หุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ออกในการไถ่ถอนหุ้นกู้นั้นคืนได้ก่อนวันที่หุ้นกู้หมดอายุ ตามราคาไถ่คืนที่กำหนดไว้ก่อนเป็นการล่วงหน้า ราคาไถ่คืนมักกำหนดไว้สูงกว่าราคาที่ตราไว้เพื่อชดเชยกับการเสียโอกาสการลงทุนของผู้ถือ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ออกมักจะไถ่ถอนหุ้นกู้คืนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ก็เพื่อยกเลิกหุ้นกู้ฉบับเดิมซึ่งอาจเสนออัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่า แล้วออกหุ้นกู้ฉบับใหม่ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเป็นการทดแทน ในส่วนของการไถ่คืนก่อนกำหนดจึงเป็นการสร้างความเสี่ยงส่วนเพิ่มแก่ผู้ถือ เพราะผู้ถือมักจะได้รับเงินจากการไถ่คืนเมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดมีระดับต่ำ แล้วต้องนำเงินทุนนั้นไปลงทุนต่อที่อัตราผลตอบแทนที่ต่ำและไม่น่าสนใจ และหุ้นกู้ประเภทนี้มักเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าหุ้นกู้ปกติ เพื่อเป็นการชดเชยความเสี่ยง
หลักการบัญชี เมื่อมีการซื้อหุ้นกู้คืนมา คือ
1. ลงรายการปรับปรุงบัญชีส่วนเกินหรือส่วนลดมูลค่าหุ้นกู้ ตั้งแต่วันตัดบัญชีครั้งสุดท้ายจนถึงวันไถ่คืน
2. ถ้าวันไถ่คืนไม่ตรงกับวันจ่ายดอกเบี้ย ต้องลงรายการจ่ายดอกเบี้ยตั้งแต่วันจ่ายดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายจนถึงวันไถ่คืน
3. ลงรายการซื้อหุ้นกู้คืนมา โดยปิดบัญชีหุ้นกู้ในราคาตามมูลค่า ปิดบัญชีส่วนเกินมูลค่าหรือส่วนลดมูลค่าหุ้นที่ยังตัดบัญชีไม่หมด และบันทึกจ่ายเงินสด ผลต่างของรายการจะเป็นกำไรหรือขาดทุนจากการไถ่คืนหุ้นกู้
อนึ่ง การไถ่คืนกู้นี้จะบันทึกบัญชีอย่างไร ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการไถ่คืน กล่าวคือ
1. ถ้าไถ่คืนเพื่อยกเลิก ก็จะลงรายการโดย เดบิตบัญชีหุ้นกู้ ในราคาตามมูลค่า
2. ถ้าไถ่คืนเพื่อจะนำออกขายอีกในภายหน้า ก็จะเดบิตไว้ในบัญชีหุ้นกู้ซื้อกลับคืน ( Treasury Bonds ) ในราคาตามมูลค่า
บทความโดย : https://sites.google.com/