เรื่อง คัมภีร์เงิน
เจ้าของกิจการมักจะให้ความสำคัญกับงบดุลและงบกำไรขาดทุนในการวัดผลการดำเนินงานของบริษัท โดยลืมตรวจสอบ ‘งบกระแสเงินสด’ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัด ‘สุขภาพ’ ของธุรกิจ ถ้าต้องการให้ธุรกิจเติบโตเจ้าของธุรกิจต้องนำงบการเงินทั้งสามมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อหาตัวชี้วัดและวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกิจการ ขณะเดียวกันผู้บริหารที่ดีควรตั้งเป้าหมายอัตราส่วนทางการเงินเพื่อวัดผลการบริหารของตัวเองนอกเหนือไปจากยอดขายหรือมาร์เก็ตแชร์ในตลาด
หากเปรียบงบการเงิน คือเครื่องชี้วัดสุขภาพของกิจการเหมือนกับร่างกายของมนุษย์ งบดุล ถ้าแสดงสถานะหนี้สินที่ดีก็เหมือนกับร่างกายที่สมบูรณ์ (ไม่มีหนี้สินรุงรัง) งบกำไรขาดทุนที่ดี ก็เหมือนคนที่กินได้นอนหลับ (สุขภาพจิตที่ดี) ส่วนงบกระแสเงินสด เป็นตัวชี้วัด ‘สภาพคล่อง’ ทางการเงินเหมือนกับวัดการเต้นของหัวใจซึ่งทำให้เลือดสูบฉีดไปทั่วร่างกายได้ดีหรือไม่
เจ้าของกิจการจึงต้องติดตามงบกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลอย่างยิ่งต่อทั้งงบดุลและงบกำไรขาดทุน ซึ่งเจ้าของธุรกิจบางครั้งไม่นำมานับเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการบริหาร เพราะเมื่อรายงานผลประกอบการรายไตรมาสมักจะมองไม่เห็นการหมุนเวียนของเงินสดต่อเดือนที่แท้จริง
ทั้งนี้ ในส่วนของงบดุลซึ่งจะบ่งบอกภาระหนี้ของกิจการจะต้องให้ความสำคัญกับหนี้สินหมุนเวียนกับสินทรัพย์หมุนเวียน ถ้ามีส่วนหนี้สินมากกว่า หมายความว่ากิจการนั้นๆ เริ่มมีปัญหาแล้ว ที่สำคัญเจ้าของกิจการต้องหมั่นตรวจสอบงบดุลภายใน 10-15 วันของทุกเดือน เพื่อหาทางแก้ไข ถ้าสถานะการเงินมีปัญหาและสามารถตรวจสอบความรั่วไหลของเงินภายในกิจการได้
อีกประเด็นที่สำคัญ คือ ส่วนงบกำไรขาดทุน ซึ่งมีตัวชี้วัดสองตัว คือ กำไรก่อนหักภาษี (EBIT) ซึ่งคำนวนจากรายได้ลบด้วยค่าใช้จ่ายและค่าเสื่อม อีกเกณฑ์หนึ่งคือ Gross Operating Profit ซึ่งมีความแตกต่าง คือ ไม่รวมค่าเสื่อมลงไปด้วย ในฐานะเจ้าของกิจการเราจำเป็นต้องตรวจสอบทุกเดือนเช่นกัน เพราะปัจจัยเรื่องค่าเสื่อมมีความสำคัญมากขึ้นในทางธุรกิจ โดยเฉพาะกิจการที่มีสินทรัพย์อย่างเครื่องจักร
ส่วนของงบกระแสเงินสดจะเป็นงบที่สรุปการเปลี่ยนแปลงทางการเงินของกิจการ เน้นหนักไปที่การแสดงสินทรัพย์ซึ่งเป็นเงินสดและเทียบเท่า เช่น ตั๋วแลกเงิน เงินฝากระยะสั้น เงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง เมื่อแสดงออกมาผู้บริหารจะรู้ว่าในรอบปีของกิจการมีการรับเงินสดและใช้ออกไปอย่างไรบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่นโยบายการบริหารเงินสด และการตัดสินใจทางการเงินในอนาคต รวมถึงรับรู้ข้อบกพร่องในการบริหารเงินสดภายในว่ามีการรั่วไหลออกไปบ้างหรือไม่
ผู้บริหารจะต้องแยกประเภทของกระแสเงินให้ชัดเจน เพื่อการวิเคราะห์สภาพคล่อง ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ซึ่งมาจากกิจกรรมที่ทำให้เกิดรายได้และรายจ่ายของบริษัท เช่น รายได้จากการขาย การบริการ รายจ่ายทางด้านภาษี ดอกเบี้ย
2.กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน คือ กระแสเงินสดที่ได้รับจากการนำเงินสดไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ดอกเบี้ยรับจากการลงทุนในตราสารต่างๆ เงินปันผลจากการถือหุ้นในกิจการ รายได้จากการขายสินทรัพย์
3.กระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน เช่น การกู้เงินธนาคาร การออกหุ้นกู้ ตราสารประเภทต่างๆ การออกหุ้นเพิ่มทุน
ทั้งนี้ เมื่อคำนวนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะต้องเป็น ‘บวก’ เท่านั้น เพราะถ้าออกมาติดลบอาจเป็นไปได้ว่าพนักงานทำเงินรั่วไหลออกไปภายนอก ถ้าดูเฉพาะงบดุลหรืองบกำไรขาดทุนจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่ามีเงินไหลออกจากบริษัท สำหรับกิจการที่ต้องให้ความสำคัญกับงบกระแสเงินสดอย่างมาก คือ ธุรกิจซื้อมาขายไป หรือ ธุรกิจบริการที่มีกระแสเงินไหลเข้าออกต่อวันหลายรายการ ในส่วนกระแสเงินสดจากกิจกรรมจัดหาเงิน ถ้าติดลบแสดงว่าเงินที่กู้แบงก์มาน้อยกว่าส่วนที่คืนหนี้ แต่ถ้าเป็นบวกแสดงว่ากู้เงินจากแบงก์มากกว่าคืนเงินให้แบงก์ ทำให้ต้องแบกรับอัตราดอกเบี้ยที่สูง
ไม่เพียงเท่านี้ งบกระแสเงินสดยังถูกนำมาพิจารณาในการขอสินเชื่อกับธนาคารด้วย เช่น เมื่อขอกู้เงินเพื่อขยายธุรกิจธนาคารจะกำหนดว่าจะต้องนำเงินสดจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นเงินต้นรวมกับดอกเบี้ยมาจ่ายคืนทุกเดือน สถาบันการเงินจะพิจารณาว่ากิจการนั้นๆ มีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดต่อเดือนเพียงพอที่จะคืนหนี้ดังกล่าวได้หรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอก็จะไม่สามารถพิจารณาเงินกู้ได้ และถ้าเพียงพอก็จะพิจารณาต่อว่าเงินสดที่เหลือต่อเดือนมีเพียงพอต่อการหมุนเวียนใช้ในธุรกิจหรือไม่ ถ้าเงินสดคงเหลืออยู่ในวงจำกัด ธนาคารอาจจำเป็นต้องลดวงเงินกู้ลง เพื่อให้เจ้าของกิจการมีอากาศพอหายใจในแต่ละเดือน
สรุปคือ งบกำไรขาดทุน ซึ่งอาจแสดงผลกำไรของธุรกิจ อาจไม่ได้หมายความว่ากิจการมีการดำเนินเงินสดภายในที่ดีพอ เพราะระหว่างเดือนอาจเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องระยะสั้น จนต้องดึงวงเงินกู้เพื่อหมุนเวียนออกมาใช้ ตัวเลขที่ออกมาอาจจะเป็นบวกแต่ถือว่าเป็นต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น ถ้าเจ้าของกิจการมั่นตรวจสอบกระแสเงินสดภายในอย่างต่อเนื่องจะช่วยลดต้นทุนการเงินที่ไม่จำเป็นลงได้ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน
นอกจากนี้ ผู้บริหารยังต้องตั้งตัววัดผลทางการเงิน เพื่อตรวจวัดประสิทธิภาพของธุรกิจโดยดูจากผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) และผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) โดย ROE สามารถคำนวนได้จาก กำไรสุทธิหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น และ ROA คือ การนำกำไรสุทธิหารด้วยสินทรัพย์ที่มี
บริษัทที่มี ROE สูง นั่นหมายถึงใช้ส่วนของทุนเพียงเล็กน้อยแต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มาก โดยทั่วไปผลตอบแทนผู้ถือหุ้นควรจะต้องมากกว่า10 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะแสดงความสามารถในการบริหารของผู้บริหารที่ดี โดยขั้นต่ำที่สุดควรจะมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนั้นและบางธุรกิจอาจจะต้องมากกว่า20 เปอร์เซ็นต์
เช่น ธุรกิจให้เช่าสินทรัพย์เนื่องจากมีต้นทุนที่ต่ำ ส่วนผลตอบแทนจากสินทรัพย์จะแสดงถึงความสามารถในการใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจสูงสุด ถ้าอยู่ในระดับต่ำแสดงว่าผุ้บริหารต้องตัดสินทรัพย์บางอย่างที่สร้างผลกำไรให้บริษัทน้อยออกไป
นอกจากนี้ ในมุมผู้บริหารยังมีการคำนวนผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ซึ่งจะแสดงผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ เช่น ถือหุ้นในกิจการอื่น หรือการร่วมทุนทำโครงการต่างๆ ซึ่งควรจะอยู่ระดับใกล้เคียงเลขสองหลักตามระดับความเสี่ยงของการลงทุนนั้นๆ ถ้ามีความเสี่ยงมากผลตอบแทนควรอยู่ในระดับสูงจึงจะมีความคุ้มค่า
ถ้ากิจการมีปัญหาด้านการเงิน ก็เหมือนคนที่มีปัญหาสุขภาพ การบริหารการเงินที่ดี จึงเหมือนกับการวางโครงสร้างของบ้าน หากไม่แข็งแรงพอก็จะถล่มลงได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การบริหารบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสุงสุด ตลอดจนกระบวนการผลิตหรือการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และการตลาดที่ใช้งบน้อยแต่ให้ได้ผลมากที่สุด
บทความโดย : www.smethailandclub.com