สินทรัพย์ไม่มีตัวตน

สินทรัพย์ไม่มีตัวตน

ความหมายและประเภทของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน

มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 51 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า สินทรัพย์ไม่มีตัวตน หมายถึง สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงินที่สามารถระบุได้และไม่มีกายภาพ ซึ่งต่างจากสินทรัพย์ที่เป็นตัวเงินอันหมายถึง เงินสดหรือสินทรัพย์ที่กิจการจะได้รับเป็นจำนวนที่แน่นอน หรือสามารถทราบได้ และมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ยังได้ขยายความสินทรัพย์ไม่มีตัวตนอีกว่า รายการที่จะถือเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ต้องสามารถระบุได้ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการ และต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต

สินทรัพย์จะเข้าเกณฑ์สามารถระบุได้ตามคำนิยามของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนก็ต่อเมื่อ

1. สามารถแยกเป็นเอกเทศได้ กล่าวคือ สามารถแยกหรือแบ่งจากกิจการ และสามารถขาย โอน ให้สิทธิ ให้เช่า หรือแลกเปลี่ยนได้อย่างเอกเทศ หรือโดยรวมกับสัญญา สินทรัพย์หรือหนี้สินที่เกี่ยวข้อง หรือ

2. ได้มาจากการทำสัญญาหรือสิทธิทางกฎหมายอื่น ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิทธิเหล่านั้นจะสามารถโอนหรือสามารถแบ่งแยกจากกิจการ หรือจากสิทธิและภาระผูกพันอื่น ๆ

สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่สามารถระบุได้ เช่น

1. สิทธิบัตร ( Patent ) หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบว่าด้วยสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบ เพื่อให้ได้สิ่งของ,เครื่องใช้หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น การประดิษฐ์รถยนต์, โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์ หรือการออกแบบขวดบรรจุน้ำดื่ม, ขวดบรรจุน้ำอัดลม หรือการออกแบบลวดลายบนจานข้าว, ถ้วยกาแฟ ไม่ให้เหมือนของคนอื่น เป็นต้น

2. ลิขสิทธิ์ ( Copyrights ) หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณา ไม่ว่าในรูปลักษณะอย่างใดหรือวิธีใด รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปทำเช่นว่านั้นด้วย

อายุของลิขสิทธิ์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยจะกำหนดให้มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต. กรณี เจ้าของ เป็น นิติบุคคล จะเริ่มนับอายุ ตั้งแต่ ผลงานถูกสร้างขึ้นมานับไปอีก 50 ปี, หรือ เริ่มนับเมื่อมีการโฆษณาเป็นครั้งแรก, แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดทีหลัง. แต่การโฆษณาครั้งแรกนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใน 50 ปี นับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา. ถ้าพ้น 50 ปีไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้มีการโฆษณา ถือว่าลิขสิทธิ์หมดอายุ, โดยที่การโฆษณาในภายหลัง จะไม่มีผลต่อการนับต่ออายุลิขสิทธิ์อีก. การโฆษณานี้จะต้องเป็นการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย จึงจะนับเป็นการโฆษณาครั้งแรก ที่ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ได้.

3. สิทธิการเช่า ( Leasehold ) หมายถึง สิทธิที่ได้รับเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่เช่าจากเจ้าของสินทรัพย์โดยตรงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งปกติจะมีระยะเวลานาน โดยผู้ให้เช่าจะได้รับค่าตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยน

4. สัมปทานและการอนุญาตให้ใช้สิทธิ ( Franchises and Licening ) หมายถึง สิทธิที่รัฐบาลหรือบุคคลให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเพื่อประกอบกิจการเฉพาะอย่างหรือเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

โดยคำนี้มาจากภาษาบาลีว่า สมฺปทาน (สำ-ปะ-ทา-นะ) แปลว่า การมอบให้ และคนไทยก็นำมาใช้หมายถึง การที่รัฐบาลมอบสิทธิ ให้เอกชนดำเนินกิจการ บริการสาธารณะ หรือจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับ ทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและเงื่อนไข ตามที่รัฐบาลกำหนด เช่น สัมปทานป่าไม้ สัมปทานการเดินรถประจำทาง สัมปทานรถไฟฟ้า สัมปทานทางด่วน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ไม่พบหลักฐาน แน่ชัดว่าเริ่มใช้คำว่า สัมปทาน ตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานเพียงว่าน่า จะเป็นคำค่อนข้างใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น เมื่อประมาณไม่เกินร้อยปีมานี้เอง ซึ่งในสมัยโบราณ จะยังไม่มีคำเรียกเฉพาะว่า สัมปทาน แต่จะใช้เรียกแตกต่างกันไปตามการ ให้สัมปทานในกิจการนั้นๆ เช่น สัมปทานป่าไม้ก็จะเรียกว่า “ให้เช่าทำป่าไม้” ส่วนสัมปทานรังนก ก็จะเรียกว่า “ทำอากรรังนก” เป็นต้น ปัจจุบันคำว่า สัมปทาน ถือเป็นคำกลางที่ใช้ได้กับกิจการ หลายประเภท แต่ในบางกรณีก็ยังถือว่าเป็นคำที่ไม่เป็นทางการนัก เช่น ในกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ จะไม่ใช้คำว่า สัมปทาน แต่จะใช้คำเฉพาะ คือ ประทานบัตร ซึ่งหมายถึงหนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อแสดงสิทธิการทำ เหมืองแร่ภายในเขตที่กำหนด

5. เครื่องหมายการค้าและยี่ห้อการค้า ( Trademark and Tradename ) หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งเครื่องหมายที่ให้ความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543

มี 4 ประเภท ดังต่อไปนี้

* เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายเกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น บรีส มาม่า กระทิงแดงเป็นต้น

* เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น

* เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้น เช่นเชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ฮาลาล (Halal) เป็นต้น

* เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นต้น

6. ค่าความนิยม ( Goodwill ) หมายถึง คุณค่าที่เกิดขึ้นภายในกิจการนั้นเอง คุณค่าที่เกิดขึ้นจนเป็นค่าความนิยมคือ ความสามารถในการหารายได้ มากกว่ากิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน เกิดจากการมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า สถานที่ตั้งกิจการอยู่ในทำเลที่ดี การบริหารงานดีเป็นที่เชื่อถือ ประสิทธิภาพในการผลิตดี ผลประกอบการดี ทำกิจการค้ามานานจนเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป ทำให้เกิดความเชื่อถือและเกิดจากการผูกขาดทำกิจการนั้นแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น เช่น ชาเขียวโออิชิ , เป็ปซี่ ฯลฯ กิจการที่ได้รับความนิยมจะตีราคาค่าความนิยมของตนเองขึ้นมาเป็นตัวเลขเพื่อบันทึกไว้ในบัญชีของกิจการไม่ได้

ค่าความนิยมจะเกิดขึ้นได้โดยการซื้อกิจการมาและกำหนดค่าความนิยมขึ้นจากการซื้อกิจการนั้นเท่านั้น มูลค่าของค่าความนิยมเกิดจากการจ่ายเงินส่วนหนึ่งเพื่อซื้อกิจการ เงินที่จ่ายเกินไปกว่าทุนของกิจการ ( สินทรัพย์ - หนี้สิน ) ถือว่าเป็นต้นทุนของค่าความนิยม

การจำหน่ายค่าความนิยมออกจากบัญชี เมื่อซื้อกิจการผู้อื่นมาดำเนินงานต่อโดยมีค่าความนิยมและได้บันทึกค่าความนิยมในบัญชีเรียบร้อยแล้ว กิจการจะคงค่าความนิยมไว้ในบัญชีต่อไป โดยถือว่าค่าความนิยมเป็นสินทรัพย์ที่มีอายุไม่จำกัด ตราบใดค่าความนิยมยังคงอยู่และดีขึ้นเรื่อยๆ ให้คงจำนวนค่าความนิยมไว้ในบัญชีตลอดไป แต่เมื่อไหร่เจ้าของกิจการคิดค่าความนิยมเริ่มลดลงอาจเป็นเพราะการบริหารงานเริ่มไม่ดี มีคู่แข่งที่ดีกว่า ฯลฯ เจ้าของกิจการอาจจะประมาณว่าค่าความนิยมจะคงอยู่ได้เพียง 5 ปี ก็ให้จำหน่ายค่าความนิยมออกจากบัญชีภายในระยะเวลา 5 ปี

บทความโดย  : https://sites.google.com/

 1969
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores