มาตรฐานการรายงานทางการเงินไทย ปรับปรุงปี 2561

มาตรฐานการรายงานทางการเงินไทย ปรับปรุงปี 2561

ปรับปรุง 2561

            คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี อยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำและปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นโดยมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นฉบับปรับปรุงตามมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2560 (Bound Volume 2018 Consolidated without early application) โดยจะมีผลบังคับใช้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562

การจัดทำและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินปี 2561

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับปรับปรุง 2561 มีการปรับปรุงจากมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับปรับปรุง 2560โดยสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ดังนี้

กลุ่มที่ 1: มาตรฐานการรายงานทางการเงินจำนวน 4 ฉบับที่มีการปรับปรุงในสาระสำคัญ ทั้งนี้สามารถสรุปสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงได้ดังนี้

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน การปรับปรุง (Amendments)
TFRS 2 เรื่อง การจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ การปรับปรุงเกี่ยวกับการจัดประเภทและการวัดมูลค่าสำหรับรายการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ โดยได้เพิ่มข้อกำหนดทางการบัญชีสำหรับ

ก. ผลกระทบจากเงื่อนไขการได้รับสิทธิและเงื่อนไขการได้รับสิทธิที่ไม่ใช่เงื่อนไขการบริการหรือผลงานสำหรับการวัดมูลค่าของรายการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่ชำระด้วยเงินสด (เป็นการอธิบายให้ชัดเจนขึ้นโดยมิได้เปลี่ยนแปลงหลักการ)

ข. วิธีการทางบัญชีสำหรับรายการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่มีลักษณะของการชำระด้วยยอดสุทธิสำหรับภาระผูกพันภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และ

ค. การปรับปรุงเงื่อนไขและข้อกำหนดของรายการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ที่เปลี่ยนการจัดประเภทจากการจ่ายชำระด้วยเงินสดเป็นการจ่ายชำระด้วยตราสารทุน โดยผลกระทบที่เกิดจากการปรับปรุงเงื่อนไขและข้อกำหนดสามารถรับรู้ในกำไรหรือขาดทุนได้
TFRS 4 เรื่อง สัญญาประกันภัย การนำมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) มาใช้กับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 4 เรื่อง สัญญาประกันภัย (TFRS 4) ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นจากวันที่มีผลบังคับใช้ที่แตกต่างกันของ TFRS9 และ มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (TFRS 17) (IFRS4 ฉบับปรับปรุงใหม่) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565

ดังนั้น TFRS4 ที่ปรับปรุงในฉบับนี้จึงได้ให้วิธีทางเลือกในการปฏิบัติตาม TFRS9 ของธุรกิจประกันภัยไว้ดังนี้

ก. การยกเว้นการถือปฏิบัติตาม TFRS 9 เป็นการชั่วคราว – กิจการที่มีกิจกรรมหลักเกี่ยวข้องกับการประกันภัยอาจเลือกที่จะถือปฏิบัติตามแนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน และการเปิดเผยข้อมูลสำหรับธุรกิจประกันภัย แทนการถือปฏิบัติตาม TFRS9 โดยการยกเว้นการถือปฏิบัติตาม TFRS9 นี้สามารถเลือกได้จนถึงรอบปีบัญชีที่เริ่มก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 หรือก่อน TFRS17 มีผลบังคับใช้

ข. วิธีปรับผลกระทบรายการ (The Overlay approach) – ซึ่งวิธีการนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในประเทศไทย
TAS 28 เรื่อง เงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า

อธิบายให้ชัดเจนว่ากิจการที่เลือกวิธีการวัดมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทร่วมหรือการร่วมค้าด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (ซึ่งถือโดยกิจการหรือถือโดยทางอ้อมผ่านกิจการซึ่งเป็นกิจการร่วมลงทุน กองทุนรวม กองทรัสต์ หรือกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน รวมถึงกองทุนประกันภัยแบบควบการลงทุน) โดยกิจการต้องเลือกวิธีการนี้ในแต่ละบริษัทร่วมหรือการร่วมค้า ณ วันที่รับรู้รายการครั้งแรกของบริษัทร่วมและการร่วมค้า

นอกจากนี้ได้มีการอธิบายให้ชัดเจนถึงการพิจารณาเกี่ยวกับการด้อยค่าของเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า

TAS 40 เรื่อง อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน อธิบายให้ชัดเจนเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนไปยังบัญชีอื่นๆ หรือโอนจากบัญชีอื่นๆ มาเป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานของอสังหาริมทรัพย์นั้น

         

กลุ่มที่ 2: มาตรฐานการรายงานทางการเงิน และแนวปฏิบัติทางการบัญชีฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย จำนวน 9 ฉบับ 

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน/ 
การตีความมาตรฐานการรายงานทางการเงิน/ 
แนวปฏิบัติทางการบัญชี
เนื้อหา (About)
TFRS 1 เรื่อง การนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินมาใช้เป็นครั้งแรก ดูเนื้อหาเพิ่มเติม Click
TFRS 7 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงิน ดูเนื้อหาเพิ่มเติม Click
TFRS 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน ดูเนื้อหาเพิ่มเติม Click
TFRS 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า ดูเนื้อหาเพิ่มเติม Click
TAS 32 เรื่อง การแสดงรายการเครื่องมือทางการเงิน ดูเนื้อหาเพิ่มเติม Click
TFRIC 16 เรื่อง การป้องกันความเสี่ยงของเงินลงทุนสุทธิในหน่วยงานต่างประเทศ ดูเนื้อหาเพิ่มเติม Click
TFRIC 19 เรื่อง การชำระหนี้สินทางการเงินด้วยตราสารทุน ดูเนื้อหาเพิ่มเติม Click
TFRIC 22 เรื่อง รายการที่เป็นเงินตราต่างประเทศและสิ่งตอบแทนจ่ายล่วงหน้า ดูเนื้อหาเพิ่มเติม Click
แนวปฏิบัติทางการบัญชี เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน และการเปิดเผยข้อมูลสำหรับธุรกิจประกันภัย ดูเนื้อหาเพิ่มเติม Click

         

กลุ่มที่ 3: มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เป็นการปรับปรุงถ้อยคำเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในประเทศไทย โดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาอย่างเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด จำนวน 22 ฉบับ

กลุ่มที่ 4: มาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เป็นการปรับปรุงถ้อยคำและการอ้างอิงมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับอื่น (ปรับปรุงการอ้างอิงปี พ.ศ.) ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาอย่างเป็นสาระสำคัญแต่อย่างใด จำนวน 24 ฉบับ

บทความโดย : http://www.fap.or.th

 4615
Visitor
Get started for free today. Free Trial
Create a website for free Online Stores