แค่คิดว่า “ยัง” ก็ “พัง” แล้ว

แค่คิดว่า “ยัง” ก็ “พัง” แล้ว

ปีนี้ก็ผ่านไป 9 เดือนแล้ว ใครยังไม่ออมเงินแม้แต่บาทเดียว ยกมือขึ้น อย่าชะล่าใจเพราะหากยังลั้นลากับการใช้เงินเพลินจนลืมวางแผน เพราะอย่าลืม แค่ “ยัง” คำๆ เดียว อาจกลายเป็นคนแบกหนี้ไปจนแก่เฒ่า

 

  1. ยังไม่ถึงเวลา

“เก็บเงินเพื่อเกษียณหรือยัง” บางคนที่เจอคำถามนี้ มักตอบว่า “อายุแค่ 30 เอง จะรีบไปไหน” หรือ “เวลามีถมเถ อายุขึ้นเลข 4 ค่อยว่ากัน”

แม้จะไม่มีคำว่า “สาย” กับการวางแผนการเงิน แต่หากเริ่ม “ช้า” ก็จะหนักกับเงินที่ต้องแบ่งมาออมในแต่ละเดือน เพราะยิ่งอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าต้องการมีเงินเก็บไว้ใช้หลังวัยเกษียณให้เพียงพอไปจนถึงวันสิ้นลมหายใจก็ต้องลงทุนในแต่ละเดือนไม่ใช่หลักร้อยหลักพันบาท แต่อาจเป็นหมื่นบาท

ตัวอย่าง 

นาย ก. เริ่มลงทุนตอนอายุ 28 ปี อยากมีเงิน 4 ล้านบาท ตอนอายุ 60 ปี ต้องลงทุน 2,255 บาทต่อเดือน (กรณีได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี) 

นาย ข. เริ่มลงทุนตอนอายุ 45 ปี อยากมีเงิน 4 ล้านบาท ตอนอายุ 60 ปี ต้องลงทุน 11,559 บาทต่อเดือน (กรณีได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8% ต่อปี)     

จากตัวอย่าง เห็นได้ว่าระยะเวลาในการออม มีผลอย่างมากต่อจำนวนเงินที่ต้องออมต่อเดือน พูดง่ายๆ ยิ่งเริ่มเร็วเท่าไหร่ เงินที่ต้องแบ่งมาออมมาลงทุนในแต่ละเดือนก็จะลดน้อยลง

 

  1. ยังอยากเที่ยว

ไม่แปลกที่ช่วงปีแรกๆ ของการทำงาน มนุษย์เงินเดือนมักจะนึกถึงการท่องเที่ยว ดังนั้น เราจึงเห็นหนุ่มสาวออกเดินทางท่องเที่ยว บางคนต้นปีเที่ยวในประเทศ พอปลายปีบินไปต่างประเทศ ถ้ารายได้เพียงพอก็ไม่มีปัญหา แต่สำหรับคนที่รูดบัตรเครดิตเพื่อการท่องเที่ยวอาจต้องปาดเหงื่อตอนจ่ายหนี้

“เที่ยวก่อน แล้วค่อยกลับมาใช้หนี้” หากใครยังแก้ตัวแบบนี้ อาจทำให้การใช้เงินไม่สมดุลกับเงินที่หามาได้ ดังนั้น ถ้าไม่อยากตกอับเพราะเรื่องเที่ยว ควรแบ่งเงินเก็บออมเพื่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ โดยวางแผนล่วงหน้านานๆ เช่น 12 เดือนข้างหน้าจะไปเที่ยวภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้รู้ว่าจะต้องเก็บเงินในแต่ละเดือนเท่าไหร่ แต่ที่สำคัญ เงินที่แบ่งมาต้องไม่กระทบกับการวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณ หรือกระทบต่อค่าใช้จ่ายประจำในแต่ละเดือน

ดังนั้น เดินทางท่องเที่ยวครั้งถัดไป อย่าลืมว่าต้องเก็บเงินให้พอก่อน อย่าเดินทางด้วยการพึ่งพาบัตรเครดิตอย่างเดียว เดี๋ยวจะได้หนี้ก้อนโตติดตัวกลับมาด้วย

 

  1. ยังผ่อนสินค้าอยู่

“ทีวี ตู้เย็น เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า รองเท้า ยังผ่อนอยู่เลย แล้วจะเหลือเงินออมที่ไหน” การมีหนี้ไม่ใช่ปัญหา หากเป็นหนี้แล้วสามารถจ่ายหนี้ได้โดยไม่กระทบกับการใช้ชีวิต และยังสามารถเหลือเงินไปลงทุน แต่ก็ยังมีหลายคนที่เห็นป้ายลดราคา หรือผ่อน 10 เดือน ดอกเบี้ย 0% ไม่ยอมพลาดกับการช้อป แต่พอใบแจ้งหนี้มาวางต่อหน้า ก็ต้องแทบเป็นลม เพราะไม่รู้ว่าจะหาเงินไปจ่ายหนี้ได้อย่างไร

วิธีการสำรวจว่าตัวเองมีสัดส่วนหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ในแต่ละเดือนมากน้อยแค่ไหน และจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ ให้ใช้สูตรอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt-to-Income Ratio : DTI) 

 

 

 

เช่น รายได้เดือนนั้น 30,000 บาท มีหนี้ต้องจ่าย 15,000 บาท เมื่อคำนวณแล้วจะมีอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ในเดือนนั้นเท่ากับ 50% หมายความว่า รายได้ทุกๆ 100 บาท จะมีหนี้ที่ต้องจ่าย 50 บาท ซึ่งตามหลักทฤษฎีแล้ว ในแต่ละเดือนควรมีอัตราส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ไม่เกิน 40% ถ้ามากกว่านี้ต้องหาทางลดหนี้ให้ได้ เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระหนักอึ้งในระยะยาว

บทความโดย:ฐิติเมธ โภคชัย

 843
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์