สอนลูกอย่างไร ให้ฉลาดทางการเงิน

สอนลูกอย่างไร ให้ฉลาดทางการเงิน

วัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการหล่อหลอมคุณลักษณะ ความเป็นตัวตน ทักษะความสามารถ ที่จะส่งผลการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ทักษะทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่ยังไม่มีการกำหนดรูปแบบการสอนและพัฒนาอย่างเด่นชัดในสถานศึกษาในประเทศไทยเมื่อเทียบกับทักษะความรู้ด้านอื่นๆ พ่อแม่และคนในครอบครัวจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ลูกในด้านนี้ 

  จากรายงานผลการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทยปี 2559 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าเยาวชนในยุค “เจนเนอเรชั่น Z” ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป มีความรู้ทางการเงินพื้นฐานยังไม่ดีนัก ปัญหาสำคัญคือ การมุ่งเน้นเพียงการหาเงินมาเพียงแค่ให้พอกับการใช้จ่ายในปัจจุบัน โดยไม่เห็นความสำคัญของการเก็บออม ยังไม่มีวิธีการเก็บออมที่เหมาะสม มองข้ามความสำคัญของการตั้งเป้าหมายทางการเงินระยะยาว และยังขาดทักษะในการเปรียบเทียบข้อมูลก่อนตัด สินใจซื้อสินค้าและบริการ ไม่ทราบแหล่งข้อมูลที่เหมาะสมในการศึกษาหาข้อมูล

  การวางแนวทางการสอนลูกเรื่องเงิน ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของเด็กในแต่ละวัย จะช่วยเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน ให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจเรื่องเงินได้อย่างเหมาะสม

            ช่วงก่อนวัยเรียน 

  สอนลูกให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างสิ่งของที่ต้องใช้เพราะ ‘จำเป็น’ กับสิ่งที่เป็นความ ‘ต้องการ’ พ่อแม่อาจใช้สถานการณ์ระหว่างการเลือกและตัดสินใจซื้อของ พูดคุยกับลูกให้เข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะส่งผลให้ใช้เงินไปกับสิ่งที่ไม่คุ้มค่า และอาจขาดโอกาสสำหรับการซื้อของที่จำเป็น สอนให้ลูกเลือกระหว่างการซื้อของทันทีกับการสะสมเงิน เพื่อได้ของที่จำเป็นหรือคุ้มค่ากว่าในภายหลัง ให้ลูกได้รู้จักเปรียบเทียบ ฝึกความอดทน และรู้จักการรอคอย 

              ช่วงวัยประถม 

 พ่อแม่อาจใช้วิธีชมเชยอย่างจริงใจ และในบางครั้งอาจมีการให้ค่าขนมเพิ่มเติมหรือรางวัลเล็กน้อยแก่ลูกเมื่อลูกช่วยทำงานบ้านที่เหมาะกับวัย หรือแบ่งเบาภาระการงาน โดยกำหนดปริมาณค่าตอบแทนจากความซับซ้อน และความสม่ำเสมอของการทำงานดังกล่าว สิ่งเหล่านี้จะสอนให้เด็กเข้าใจว่า เงินเป็นสิ่งตอบแทนจากการลงมือทำอะไรบางอย่าง และช่วยฝึกเรื่องความมีวินัยที่เป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จ เริ่มสอนให้ลูกรู้จักการเปรียบเทียบราคาต่างๆ ก่อนใช้จ่าย ชวนลูกตั้งเป้าหมายทางการเงิน รวมถึงสอนการแบ่งเงินเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน เช่น การออม การใช้จ่ายทั่วไป และการบริจาค โดยอาจมีกระปุกเก็บเงินหรือบัญชีเงินฝากที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละวัตถุประสงค์ ให้ลูกแบ่งเงินสำหรับการออมก่อนที่จะใช้จ่ายอย่างอื่น พาลูกไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม เปิดโอกาสให้ลูกเห็นความเป็นอยู่ของคนที่มีฐานะแตกต่างกัน เพื่อให้เข้าใจผลกระทบจากการจัดการเรื่องเงินที่สามารถจะเกิดขึ้นกับชีวิตแต่ละชีวิตได้ 

              วัยมัธยม

 สอนให้ลูกรู้จักการตั้งงบประมาณการใช้จ่าย บริหารการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริงให้ไม่เกินงบประมาณที่ตัวเองตั้งไว้ พ่อแม่อาจจะให้เงินสำหรับการใช้จ่ายของลูกเป็นรายเดือน เพื่อให้ลูกได้ฝึกบริหารการใช้จ่ายของตัวเองในระยะเวลาที่ยาวขึ้น ส่งเสริมให้ลูกมีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่นในตัวเอง ไม่คล้อยไปกับการใช้จ่ายเงินตามกระแสสังคม โดยเฉพาะการอวดรูปแบบการใช้ชีวิตที่เกินจริงจากเครือข่ายสังคมออนไลน์ เริ่มอธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สถาบันทางการเงินเรียกเก็บ ให้ลูกวางแผนและลงมือเก็บออมสำหรับค่าใช้จ่ายบางอย่างเช่น เงินสำหรับใช้จ่ายระหว่าการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น 

  การปลูกฝังความรู้ และพัฒนาทักษะด้านการบริหารเงินตั้งแต่วัยเด็ก จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยนำไปสู่การใช้ชีวิตในอนาคตที่ลดความเสี่ยงเรื่องการเงิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และมีสามารถในการช่วยเหลือแบ่งปันต่อสังคมโดยรวมด้วย

บทความโดย:ธชธร สมใจวงษ์

 1316
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์