สวัสดีคร้าบบบ พบกันอีกครั้งกับ @TAXBugnoms ในเดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรักที่คนไม่มีคู่ต้องรู้สึกเหงาอีกแล้วสินะ แหม่.. วันเวลาผ่านไปเร็วจริงๆนะครับ นี่ก็ผ่านปีใหม่มาตั้งหนึ่งเดือนแล้ว ว่าแต่ลืมเป้าหมายในปีใหม่กันไปแล้วหรือยังเอ่ยยย (ล้อเล่นนะครับ แหะๆ) แต่เชื่อไหมครับว่า เมื่อเดือนที่แล้ว แค่ผ่านพ้นปีใหม่ไปไม่ทันไร รัฐบาลก็ออกกฎหมายฉบับใหม่เรื่องภาษีกันมาแบบที่เรียกว่า “เซอร์ไพร้สสสส” กันอีกแล้ววว โดยกฎหมายฉบับนี้มาจากแนวคิดเรื่อง “มาตรการบัญชีเล่มเดียวและการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SMEs” หรือที่ใครหลายคนเรียกมันว่า “นิรโทษกรรมทางภาษี” นั่นเองครับ!
ข่าวการ “ยกเว้น” ความผิด และ “ลดอัตรา” ภาษีที่ว่านี้ เรียกได้ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมากเลยล่ะครับ แหม่.จะไม่ให้พูดถึงมากได้อย่างไร ก็ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 กฎหมายภาษีใหม่ก็ออกมาทันที 2 ฉบับแถมประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้เรียบร้อยอีกต่างหาก โดยเจ้ากฎหมายที่ว่านี้ มีชื่อเต็มๆว่า พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฎิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร และ พระราชกฤษฏีกาออกความตามประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 595) นั่นเองครับทีนี้เรามาลงลึกในรายละเอียดกันดีกว่าครับว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร และเนื้อหาที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรายังไงกันบ้าง ในตอนนี้ผมขอเริ่มที่กฎหมายฉบับแรกก่อนเลยครับ กับ “พระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฎิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร” โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดในหรือก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ไม่เกิน 500 ล้านบาท และจดแจ้งการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีเล่มเดียว) ต่อกรมสรรพากร จะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง ซึ่งการออกกฎหมายโดยตราเป็นพระราชกำหนดนั้น มีเหตุผลเนื่องจากเป็นกฎหมายเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีอากร ซึ่งต้องพัฒนาโดยด่วนและลับ เพราะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศนั่นเองครับ ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะเปิดให้มีการจดแจ้งการใช้บัญชีเล่มเดียวผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ถึง 15 มีนาคม พ.ศ. 2559 อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราจะเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า “นิรโทษกรรม” แต่ทางกรมสรรพากรก็ได้ตอบคำถามไว้ว่า พระราชกำหนดฉบับนี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรมทางภาษี แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฏากร สำหรับกิจการที่มาจดแจ้งต่อกรมสรรพากรในการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ (หลายคนอาจจะสงสัยนะครับว่ามันต่างกันยังไง … แต่พี่สรรพากรบอกไว้ว่าไม่ต่างก็ไม่ต่างละกันครับ) ถ้ามองลึกลงไปในรายละเอียดของกฎหมายฉบับแรกนี้ เราจะเห็นว่าจริงๆแล้วผู้ที่ได้ประโยชน์ คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีครบกำหนด 12 เดือนที่ผ่านมา และมีวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดก่อนหรือในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งจะได้รับสิทธิ ยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฏากร ดังนี้ครับ
ประเภทภาษี | ช่วงเวลาที่ได้รับการยกเว้น |
ภาษีเงินได้นิติบุคคล | :รอบที่มีวันเริ่มต้นก่อน 1 มกราคม 2559 |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม | :ฐานภาษีของเดือนธันวาคม 2558 และก่อนหน้า |
ภาษีธุรกิจเฉพาะ | :รายรับของเดือนธันวาคม 2558 และก่อนหน้า |
อากรแสตมป์ | :ตราสารที่กระทำขึ้นก่อน 1 มกราคม 2559 |
อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่ว่านี้ ไม่ได้ให้สิทธิแก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบภาษีอากร หรือเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หรืออยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นศาล ครับ อ้อ.. แน่นอนครับว่ารวมถึงบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จดทะเบียนประกอบกิจการหลังจากวันที่ 1 มกราคม 2559 นี้ด้วยนะครับ และบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรอบบัญชียังไม่ครบ 12 เดือน ก็ไม่สามารถใช้สิทธิตามเงื่อนไขนี้ได้เช่นเดียวกัน นี่คือจุดเริ่มต้นของกฎหมายฉบับแรก ซึ่งผมเข้าใจว่า เป็นอีกแนวทางในการกระตุ้นให้ประเทศไทยและคนในประเทศนั้นทำธุรกิจต่างๆ อย่างถูกต้องตามระบบกฎหมาย โดยให้โอกาสงดเว้นสิ่งที่ผิดพลาดมาในอดีต แต่ถ้ามองอีกทางหนึ่งก็คือ นี่คือหนทางที่ธุรกิจทุกประเภทต้องเข้าสู่ระบบภาษีอากรและเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย และที่สำคัญกรมสรรพากรยังมีแนวทางไว้ว่า หากบริษัทไม่ปฎิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนด จะถูกดำเนินการเพิกถอนสิทธิยกเว้นการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง (พูดสั้นว่า โดนแน่) และถือว่าไม่เคยได้รับสิทธิใดๆอีกต่างหาก ซึ่งจะมีผลกระทบกับการลดอัตราภาษีที่ผมจะพูดในตอนต่อไปครับ สุดท้ายแล้ว ถึงแม้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นนิรโทษกรรมทางภาษี หรือไม่ใช่นิรโทษกรรมทางภาษีก็ตาม และการออกมาของกฎหมายฉบับนี้อาจจะทำให้เกิดความถูกต้องที่ชัดเจนมากขึ้นจากการที่นิติบุคคลต่างๆ เข้ามาสู่ระบบการตรวจสอบและลงทะเบียนกับทางสรรพากร รวมถึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ สร้างโอกาสใหม่ให้กับผู้ที่เคยทำผิดก็ตาม… แต่คำถามที่ผมยังตอบไม่ได้ก็คือ แล้วสำหรับคนที่ทำถูกต้องมาโดยตลอดนั้น เขาได้อะไรบ้าง นอกจากคำว่า”คนดี” ที่ไม่มีประโยชน์ใดๆเลย
บทความโดย : https://www.dha.co.th