป็นผลประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทโดยรวม
5. ความภาคภูมิใจของบุคลากรของบริษัท
- ความภาคภูมิใจของพนักงานของบริษัท หากบริษัทมีผลประกอบการและภาพลักษณ์ที่ดีมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ย่อมทำให้บุคลากรของบริษัทเกิดความรู้สึกที่ดีต่อบริษัท
- การสร้างความยึดมั่นหรือค่านิยมร่วม (shared value) ให้เกิดขึ้นในลักษณะของการกระตุ้นให้บุคลากรทุกฝ่ายได้ตระหนัก และมีส่วนร่วมต่อการสร้างชื่อเสียงและเกียรติคุณของบริษัท ย่อมจะเกิดผลดีต่อบริษัทในระยะยาว
6. สิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินปันผล
- บริษัทจดทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนไปถือหุ้นของบริษัทอื่นที่จัดตั้งตามกฎหมายไทยหรือกองทุนรวม เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทอื่นดังกล่าวจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ แต่เงินที่ได้รับดังกล่าวต้องเป็นเงินที่ได้รับจากหุ้นหรือหน่วยลงทุนที่ถือไว้ไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนและหลังวันที่ได้รับเงินปันผล
ประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น
1. เสริมสร้างสภาพคล่อง
- ช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท เนื่องจากผู้ถือหุ้นสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้สะดวกและง่ายในเวลาที่ต้องการ
- ทราบมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตามความต้องการของตลาด และใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมได้
2. ความคุ้มครองในการลงทุน
- ผู้ถือหุ้นจะได้รับความคุ้มครองในการลงทุน เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกฎระเบียบในการกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง พอเพียง ทันเวลาและเท่าเทียมกัน
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี
บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังนี้
- เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี
- ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับเงินปันผลจากบริษัทจดทะเบียนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% โดยผู้มีเงินได้ซึ่งอยู่ในประเทศไทย มีสิทธิที่จะเลือกดำเนินการดังนี้
1. ไม่นำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เฉพาะผู้มีเงินได้ที่ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืน หรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
2. นำเงินปันผลดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โดยจะได้รับการเครดิตภาษีคืนในภายหลัง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทจดทะเบียนที่มีการจ่ายเงิน ปันผลนั้นได้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (มูลค่าของการเครดิตภาษีสามารถคำนวณได้จากสูตร X / (100 – X) โดย X คืออัตราภาษีเงินได้ที่บริษัทได้เสียอยู่)
บทความโดย: https://www.dharmniti.co.th