รายงานทางการเงิน
รายงานทางการเงินหรือที่รู้จักคุ้นเคยกันว่า “งบการเงิน” เป็นรายงานที่จัดทำตามรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อแสดงถึงฐานะทางการเงินของกิจการ ณ วันสิ้นงวดและแสดงผลประกอบการของกิจการในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้อง ตามกฎหมายผู้บริหารต้องนำส่งงบการเงินปีละ 1 ครั้งให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ข้อมูลที่นำส่งกระทรวงพาณิชย์นั้นถือเป็นข้อมูลสาธารณะ กิจการจึงต้องจัดทำรายงานทางการเงินโดยปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป
แท้จริงแล้วผู้ใช้ประโยชน์จากรายงานทางการเงินนี้คือผู้อยู่ภายนอกกิจการเช่นนักลงทุน เจ้าหนี้ คู่ค้าและลูกค้า เป็นต้น เพื่อใช้ในการประเมินผลการดำเนินงานกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการและนำไปสู่การตัดสินใจในเชิงธุรกิจ เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ของกิจการ การตัดสินใจว่าควรทำธุรกิจกับกิจการหรือไม่หรือควรให้กิจการนั้นกู้ยืมหรือไม่ ผู้บริหารเป็นผู้รับผิดชอบต่อข้อมูลในงบการเงินของกิจการที่ตนรับผิดชอบอยู่ว่าถูกต้องสะท้อนผลการดำเนินงาน
รายงานบัญชีเพื่อการบริหาร
รายงานบัญชีเพื่อการบริหารจัดทำขึ้นเพื่อโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือให้ข้อมูลที่ช่วยให้ผู้บริหารระดับต่างๆภายในกิจการสามารถปฏิบัติหน้าที่บริหารจัดการ ตัดสินใจและประเมินผลงานได้ดีขึ้น รายงานบัญชีเพื่อการบริหารจึงมีรูปแบบที่หลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งานของผู้บริหาร เช่น รายงานต้นทุนของผลิตภัณฑ์โดยแยกเป็นส่วนของวัตถุดิบ ค่าแรงทางตรง ค่าใช้จ่ายในการผลิตอื่นๆ เพื่อช่วยให้ผู้บริหารใช้ในการตัดสินใจในการตั้งราคาขาย หรือใช้ในการควบคุมบริหารต้นทุน การตัดสินใจว่าจะผลิตเองหรือจ้างผลิต รายงานผลการดำเนินงานแยกตามส่วนงานสาขาหรือตามผลิตภัณฑ์ รายงานผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อพิจารณาว่าการดำเนินงานจริงเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ การรายงานบัญชีเพื่อการบริหารยังรวมถึงรายงานเพื่อช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจลงทุนระยะยาวเช่นการประเมินโครงการว่าสมควรลงทุนขยายโรงงานใหม่หรือไม่ ใช้ระยะเวลานานเท่าใดจึงจะคุ้มทุน เป็นต้น
การบัญชีภาษีอากร
การบัญชีภาษีอากรมีวัตถุประสงค์หลักคือ การคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาตามกฎหมายหรือข้อบังคับของกรมสรรพากร การคำนวณกำไรเพื่อเสียภาษีอากรนี้จึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในประมวลรัษฎากรหรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้บริหารควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ในปัจจุบันเมื่อกล่าวถึง “การบัญชี”บุคคลทั่วไปจำนวนมากมักเข้าใจว่าเป็นการบัญชีภาษีอากร แต่ที่จริงแล้วบัญชีการเงินมีความแตกต่างกับบัญชีภาษีอากรเช่น หลักการรับรู้รายได้ วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคาของสินทรัพย์ เป็นต้น การบัญชีภาษีอากรมีเป้าหมายหลักเพื่อคำนวณภาษีที่ถูกต้องซึ่งกิจการต้องปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร
นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดาแล้วผู้บริหารกิจการควรติดตามว่าการดำเนินงานของตนต้องเสียภาษีอื่นๆเพิ่มเติมเช่นกิจการที่มีการซื้อมา-ขายไปต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน 7 เปอร์เซ็นต์โดยนำภาษีซื้อหักจากภาษีขาย ส่วนต่างนั้นกิจการต้องนำส่งภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน แต่ถ้ายื่นทางระบบอินเตอร์เน็ตก็จะสามารถยืดเวลาได้อีก 7 วันทำการ ส่วนกิจการที่มีรายได้จากการให้บริการจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3 เปอร์เซ็นต์ของค่าบริการ โดยผู้ว่าจ้างหักไว้และ จำต้องนำส่งภายในวันที่ 7 ของทุกเดือน เป็นต้น
บทความโดย : http://flexiblemba.nida.ac.th