19 หลักการ “การปรับปรุงโครงสร้างหนี้”

19 หลักการ “การปรับปรุงโครงสร้างหนี้”

หลักการปรับโครงสร้างหนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกรอบการปรับโครงสร้างหนี้นอกกระบวนการล้มละลายของศาลสำหรับกิจการที่มีศักยภาพพอที่จะปรับโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ ลูกจ้าง และผู้ถือหุ้น อันเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยโดย 1. ใช้การแก้ไขปัญหาแบบร่วมมือกันเป็นการภายในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสบความสูญเสียน้อยที่สุด 2. หลีกเลี่ยงการดำเนินการใด ๆ ที่ไม่จำเป็นและเป็นผลนำไปสู่การเลิกกิจการของบริษัทลูกหนี้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาสถานภาพของการจ้างงานและความสามารถในการผลิตในทุกกรณีที่สามารถจะกระทำได้ หลักการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

หลักการที่ 1 การดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้กิจการทุกขั้นตอนควรมุ่งให้มีการปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้ มากกว่าปรับโครงสร้างทางการเงินเท่านั้น เพื่อให้ลูกหนี้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่อไป ผู้ที่มีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้กิจการต้องให้ความสำคัญแก่วัตถุประสงค์หลักของการปรับโครงสร้างหนี้ กล่าวคือ ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะช่วยให้บริษัทไทยกลับมามีความสามารถดำเนินการต่อสู้และแข่งขันได้ภายในระยะเวลาอันสมควร ถึงแม้ว่าการผ่อนปรนหนี้ในระยะสั้นโดยการลดหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งการให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้อาจจะไม่ทำให้ลูกหนี้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาวได้ แต่การผ่อนปรนหนี้ดังกล่าวก็จะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถดำเนินการตามแผนธุรกิจได้และจะส่งผลให้ลูกหนี้ทำกำไรในระยะยาวได้ แผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่นำเสนอแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องผ่านการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ของแผนธุรกิจ เพื่อให้เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าเจ้าหนี้จะได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ยอมรับได้ และในขณะเดียวกันลูกหนี้ก็จะต้องมีความสามารถในการทำกำไรและสามารถแข่งขันได้ในระยะยาวเพื่อให้กิจการของลูกหนี้มีส่วนร่วมสร้างสรรเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ การปรับโครงสร้างทางธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ตามแนวทางนี้จะต้องมุ่งเน้นความสามารถในการแข่งขันของลูกหนี้ต่อไปในตลาดโดยมุ่งเน้นแผนธุรกิจซึ่งจะทำให้กิจการลูกหนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้ เมื่อสิ้นสุดการผ่อนปรนหนี้ในระยะสั้นแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่บรรดาเจ้าหนี้ได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น สิ่งจำเป็นประการแรกสำหรับการชี้ขาดว่ากิจการมีศักยภาพที่จะแข่งขันในตลาดต่อไปได้หรือไม่นั้นคือการที่ลูกหนี้ต้องยอมผูกพันที่จะแต่งตั้งนักบัญชีอิสระที่เป็นที่เชื่อถือหรือผู้เชี่ยวชาญอิสระซึ่งเสนอโดยเจ้าหนี้เป็นที่ปรึกษาเพื่อทำการตรวจสอบเอกสารและข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับฐานะการดำเนินงานของลูกหนี้ (ตามหลักการที่ 9) โดยลูกหนี้จะต้องจัดหาข้อมูลทางการเงินและการบริหารงานที่ถูกต้องเชื่อถือได้ของบริษัทลูกหนี้ให้แก่ที่ปรึกษาเพื่อพิจารณาชี้ขาดว่าบริษัทมีศักยภาพสามารถแข่งขันในอนาคตได้หรือไม่ (ดูหลักการที่ 8) โดยที่ลูกหนี้เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและเข้าใจสภาวะตลาดมากที่สุด จึงควรที่จะรู้ดีว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและทำกำไรได้ประกอบด้วยอะไรบ้าง ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ลูกหนี้มีโอกาสรับคำปรึกษาจากที่ปรึกษามืออาชีพและตัวแทนของเจ้าหนี้เพื่อเตรียมการให้ฝ่ายบริหารของลูกหนี้นำเสนอแผนธุรกิจในรายละเอียด รวมถึงแผนกระแสเงินสด ซึ่งมีข้อมูลที่โปร่งใสและสามารถปฏิบัติได้ โดยให้ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ลูกหนี้

หลักการที่ 2 มุ่งให้ความสำคัญในการฟื้นฟูแก้ไขหนี้ที่มีปัญหาเพื่อให้กลับมามีสถานะเป็นหนี้ที่สามารถชำระหนี้ได้โดยครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ข้อที่จะต้องพิจารณาเป็นพิเศษในแผนการปรับโครงสร้างหนี้คือ มาตรการที่ช่วยให้ลูกหนี้ฟื้นคืนสู่สภาพการเป็นลูกหนี้ที่สามารถชำระหนี้ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยได้โดยเร็วที่สุด

หลักการที่ 3 การปรับโครงสร้างหนี้ในแต่ละขั้นตอนจะต้องมีการดำเนินการอย่างทันท่วงที ความล่าช้าในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จะลดโอกาสในความสำเร็จของแผนการฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ และจะก่อให้เกิดผลเสียต่อเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ถือหุ้น

หลักการที่ 4 หากฝ่ายบริหารของลูกหนี้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่การประชุมร่วมกันครั้งแรกระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เป็นต้นไป และให้ความร่วมมือเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเจ้าหนี้ทุกครั้ง เจ้าหนี้ก็จะสามารถตกลงกัน "หยุดกระทำการ" ในช่วงระยะเวลาตามที่จะได้กำหนดไว้ ซึ่งอาจจะขยายเวลาออกไปได้ ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาได้พิจารณาเรื่องต่าง ๆ และตัดสินใจอย่างรอบคอบ การหยุดกระทำการในกรณีทั่วไปจะมีระยะเวลาจำกัดน้อยกว่าหกสิบวันในช่วงแรกหรือระยะเวลาอันจำเป็นต้องใช้ในการรวบรวมข้อมูลและการประเมินผลเบื้องต้นว่าลูกหนี้มีศักยภาพในเชิงธุรกิจเพียงพอที่สมควรจะมีการปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ เวลาหยุดกระทำการอาจขยายออกไปได้ในระหว่างที่ยังไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเต็มรูปแบบ หากจากการพิจารณาแผนธุรกิจปรากฏว่าลูกหนี้มีศักยภาพในเชิงธุรกิจ ในช่วงที่มีการหยุดกระทำการเจ้าหนี้แต่ละรายไม่ควรทำการต่อไปนี้ 1. แก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสินเชื่อ 2. รับหลักประกันหรือหนังสือค้ำประกันเพิ่มเติม 3. เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้หรือบอกกล่าวให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนหนี้ถึงกำหนด 4. คิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัด 5. ดำเนินการรวบรวมทรัพย์สินหรือดำเนินคดีล้มละลาย 6. บังคับหลักประกัน ยกเว้นสิทธิในการหักกลบลบหนี้ ในช่วงที่มีการหยุดกระทำการ ลูกหนี้ไม่ควรทำการดังต่อไปนี้ เว้นแต่ลูกหนี้ได้รับความยินยอมจากบรรดาเจ้าหนี้ 1. ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายโดยปกติในทางการค้าของลูกหนี้ 2. จำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินใดๆ นอกเหนือจากการจำหน่ายจ่ายโอนโดยปกติในทางการค้าของลูกหนี้ 3. ให้กู้ยืมเงิน 4. ทำธุรกรรมใด ๆ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากในทางการค้าปกติและในลักษณะที่ลูกหนี้จะพึงทำกับผู้ที่มิใช่บุคคลที่เกี่ยวข้อง 5. ก่อภาระผูกพันเพิ่มเติมใด ๆ แก่หลักประกัน หรือก่อภาระผูกพันใด ๆ เพิ่มเติมในส่วนทรัพย์สินของลูกหนี้ 6. ชำระเงินใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการให้บุริมสิทธิแก่ผู้รับชำระเงิน หรือชำระเงินใด ๆ อันอาจเป็นการให้สิทธิที่ดีกว่าแก่ผู้รับชำระเงิน 7. ทำธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ SWAP หรืออนุพันธ์ทางการเงินเว้นแต่ในทางการค้าโดยปกติของลูกหนี้ เพื่อบริหารความเสี่ยงทางการค้าที่มีอยู่ เจ้าหนี้รายใดที่ไม่ประสงค์จะอยู่ภายใต้ข้อตกลงหยุดกระทำการต้องแจ้งให้ธนาคารที่เป็นแกนนำทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างน้อยสามวันทำการของธนาคารพาณิชย์ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ กับลูกหนี้ หลักการที่ 5 มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารระดับสูงของเจ้าหนี้และลูกหนี้จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างสำคัญตลอดกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ในการประชุมทุกครั้งตัวแทนของเจ้าหนี้ต้องแจ้งให้ผู้บริหารระดับที่มีอำนาจตัดสินใจทร

าบถึงความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้และต้องขอรับความคิดเห็นจากผู้บริหาร ทุกขั้นตอน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำขอข้อมูลเพิ่มเติม) ต้องแจ้งให้ผู้บริหารที่มีอำนาจตัดสินใจ ทราบกำหนดระยะเวลาที่องค์กรจะต้องดำเนินการ เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่เข้าร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้ต้องมีอำนาจเจรจาในนามของสถาบันของตัวเองได้ ผู้บริหารของเจ้าหนี้ต้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสถาบันของตนจะไม่นำข้อมูลที่ได้รับไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ใช้ข้อมูลในลักษณะ insider trading หรือใช้ข้อมูลไปในทางใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือข้อห้ามตามกฎหมาย และจะต้องควบคุมดูแลมิให้บุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ล่วงรู้ถึงข้อมูลที่มิได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเหล่านี้ด้วย ฝ่ายบริหารของลูกหนี้ควรจะจัดทำเอกสารและส่งมอบข้อมูลต่าง ๆ ภายในเวลาที่กำหนด ฝ่ายบริหารของลูกหนี้หรือผู้ที่มีอำนาจกระทำการแทนลูกหนี้สำหรับบรรดากิจการทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้จะต้องเข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้ง

หลักการที่ 6 สถาบันที่เป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างหนี้ และบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันดังกล่าว ต้องได้รับการแต่งตั้งในระยะเริ่มแรกของการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อจัดการและประสานงานเรื่องต่าง ๆ ทั้งหมดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ เจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันแกนนำในการปรับโครงสร้างหนี้ควรจะกำหนดเป้าหมายและกำหนดเวลา จัดให้มีการประชุมระหว่างเจ้าหนี้ด้วยกันช่วยแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าหนี้ ประสานงานกับบรรดาที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาอื่น ๆ เป็นผู้นำในการเจรจากับลูกหนี้ รวมทั้งทำหน้าที่รวบรวมและจัดส่งข้อมูลให้บรรดาเจ้าหนี้อื่นทั้งหมด สถาบันที่เป็นแกนนำต้องกำหนดแผนการปฏิบัติงานและกำหนดกรอบเวลาเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ สถาบันที่เป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างหนี้ ควรจะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 1. มีคุณสมบัติเหมาะสมและมีความรู้ความชำนาญเพียงพอที่จะสามารถจัดการขั้นตอนต่างๆ ทั้งหมดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลักตามกำหนดเวลาต่าง ๆ โดยครบถ้วน 2. มีความสัมพันธ์ในด้านวิชาชีพกับฝ่ายบริหารระดับสูงของลูกหนี้เป็นอย่างดี 3. เป็นเจ้าหนี้รายที่มีนัยสำคัญของลูกหนี้ สถาบันที่เป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างหนี้อาจจะไม่สามารถให้ข้อเสนอที่จะมีผลบังคับตามกฎหมายต่อเจ้าหนี้อื่น แต่บรรดาเจ้าอื่นทั้งหมดควรจะให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเห็นและคำแนะนำของสถาบันที่เป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าว

หลักการที่ 7 ในกรณีการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการเจ้าหนี้โดยมีตัวแทนจากกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีผลประโยชน์หลากหลายต่างกัน คณะกรรมการเจ้าหนี้ควรจะมีขนาดที่เหมาะสม โดยมีตัวแทนที่เลือกจากกลุ่มเจ้าหนี้ทุกกลุ่มโดยไม่คำนึงว่าเจ้าหนี้รายนั้น ๆ เป็นเจ้าหนี้ประเภทใดหรือมีจำนวนหนี้มากน้อยเพียงใด เจ้าหนี้ทุกรายต้องรู้สึกว่าส่วนได้เสียของตนได้รับความคุ้มครองและเอาใจใส่และตนมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการปรับโครงสร้างหนี้ กรรมการแต่ละรายของคณะกรรมการเจ้าหนี้ควรจะได้รับมอบหมายให้ดูแลเจ้าหนี้จำนวนหนึ่งและให้ข้อมูลแก่เจ้าหนี้เหล่านั้นและดำเนินการขอความร่วมมือจากเจ้าหนี้เหล่านั้นอย่างจริงจังตลอดทุกขั้นตอนของการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าหากคณะกรรมการมิได้ดำเนินการดังกล่าว อาจเกิดความล่าช้าหรือไม่ได้รับความร่วมมือ และเป็นไปได้ที่การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้จะล้มเหลวในเวลาต่อมา หลังจากเสียค่าใชัจ่ายเป็นจำนวนมากแล้ว คณะกรรมการเจ้าหนี้ควรจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆให้แก่สถาบันที่เป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการเจรจาต่างๆ สถาบันที่เป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างหนี้ควรจะทำหน้าที่เป็นประธานของคณะกรรมการเจ้าหนี้ กรรมการของคณะกรรมการเจ้าหนี้ไม่ควรจะมีอำนาจในการก่อความผูกพันในนามของเจ้าหนี้อื่นใด หรือในนามของสถาบันที่เป็นแกนนำในการปรับโครงสร้างหนี้

หลักการที่ 8 การตัดสินใจในการปรับโครงสร้างหนี้ควรกระทำโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับลูกหนี้ที่ครบถ้วนและสมบูรณ์และได้ผ่านการตรวจสอบแล้ว เพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส

หลักการที่ 9 ในกรณีที่มีการแต่งตั้งนักบัญชี ทนายความ และที่ปรึกษา บุคคลดังกล่าวควรมีความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับประเทศไทย ความชำนาญพิเศษ และทรัพยากรต่างๆ เพียงพอที่จะทุ่มเทให้กับงานได้

หลักการที่ 10 แม้จะเป็นประเพณีปฏิบัติตามปกติที่ลูกหนี้จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาด้านวิชาชีพ รวมทั้งค่าใช้จ่ายของสถาบันที่เป็นแกนนำ และคณะกรรมการเจ้าหนี้ แต่เจ้าหนี้ซึ่งผู้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการปรับโครงสร้างหนี้ ก็มีความรับผิดชอบทางวิชาชีพที่จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายดังกล่าว ในกรณีที่การปรับโครงสร้างหนี้ไม่สำเร็จ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมวิชาชีพ และค่าใช้จ่ายของสถาบันที่เป็นแกนนำและกรรมการของคณะกรรมการเจ้าหนี้ควรมีสิทธิได้เบิกค่าใช้จ่ายที่ตนได้จ่ายไปตามสัดส่วนของมูลหนี้โดยถือว่าเป็นหนี้ที่อยู่ในลำดับก่อนเจ้าหนี้อื่น

หลักการที่ 11 ควรมีการรายงานความคืบหน้าของการปรับโครงสร้างหนี้ให้กระทรวงการคลัง (กค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทราบเป็นระยะ ๆ เพื่อให้มีการทบทวนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการปรับโครงสร้างหนี้

หลักการที่ 12 บทบาทของคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ คณะกรรมการฯ มีหน้าที่ติดตามพัฒนาการของการปรับโครงสร้างหนี้ คณะกรรมการฯ จะทำการทบทวน หรือกำหนดนโยบาย เพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ คณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่เป็นอิสระ เพื่อช่วยผลักดันให้การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ที่มีอุปสรรค หรือติดปัญหาใด ๆ ในการเจรจา ให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีความยุ่งยาก หรือมีท่าทีว่าจะเกิดความล้มเหลวในการดำเนินการ

หลักการที่ 13 ให้สิทธิเหนือหลักประกันของเจ้าหนี้ในปัจจุบันคงมีอยู่ต่อไป เจ้าหนี้ผู้มีหลักประกันซึ่งเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินกิจการของลูกหนี้ไม่ควรถูกบังคับให้สละหลักประกันโดยไม่มีสิ่งตอบแทนที่พอเพียง อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้ผู้มีหลักประกันซึ่งเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ไม่มีความสำคัญต่อการดำเนินกิจการของลูกหนี้อาจทำการเจรจาต่อรองกับลูกหนื้เพื่อบังคับเอากับทรัพย์สินดังกล่าวโดยสมัครใจได้ โดยการตกลงกัน เงินส่วนเกินที่ลูกหนี้ได้จากการขายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือเงินส่วนที่เกินกว่าหนี้ที่ฟ้องเรียกชำระที่เจ้าหนี้มีประกันได้จากการขายทรัพย์สินของลูกหนี้ ควรจะนำฝากไว้ในบัญชีผู้แทน (Escrow account) และต้องนำมาแบ่งชำระให้แก่เจ้าหนี้ทุกรายตามสัดส่วนของหนี้ที่ให้แก่ลูกหนี้ เจ้าหนี้ที่มีหลักประกันไม่คุ้มหนี้ควรเข้ามีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้ในจำนวนเท่ากับส่วนต่างของหนี้ที่ตนขอรับชำระทั้งหมดกับมูลค่าของหลักประกันที่ไม่มีความสำคัญต่อกิจการของลูกหนี้ซึ่งเป็นประกันหนี้ของตน

หลักการที่ 14 เจ้าหนี้ที่ให้สินเชื่อใหม่แก่ลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นจากยอดคงค้าง ณ วันที่หยุดกระทำการและโดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงที่เป็นธรรมเพื่อช่วยให้ลูกหนี้ดำเนินกิจการต่อไปได้ควรได้รับสิทธิชำระหนี้ในลำดับก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ให้ขึ้นอยู่กับบุริมสิทธิ์เหนือหลักประกัน และข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้ด้วย

หลักการที่ 15 ผู้ให้กู้ควรดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการให้กู้ลง ซึ่งจะทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ต้องการ โดยควรให้ความสำคัญแก่หลักประกัน และผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่ลูกหนี้มีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นมากกว่ามุ่งที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยและเรียกค่าธรรมเนียมในการปรับโครงสร้างหนี้ในอัตราที่สูง

หลักการที่ 16 ในบางสถานการณ์เจ้าหนี้บางรายอาจขายหนี้ของตัวเองให้บุคคลอื่นได้ แต่ทั้งนี้เจ้าหนี้ดังกล่าว ควรถือเป็นความรับผิดชอบด้านวิชาชีพที่จะดูแลมิให้เจ้าหนี้รายใหม่ที่ซื้อหนี้ไปกระทำการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างหนี้

หลักการที่ 17 ความเสียหายที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ควรจะเฉลี่ยในระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างยุติธรรม โดยคำนึงถึงลำดับการได้รับชำระหนี้ก่อนหลังตามกฎหมาย ในการดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ ผู้ถือหุ้นของลูกหนี้ และเจ้าหนี้ของลูกหนี้ต้องตระเตรียมที่จะให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันในการผ่อนปรนหนี้ ลูกหนี้ควรรองรับความเสียหาย โดยการตัดจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ไม่สำคัญทิ้งไป เลิกหรือเลื่อนการขยายการลงทุนที่ไม่จำเป็น รวมทั้งต้องงดจ่ายเงินโบนัสตอบแทน และสินทรัพย์ หรือการจ่ายเงินที่ไม่จำเป็นอื่นๆ ควรให้ผู้ถือหุ้นเป็นผู้แบกรับความเสียหายในลำดับต่อไป โดยการงดจ่ายเงินปันผล งดการชำระเงินระหว่างบริษัทในเครือ และการจ่ายเงินอื่นๆ ความเสียหายของเจ้าหนี้ควรเฉลี่ยกันรับผิดชอบระหว่างเจ้าหนี้ในลำดับสิทธิเดียวกัน โดยรับผิดชอบเป็นสัดส่วนกับหนี้ ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้หลักการที่ 13 ว่าด้วยสิทธิของเจ้าหนี้มีประกัน

หลักการที่ 18 เจ้าหนี้แต่ละรายยังคงสามารถบังคับใช้สิทธิของตนได้โดยอิสระบนพื้นฐานของผลประโยชน์ได้เสียของตน แต่เจ้าหนี้ควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของการบังคับใช้สิทธิที่จะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ต่อเจ้าหนี้รายอื่นและลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้อาจยังคงมีสิทธิดำเนินการบังคับสิทธิของตนได้โดยอิสระ อย่างไรก็ตามเจ้าหนี้แต่ละรายจะต้องไม่ดำเนินการใด ๆ โดยไม่เปิดเผยเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้หรือได้หลักประกันเพิ่มในระหว่างที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ หลักการที่ 19 การยกเว้นหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักการ หรือยกเลิกหลักการข้อหนึ่งข้อใดข้างต้นในการปรับโครงสร้างหนี้รายใดอาจกระทำได้ โดยได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ทั้งหมดที่เข้าร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นการบริหารจัดการหนี้สินนอกกระบวนการล้มละลายโดยมีสถาบันการเงินเป็นแกนนำ ซึ่งต่างจากการฟื้นฟูกิจการอันเป็นการบริหารจัดการหนี้สินในกระบวนการล้มละลาย


บทความโดย : TerraBKK.com 

 2807
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores