เปรียบเทียบหนี้เงินกู้ นอกระบบ VS ในระบบ

เปรียบเทียบหนี้เงินกู้ นอกระบบ VS ในระบบ

ในยุคที่สภาพเศรษฐกิจฝืดเคืองอย่างนี้ การกู้เงิน คงจะเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งที่ใครหลายคนใช้เป็นทางออก

การกู้เงินที่มีปรากฏในยุคนี้ มีทั้งที่เป็นเงินกู้ในระบบ และเงินกู้นอกระบบ มีหลายสถาบันทางการเงิน องค์กรเอกชนหลายเจ้าที่เปิดให้กู้เงินทั้งในและนอกระบบ อีกทั้งยังมีการแปะประกาศตามรั้ว ตามเสาไฟฟ้ากันให้เกลื่อนไปหมด เรียกได้ว่า มีตัวเลือกทางการเงินมาให้เยอะมากจริง ๆ บางคนเลือกกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในระบบ แต่ในขณะเดียวกันบางคนก็เลือกที่จะกู้จากแหล่งเงินกู้นอกระบบและมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าแหล่งเงินกู้ในระบบกับแหล่งเงินกู้นอกระบบมีความแตกต่างกันอย่างไร จนสุดท้ายเผลอไปกู้เงินนอกระบบสุดโหดมา และทำให้ชีวิตต้องตกอยู่ในอันตราย

เพราะฉะนั้น เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่เข้าใจได้มากยิ่งขึ้นว่า หนี้เงินกู้นอกระบบกับหนี้เงินกู้ในระบบต่างกันอย่างไร เราจะมาทำความเข้าใจถึงความหมายของสองสิ่งนี้กัน จากนั้นเราจะเปรียบเทียบจุดเหมือน จุดต่าง ข้อดีและข้อเสียต่อไป เผื่อว่าใครที่กำลังคิดจะหาทุนจากการกู้เงินจะได้มีหนทางการตัดสินใจว่าจะเลือกกู้แบบไหนดี

ก่อนอื่น เริ่มจากหนี้อันเกิดจากเงินกู้ในระบบกันก่อน

ซึ่งหนี้เงินกู้ในระบบนี้จะเกิดจากการกู้ยืมเงินผ่านทางสถาบันทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการไปกู้เงินที่เคาน์เตอร์ธนาคารด้วยตัวเอง การใช้เงินจากบัตรเครดิต การขอสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ เป็นต้น หนี้สินในลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่เป็นหนี้เงินกู้ในระบบทั้งสิ้น ซึ่งหนี้ลักษณะนี้กฎหมายจะให้การรับรองว่ามีการกู้หนี้ยืมสินจริง มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เป็นไปตามกฎหมาย และหากผู้กู้ทำผิดสัญญา ไม่ยอมผ่อนชำระหนี้ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถูกดำเนินคดีแพ่งได้

ส่วนหนี้อีกประเภทหนึ่ง คือ หนี้เงินกู้นอกระบบ

จากชื่อก็คงพอจะบ่งบอกได้อยู่แล้ว ว่าเป็นหนี้เงินกู้ที่มีลักษณะตรงข้ามกับหนี้ในระบบทุกอย่าง กล่าวคือ เป็นการกู้เงินที่ไม่ได้รับการรับรองจากกฎหมาย อาจจะมีลักษณะเป็นการยืมเงินปากเปล่า หรือมีการบันทึกข้อความ สัญญาไว้เป็นหลักฐานก็ได้ ตัวอย่างของรูปแบบหนี้นอกระบบนี้ก็ได้แก่ พวกเงินด่วนทั้งหลายที่มีการแปะประกาศตามรั้ว ตามเสาไฟฟ้า หรือมีการบอกต่อกันแบบปากต่อปาก

หลังจากพูดถึงความหมายของรูปแบบหนี้เงินกู้กันไปแล้ว ทีนี้เราจะมาเข้าเรื่องข้อดี ข้อเสีย และความแตกต่างของสองสิ่งนี้กัน

 โดยหนี้ในระบบจะเป็นหนี้ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย นั่นเท่ากับว่าทั้งผู้กู้ และผู้ให้กู้ ย่อมได้รับความคุ้มครองเสมอกัน ซึ่งผู้ให้กู้จะได้รับความคุ้มครองในกรณีที่ผู้กู้หนีหรือเบี้ยวไม่จ่ายเงิน ผู้ให้กู้มีสิทธิดำเนินการฟ้องร้องผู้กู้ เพื่อให้ผู้กู้ทำการใช้หนี้ หรือนำทรัพย์สินของผู้กู้ออกขายทอดตลาดได้โดยชอบธรรม ส่วนผู้กู้เอง ก็จะได้รับความคุ้มครองในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย และข้อกำหนดในสัญญาที่เป็นธรรม หากผู้กู้คนใดพบว่า สถาบันทางการเงินมีการคิดอัตราดอกเบี้ยแพงกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีการร่างสัญญาที่ไม่เป็นธรรม สามารถดำเนินการฟ้องร้องผู้ให้กู้ได้ในทันที อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของหนี้ในระบบนี้ก็มีอยู่บ้าง ได้แก่ การดำเนินการขอกู้ที่มีเงื่อนไขมากมาย จำเป็นต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้กู้ และใช้เวลาอนุมัติปล่อยกู้นานพอสมควร อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะดำเนินการกู้เงินไม่ผ่านอีกด้วย เพราะฉะนั้นผู้ที่คิดจะเป็นหนี้ในระบบ จึงต้องเป็นผู้ที่มีประวัติดีถึงดีมากจริง ๆ หรือไม่ก็ต้องพิสูจน์ได้ว่ามีหน้าที่การงานที่แน่นอนเท่านั้น

ในขณะที่หนี้นอกระบบจะมีขั้นตอนในการขอกู้ที่ง่ายกว่า รวบรัดกว่า ได้เงินเร็วกว่า บางทีเดินเข้าไปหาแหล่งเงินกู้ด้วยบัตรประชาชนเพียงอย่างเดียว ก็สามารถขอกู้และรับเงินได้ทันที ในบางแห่งอาจจะมีให้ถ่ายสำเนาทรัพย์สิน เช่น บ้านและที่ดินด้วย ซึ่งโดยรวมก็ยังมีความยุ่งยากน้อยกว่าหนี้ในระบบอยู่ดี แต่สิ่งที่มักจะเป็นปัญหาในการกู้หนี้นอกระบบ ก็คือ ทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้ต่างไม่ได้รับความคุ้มครองในทางกฎหมาย ผู้กู้มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านสัญญา ดอกเบี้ย รวมไปถึงความปลอดภัยด้านชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนผู้ให้กู้ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกหนีหนี้ เบี้ยวหนี้ บางทีถ้าลูกหนี้ย้ายบ้านหนีไป ก็ไม่สามารถจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างที่ควรจะเป็นได้ และถึงแม้จะสามารถดำเนินคดีได้ แต่โอกาสที่จะได้เงินคืนย่อมมีน้อยกว่าหนี้ในระบบมาก หนี้นอกระบบจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการเงินในสภาวะฉุกเฉิน และสามารถหาเงินก้อนมาคืนเจ้าหนี้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ก็คือรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ทั้งในระบบและนอกระบบ หวังว่าหลังจากที่ท่านผู้อ่านได้อ่านบทความนี้จนจบแล้ว คงพอจะมีแนวทางกันบ้างแล้วว่าจะกู้เงินทางไหนดี ทั้งนี้ขอให้ผู้ที่กำลังคิดจะเป็นหนี้เงินกู้ หรือผู้ที่กำลังเป็นหนี้เงินกู้อยู่ โปรดจงประมาณการเสถียรภาพทางการเงินในอนาคตให้ดี หากพบว่าในอนาคตจะได้เงินมาสักก้อน ขอให้แบ่งเงินจำนวนหนึ่งไปทำการโปะหนี้ ทบต้นไปก่อน เพื่อให้ปริมาณหนี้เหลือน้อยลง และที่สำคัญ อย่าใช้วิธีกู้หนี้ใหม่ มาโปะหนี้เก่าโดยเด็ดขาด

บทความโดย : moneyhub.in.th

 3531
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores