การหาเงินทุน สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่

การหาเงินทุน สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจใหม่

       เรื่องเงินทุนคงจะไม่เป็นปัญหาต่อชีวิตของเราสักเท่าไร ถ้าหากเรายังไม่มีไอเดียดีๆ ในการทำธุรกิจ แต่คงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สุดสำหรับหลายๆ คนที่ดันมีไอเดียการทำธุรกิจมากมายแต่กลับไม่มีเงินมาลงทุนทำตามฝันของตัวเอง ส่งผลให้เรื่องเงินๆ ทองๆ เหล่านี้จึงกลายเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่น่าปวดหัวที่สุดสำหรับคนที่กำลังสนใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจเลยก็ว่าได้ และทุกวันนี้ข้ออ้างของคำว่าไม่มีเงินลงทุนกลายเป็นข้ออ้างยอดฮิต ที่ทำให้หลายๆ คนเลือกที่จะล้มเลิกความคิดในการทำธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย และนี่คือแหล่งเงินทุน พร้อมทั้งเทคนิคต่างๆ ในการหาเงินทุนที่จะทำให้ความฝันของการมีธุรกิจเป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
 
ธนาคาร แหล่งเงินทุนชั้นดี 
 
ธนาคารจะพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติวงเงินกู้จาก 2 หัวข้อหลักๆ คือจุดประสงค์ของการกู้ และความสามารถในการผ่อนชำระ
 
เมื่อนึกถึงเงินแล้ว แน่นอนว่าคนส่วนมากมักนึกถึงธนาคารเป็นอันดับแรก ยิ่งในปัจจุบันที่แต่ละธนาคารมีอัตราการแข่งขันที่สูงมาก จึงมีการปล่อยโปรโมชั่น เพิ่มวงเงิน ลดอัตราดอกเบี้ย กันยกใหญ่ อีกทั้งยังมีโปรแกรมกู้สินเชื่อในระดับ SME แล้วด้วย ธนาคารจึงถือเป็นแหล่งเงินทุนชั้นดีที่น่าใช้บริการหาเงินทุน แต่ทว่าสินเชื่อธนาคารนั้นก็ไม่ได้ให้เราได้ง่ายดายขนาดนั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วธนาคารไม่ได้ใกล้ชิดกับลูกค้าจนถึงขนาดไว้ใจได้ว่าการขอกู้งบไปทำธุรกิจนั้นจะสามารถแตกหน่อต่อยอดจนใช้หนี้คืนธนาคารได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ ทำให้ก่อนอื่นเราควรจะเข้าใจก่อนว่าธนาคารจะพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติวงเงินกู้จากอะไรบ้าง? ซึ่งโดยทั่วไปแล้วธนาคารจะวิเคราะห์จาก 2 หัวข้อหลักๆ นั่นก็คือจุดประสงค์ของการกู้ และความสามารถในการผ่อนชำระ

1. สร้างความแตกต่างบนจุดประสงค์เดียวกัน

ในส่วนของจุดประสงค์ในการกู้นั้น แน่นอนว่าสำหรับผู้ประกอบการแต่ละคนนั้นก็กู้เพื่อใช้เป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเหมือนกันหมด แต่ทว่าสิ่งที่แตกต่างก็คือเรื่องราวที่เราจะเล่าให้ธนาคารฟังว่าเรานั้นจะประกอบธุรกิจอะไร มีแผนการดำเนินงานอย่างไรบ้าง มององค์กรตัวเองในอนาคตอยู่ที่จุดไหนในตลาด และมีความก้าวหน้าเป็นอย่างไรบ้าง ดังนั้นสิ่งที่ชี้วัดของการกู้เงินในยกแรกนี้อยู่ที่ว่าใครที่เป็นนักเล่าเรื่องได้ดีกว่า และพร้อมโน้มน้าวผู้ฟังให้เชื่อได้มากกว่าว่าเราจะทำได้จริงๆ ก็จะเป็นผู้ชนะของยกนี้ ทำให้การเตรียมตัวและการวางแผนธุรกิจไว้ก่อนอย่างละเอียดจึงถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในการดำเนินการขอสินเชื่อ เพราะเมื่อเราทำให้ธนาคารฟังเราอย่างสนอกสนใจได้ ก็เหมือนเรามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
 
2. พิสูจน์ความสามารถในการใช้หนี้

อย่างที่บอกไปว่าธนาคารนั้นไม่ได้ใกล้ชิดกับลูกค้าจนสามารถรู้ว่าใครมีความสามารถในการชำระหนี้คืนได้มากแค่ไหน แม้ว่าจะได้รับฟังจุดประสงค์และแผนการดำเนินงานมามากแค่ไหนก็ยังไม่สามารถทำนายอนาคตได้ 100% ว่าธุรกิจที่ปล่อยเงินให้กู้ไปนั้นจะประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นหลักฐานทางการเงินและทรัพย์สินต่างๆ จึงถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ใช้ค้ำประกันได้เป็นอย่างดีถ้าหากเกิดเหตุร้ายกับธุรกิจของเราเอง ซึ่งหลักฐานที่ใช้ค้ำประกันเหล่านี้ก็คือพวกอาคารสำนักงาน และที่ดินที่มีไว้ในครอบครอง (แต่ต้องไม่ถูกใช้เป็นสถานที่ประกอบการ) รวมไปถึงทรัพย์สินต่างๆ ขององค์กรเชน รถยนต์ เครื่องจักร โต๊ะ ตู้ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่มีมูลค่าพอที่จะนำไปใช้หนี้ได้ 

รวมไปถึงใบ Statement ที่แสดงให้ธนาคารเห็นถึงสภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร มีเงินสดไว้ในครอบครองมากแค่ไหนด้วย เพราะธนาคารนั้นจะพิจารณาสินเชื่อให้กับเราในอัตราตั้งแต่ 60-150% ของมูลค่าหลักประกันด้วย แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับวงเงินกู้ด้วยว่ามากแค่ไหน และจำนวนปีที่ชำระคืนว่ามีระยะเวลานานเท่าใด
 
ซึ่งโดยหลักการแล้วจำนวนเงินที่ขอกู้นั้นจะต้องถูกคำนวณมาเป็นอย่างดีว่ามีความต้องการจริงๆ เท่าไร เพราะการขอกู้มากเกินไปก็จะทำให้ธนาคารอนุมัติยากขึ้น แต่ถ้าขอกู้น้อยเกินไปอีกก็จะส่งผลกระทบต่อระบบเงินหมุนเวียนในธุรกิจที่ตามมาในอนาคตจนอาจทำให้ผ่อนชำระคืนธนาคารไม่ทัน ส่วนระยะเวลาจำนวนปีที่ชำระนั้นโดยส่วนมากจะขึ้นอยู่กับความพร้อมใจกันทั้งฝ่ายธนาคารและตัวเราเอง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนเงินกู้ด้วยว่ามากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปแล้วระยะผ่อนชำระที่ธนาคารพอใจจะอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปี แต่ถ้าเรามีเครดิตที่ดีกับธนาคารและไม่เคยผิดนัดชำระมาก่อนก็อาจจะได้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่านั้นก็ได้

กู้เงินทั้งทีอย่าลืมคิดถึงดอกเบี้ย
 
แน่นอนว่าบนโลกนี้ไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ การกู้เงินมานั้นย่อมมีผลที่ตามมานั่นก็คือดอกเบี้ยจำนวนมหาศาลที่บางครั้งแทบจะมีค่าเท่าเงินต้นที่กู้มาเลยด้วยซ้ำ ดังนั้นก่อนจะกู้เงินมา ควรคิดให้ดีก่อนว่าทั้งหมดนี้เราจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราเท่าไร และรวมทั้งหมดแล้วต้องเสียเป็นจำนวนเท่าไรด้วย เพราะแต่ละธนาคารนั้นก็จะมีโปรแกรมสินเชื่อที่ต่างกันออกไป ทั้งแบบที่เสียดอกน้อยในช่วงต้น และเสียดอกเบี้ยแบบลอยตัวในช่วงหลังๆ หรือแบบที่เสียดอกในอัตราคงตัวตลอด ซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องคิดให้ดีว่าเราต้องการผ่อนชำระหนี้ในระยะสั้นหรือระยะยาวเพื่อเลือกโปรแกรมที่เหมาะสมกับเรามากที่สุด
 
โดยที่การวางแผนการผ่อนชำระหนี้ว่าในแต่ละเดือนนั้น ต้องดูว่าเรามีกำลังที่จะโปะหนี้ก้อนใหญ่นี้ได้มากเท่าไรโดยที่ไม่มีผลกระทบต่อเงินที่หมุนเวียนอยู่ในธุรกิจด้วย เพราะถ้าหากเราเกิดวางแผนผิดพลาดจนผิดนัดชำระสักเดือนแล้วล่ะก็ ดอกเบี้ยในวันถัดมาจะเป็นฝันร้ายที่น่ากลัวที่สุดของเราเลยล่ะ

นักลงทุน = หนทางต่อไปเมื่อธนาคารไม่ให้กู้
 
หลังจากที่เราเตรียมตัวในการขอสินเชื่ออย่างดีแล้ว แต่สุดท้ายธนาคารก็ยังไม่เห็นใจให้เราอนุมัติ เราก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากเดินหน้าและหาแหล่งเงินทุนอื่นต่อไป ซึ่งในแหล่งเงินทุนในส่วนนี้อาจจะยังไม่ได้รับความนิยมมากนักในไทย แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีแนวโน้มของกลุ่มนักลงทุนที่พร้อมให้โอกาสธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้นแล้ว จึงถือว่านักลงทุนนั้นเป็นอีกแหล่งเงินทุนที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
 
ก่อนอื่นนั้นเราต้องเข้าใจนักลงทุนก่อนว่า นักลงทุนนั้นแตกต่างกับธนาคารค่อนข้างมาก เพราะในขณะที่ธนาคารนั้นได้ประโยชน์จากการกู้ยืมของเราในรูปแบบของดอกเบี้ยที่เราต้องชำระคืนไปพร้อมกับเงินต้นเป็นงวดๆ ไป แต่สำหรับนักลงทุนแล้วนั้นหวังผลประโยชน์ในการครอบครองหุ้นหรือการมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเรา นั่นหมายความว่านักลงทุนนั้นจะยอมให้เงินลงทุนในธุรกิจของเราก็ต่อเมื่อเห็นว่าองค์กรของเรานั้นมีการเติบโตและตัวเลขผลประกอบการของบริษัทที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
 
ดังนั้นหัวใจของความสำเร็จในการเรียกบรรดานักลงทุนให้มาร่วมลงทุนกับเรานั้นก็คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าเราสามารถทำได้ และเราสามารถสร้างกำไรให้กับพวกเขาได้นั่นเอง ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จนั้นอยู่ที่มนุษย์สัมพันธ์ที่ดี และการเปิดใจให้กว้างเพื่อพร้อมรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มคนที่ต้องการเข้ามาร่วมลงทุน เพียงเท่านี้ก็เป็นการเริ่มต้นก้าวแรกที่สวยงามแล้ว

สรุป
 
การขอเงินทุนทั้งหมดนี้ไม่ว่าจะเป็นจากธนาคาร หรือผู้ลงทุนนั้น กุญแจสำคัญที่สุดคือการเตรียมตัวที่ดี และมีมนุษย์สัมพันธ์ เพราะการขอเงินลงทุนนั้นจะต้องมีความมั่นใจในงานที่ตัวเองกำลังนำเสนอ ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เพื่อโน้มน้าวผู้ฟังให้เชื่อในสิ่งที่เรากำลังพูดมากขึ้น และพร้อมที่จะให้เงินลงทุนกับเรา รวมไปถึงการเปิดใจพร้อมรับฟังทุกคำถามและเลือกที่จะตอบอย่างชาญฉลาด รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ดี เพียงเท่านี้การหาเงินลงทุนก็คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเราอีกต่อไป 

บทความโดย: http://www.thaifranchisecenter.com

 2988
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores