5 เคล็ดลับมนุษย์เงินเดือนลดภาษีรายได้

5 เคล็ดลับมนุษย์เงินเดือนลดภาษีรายได้

ข้อดีของการเป็นมนุษย์เงินเดือน คือ การมีรายได้ที่สม่ำเสมอทุกเดือน ซึ่งเป็นตัวช่วยในการวางแผนการใช้จ่าย รวมถึงการออมอย่างเป็นระบบ เราลองมาดูวิธีออมเงินแบบเน้นการลดภาษีรายได้แบบฉบับมนุษย์เงินเดือนกันครับ


1. ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


การฝากเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการออมเงินที่พลาดไม่ได้ นอกจากการสะสมเงินออมของเราในแต่ละเดือนแล้ว เรายังได้เงินส่วนสมทบจากนายจ้าง รวมถึงผลกำไรจากการดำเนินงานของกองทุนอีกด้วย เงินสะสมเข้ากองทุนในแต่ละปียังนำไปลดหย่อนภาษีได้ ในส่วนของการลดหย่อนภาษีนั้น เงินสะสมเข้ากองทุน 10,000 บาทแรกจะลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท เป็นเงินที่ได้รับยกเว้นภาษี โดยนำไปหักจากเงินได้พึงประเมิน ก่อนหักค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง

2. ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว - LTF


การออมผสานกับการลงทุนในหุ้น ด้วยกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุน LTF แต่ละกองทุนนั้นมีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน กองทุน LTF บางกองทุนมีนโยบายคุ้มครองเงินต้น เพื่อให้นักลงทุนได้รับผลประโยชน์ทางภาษี หรือบางกองทุนเน้นการลงทุนในหุ้น ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น และสามารถรับความเสี่ยงได้ โดยผลตอบแทน คือ ราคาส่วนต่างของหน่วยลงทุนในวันที่ขายกับวันที่ซื้อ แถมกองทุน LTF บางกองทุนมีนโยบายจ่ายปันผลระหว่างปีอีกด้วย และผลตอบแทนส่วนที่สาม คือ การนำค่าซื้อหน่วยลงทุนไปลดหย่อนภาษี โดยสามารถนำไปลดหย่อนได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท

3. ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ - RMF


อีกหนึ่งการออมที่สร้างโอกาสทำให้เงินออมเพิ่มค่าเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ อย่างที่ทราบกันครับว่า RMF เป็นการลงทุนระยะยาว ผู้ลงทุนจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่อมีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป ด้วยข้อบังคับของระยะเวลาออมที่ยาวนานนี่เอง จะทำให้เงินออมของเราได้ประโยชน์จากการเพิ่มค่าตามเวลา ซึ่งนับว่าเป็นช่องทางอันดีสำหรับการออมเงินเพื่อการเกษียณของเราครับ ในส่วนรูปแบบของผลตอบแทน จะมีลักษณะเช่นเดียวกับ LTF ครับ นั่นคือ ส่วนต่างของมูลค่าหน่วยลงทุน เงินปันผลในบางกองทุน และ สิทธิประโยชน์ในการนำไปลดหย่อนภาษี โดยค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF จะหักได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้

4. ซื้อประกันภัย


การออมที่มาพร้อมกับความคุ้มครอง คือ การซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต นอกจากความคุ้มครองแล้ว สำหรับกรมธรรม์ที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป เราสามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยส่วนแรกหักได้ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท 

5. บริหารเงินลดหย่อนในส่วนอื่น ๆ


หากเราสำรวจดูให้ดี เราสามารถลดหย่อนภาษีในด้านอื่น ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าลดหย่อนภาษีบิดา-มารดา และเงินบริจาค เคล็ดลับสุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุดสำหรับการลดภาษีรายได้ อย่าลืมสำรวจค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของเรา เก็บหลักฐาน / ใบเสร็จเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีครับ
 
การเลือกลงทุนที่เหมาะสม นอกจากผลตอบแทนที่จะได้รับเรายังได้รับผลประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติม หากเราแบ่งการลงทุนเป็นรายเดือน จะทำให้เรามีสภาพคล่องตลอดปี ทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนอีกด้วย

บทความโดย:krungsri.com

 1014
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์