เนื้อหาที่จะนำมาแบ่งปันให้ได้เรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ ‘ค่าเสื่อมราคา’ ที่ผมเองก็มักจะได้เห็น และได้พบปัญหาที่เกิดจากความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือมีแนวปฏิบัติที่ออกจะสับสนไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชี และแนวปฏิบัติของกรมสรรพากรตามที่ควรจะเป็น
ซึ่งเมื่อพูดถึง ‘ค่าเสื่อมราคา’ เราจะสามารถแบ่งประเด็นที่เกี่ยวข้องออกเป็นสองส่วนด้วยกันคือ ประเด็นที่เกี่ยวกับหลักการบัญชี กับหลักการภาษี ซึ่งสรุปเป็นภาพรวมแบบนี้ครับว่า
หลักการบัญชี |
1.การคิดค่าเสื่อมราคาเป็นการปันส่วนต้นทุนสินทรัพย์อย่างมีระบบจนครบอายุการใช้งาน ค่าเสื่อมราคาที่เกิดในรอบบัญชีต้องรับรู้เป็นค่าใช้จ่าย |
2.เป็นการยึด หลักความสม่ำเสมอ ในการสะท้อนภาพประโยชน์เชิงเศรษฐกิจที่ได้รับสินทรัพย์ทุกรอบระยะเวลาบัญชี |
3.กรณีแยกส่วนประกอบตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 16 (ปรับปรุง 2552) (Component accounting) ให้คิดค่าเสื่อมราคาส่วนประกอบที่ถูกแยก ซึ่งส่วนประกอบที่จะแยกนั้นจะต้องเป็นส่วนที่มีนัยสำคัญแยกต่างหากจากกันด้วย |
4.จะคิดค่าเสื่อมเมื่อสินทรัพย์นั้นพร้อมใช้งาน ผมขอแนะนำให้ใช้หลัก 3 ข้อในการพิจารณา ❶ Location (อยู่ในสถานที่ที่ต้องการใช้งาน) ❷ Condition (อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน) ❸ Intention USE |
5. สิ้นสุด/หยุดคิด/เลิกคิดค่าเสื่อมราคา เมื่อเข้าเงื่อนไข ❶ เมื่อมีการจำหน่าย ขายทิ้งไป ❷กิจการจะไม่ได้รับประโยชน์จากสินทรัพย์นั้นอีกต่อไป เช่น เมื่อสินทรัพย์นั้นสูญหาย, เมื่อมีการตัดออกจากบัญชี ❸เมื่อจัดมีการจัดประเภทเป็นถือไว้เพื่อขาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์จะขายให้เสร็จภายในอนาคตอันใกล้ |
หลักการภาษี |
1. ตามนัยมาตรา 65 ทวิ (2) การหักค่าสึกหรอ หรือค่าเสื่อมราคาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขใน พรฎ.#145 และ ป.3/2527 |
2. คิดค่าเสื่อมราคาไม่เกิดอัตราที่กำหนด และพรฎ.#145 ไม่ได้กำหนดให้หักจนหมดมูลค่า |
3. อายุการใช้งานต้องไม่น้อยกว่าที่กำหนด |
4. กฎหมายกำหนดให้คำนวณตามระยะเวลาที่ได้มาเป็นรายวัน
|
จะเห็นว่าจากที่จำแนกความแตกต่างของประเด็นค่าเสื่อมราคาระหว่างหลักการบัญชี กับหลักการภาษีไปแล้วนั้นเป็นการกล่าวถึงค่าเสื่อมราคาที่เกี่ยวกับสินทรัพย์กรณีทั่วไป แต่ยังมิได้กล่าวถึงสินทรัพย์ที่มีประเด็นทางภาษีอีกประเภทหนึ่ง ก็คือ ‘รถยนต์’ ซึ่งเรื่องนี้ ถ้าพูดในภาพของหลักการบัญชี ขอยกตัวอย่างประกอบจะได้เห็นภาพมากขึ้นนะครับ สมมติว่ากิจการซื้อรถยนต์นั่ง (ไม่เกิน 10 ที่นั่ง) ราคา 1,399,000 บาท หลักการบัญชี ต้นทุนของสินทรัพย์ (รถยนต์) ที่บันทึกบัญชีจะเท่ากับ 1,399,000 บาท ซึ่งเวลาคิดค่าเสื่อมราคา (ตามหลักการบัญชี) ก็คิดจากยอดดังกล่าว แต่สำหรับหลักการภาษีรถยนต์นั่ง (ไม่เกิน 10 ที่นั่ง) ต้นทุนของสินทรัพย์ที่จะนำไปคิดค่าเสื่อมราคาจะใช้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1,000,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ทำบัญชีจะต้องพิจารณาดูประเด็นของรถยนต์คันดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะกฎหมายก็ได้มีการยกเว้นให้กับธุรกิจรถเช่า โดยรถยนต์ที่ซื้อมานั้นก็จะสามารถคิดค่าเสื่อมราคาได้จากต้นทุนของสินทรัพย์ (ตามหลักการบัญชี) ซึ่งก็เป็นไปตามนัย พรฎ.#505
อย่างไรก็ตาม หลักการบัญชียังมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีหากมีการจำหน่าย (ขายรถยนต์) ต้นทุนที่เหลือจากการคิดค่าเสื่อมเมื่อเทียบกับราคาขาย ผลต่างสามารถถือเป็นกำไร หรือค่าใช้จ่ายได้ทั้งจำนวน แต่หลักการภาษีนั้นมีแนวปฏิบัติที่แตกต่างไปคือ เมื่อขายไป ต้นทุนส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับบริษัททั่วไป (ที่ไม่ใช่ธุรกิจรถเช่า) ห้ามนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ในทางกลับกันถ้าเป็นธุรกิจให้เช่าซื้อ/ให้เช่า สามารถถือเป็นค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งก็เป็นไปตามนัย พรฎ.#315, มาตรา 65 ตรี (20) และ พรฎ.#145
พาดพิงมาถึงธุรกิจให้เช่าซื้อ ก็อดพูดถึงประเด็นของค่าเสื่อมราคา กรณีของสินทรัพย์ที่มีการเช่าซื้อไม่ได้ครับ ประเด็นนี้ก็มีความแตกต่างที่เห็นชัดเจนในเรื่องของต้นทุนสินทรัพย์ที่จะใช้คิดค่าเสื่อมราคา เพราะหลักการบัญชีนั้นต้นทุนของสินทรัพย์จะไม่รวมดอกผลจากการเช่าซื้อ ไว้เป็นต้นทุน ซึ่งเมื่อมีการเช่าซื้อมา จะทำบันทึกบัญชีโดย
วันที่ได้มาบันทึกรับรู้ทรัพย์สิน | ชำระค่างวด & บันทึกดอกเบี้ยจ่าย | เมื่อบันทึกค่าเสื่อมราคา |
เดบิต สินทรัพย์ / ทรัพย์สิน | เดบิต เจ้าหนี้เช่าซื้อ | เดบิต ค่าเสื่อมราคา |
เดบิต ดอกเบี้ยจ่ายรอตัดบัญชี | เดบิต ดอกเบี้ยจ่าย | เครดิต ค่าเสื่อมราคาสะสม |
เครดิต เงินสด/เงินฝากธนาคาร | เครดิต เงินสด/เงินฝากธนาคาร | |
เครดิต เจ้าหนี้เช่าซื้อ | เครดิต ดอกเบี้ยจ่ายรอตัดบัญชี |
แต่หลักการภาษีนั้น ได้แจกแจงไว้ตามนัย พรฎ.#145 มาตรา 7 และคำสั่งกรมสรรพากร ป.3/2527 สรุปได้ว่า สินทรัพย์/ทรัพย์สินที่มีการเช่าซื้อมานั้น คิดค่าเสื่อมราคาตามต้นทุนทั้งหมดที่ต้องชำระตามสัญญาเช่าซื้อ แต่ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องไม่เกินค่าเช่าซื้อหรือราคาที่ต้องผ่อนชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
บทความโดย : http://www.jobdst.com