เลือกลงทุนแบบ “คบซ้อน” ดีจริงไหม

เลือกลงทุนแบบ “คบซ้อน” ดีจริงไหม

ทุกวันนี้ยังมีนักลงทุนที่ยังวางแผนการเงินแบบ “คบซ้อน” กันอยู่ เจ้าของเงินลงทุนอาจจะรู้อยู่เต็มอกว่าไม่ใช่แผนที่ดีนัก บางคนรู้แต่ก็มองข้าม หรือบางคนไม่รู้เลยก็เป็นได้ มาดูตัวอย่างบางตอนว่าการลงทุนแบบ “คบซ้อน” คืออะไร และมีทางออกอย่างไร

ถาม : คุณเริ่มซื้อกองทุนตอนไหน

 ตอบ : เริ่มซื้อกองทุนกองแรกเมื่อ 10 ปีแล้ว เป็นกองทุนหุ้น ที่เลือกกองนี้เพราะมองว่าผลการดำเนินงานในอดีตน่าสนใจ และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กองทุนแล้วรู้สึกว่าสามารถซื้อได้ทุกเดือน หรือที่เรียกว่า DCA ซึ่งก็ทำแบบนี้มาจนถึงวันนี้

ถาม : คุณเริ่มซื้อกองทุนที่ 2 ที่ 3 ตอนไหน 

ตอบ : ด้วยหน้าที่การงานมั่นคงขึ้น รายได้ก็มากขึ้นตาม ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าควรแบ่งเงินไปลงทุนเพิ่ม และจากการที่กองทุนที่เราซื้อเอาไว้ก็ยังออกดอกออกผลให้เราได้อยู่ เลยตัดสินใจซื้อกองทุนเพิ่ม แต่ครั้งนี้เราซื้อ 2 กองเลย เป็นกองหุ้นทั้งหมด

ถาม : ทั้ง 3 กองที่คุณซื้อ เป็น บลจ. เดียวกันหรือเปล่า

ตอบ : ไม่เลย แต่ละกองเป็นของ บลจ. ที่ไม่ซ้ำกันเลย พูดง่ายๆ 3 กอง ก็ 3 บลจ.

ถาม : คุณรู้หรือไม่ว่าทั้ง 3 กองที่ซื้อนั้น มีนโยบายลงทุนอย่างไร

ตอบ : ตอนแรกๆ ไม่รู้ ที่ซื้อเพราะมองว่าผลการดำเนินงานในอดีตอยู่ในระดับที่เราพอใจ แต่เมื่อเข้าไปศึกษาอย่างจริงจัง พบว่าทั้ง 3 กอง มีนโยบายการลงทุนไม่ต่างกันเลย โดยหุ้นที่ลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก เป็นหุ้นตัวเดียวกัน

ถาม : คุณไม่เอะใจหรือว่าการทำแบบนี้ไม่ได้กระจายความเสี่ยงที่ดี ถึงแม้จะเป็นคนละกองทุน แต่นโยบายการลงทุนก็เหมือนๆ กัน

ตอบ : แรกๆ ไม่รู้ วันนี้เข้าใจลึกซึ้ง

ถาม : คุณเข้าใจเรื่องการกระจายความเสี่ยงดีขนาดไหน

ตอบ : ความสำคัญอย่างหนึ่งของการลงทุนที่ดี คือ ต้องรู้จักนโยบายและสไตล์การลงทุนของกองทุนนั้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ไม่ใช่ว่าเราซื้อกองทุน 3 กอง จาก 3 บลจ. นั้นถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะทั้ง 3 กองที่ว่าอาจมีสไตล์การลงทุนเหมือนกัน อย่างที่เราเจอตอนนี้ ก็เหมือนไม่ได้กระจายความเสี่ยงเลย

ถาม : คุณเริ่มสังเกตเห็นความเสี่ยงอะไรบ้าง

ตอบ : เราสังเกตว่าผลการดำเนินงานทั้ง 3 กองไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าตอนดีก็ดี พอตอนไม่ดีก็ไม่ดีตามกัน สาเหตุก็อย่างที่รู้ๆ กันก็มาจากการมีนโยบายลงทุนหุ้นคล้ายๆ กัน เช่น ซื้อหุ้นแบงก์ก็ซื้อตัวเดียวกัน พลังงานก็ตัวเดียวกัน ค้าปลีกก็ตัวเดียวกันอีก แน่นอนในช่วงที่ธุรกิจเหล่านี้ดี ผลงานของกองทุนก็ดี แต่พอธุรกิจเหล่านี้อยู่ในช่วงซบเซา ผลกำไรไม่โต ผลงานของกองทุนก็ไม่ดีตามไปด้วย

ถาม : จากนี้ไป คุณจะดำเนินการอย่างไร

ตอบ : ยังคงซื้อกองทุนและจะซื้อแบบ DCA พูดง่ายๆ ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีกันต่อไป แต่จะปรับพอร์ตกองทุน วิธีการคือจะแบ่งออกเป็นกองทุนหลักกับกองทุนรอง โดยมีเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว

ถาม : ช่วยเล่าวิธีการและทางออก

ตอบ : กองทุนหลัก เราจะเลือกกองทุน 2 กองทุน กองแรกเป็นกองหุ้น โดยจะเลือกกองที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นที่มีความมั่นคง เช่น หุ้นบลูชิป เน้นลงทุนหุ้นที่จ่ายเงินปันผลเสม่ำเสมอ หรือเน้นลงทุนหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET50 ส่วนอีกกองจะลงทุนกองตราสารหนี้ ที่มีนโยบายการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง เช่น ได้อันดับเครดดิต AAA , AA หรือ A  

สำหรับกองทุนรอง ก็จะซื้อ 2 กองเช่นกัน กองแรกจะซื้อกองทุนหุ้น ที่มีนโยบายลงทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ อีกกองจะไปซื้อกองตราสารหนี้ ที่มีนโยบายลงทุนหุ้นกู้ที่มีคุณภาพลงทุนได้ หรือที่เรียกว่า Investment Grade เช่น ได้อันดับเครดดิต BBB

บทความโดย:ฐิติเมธ โภคชัย

 814
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์