ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น

ความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้น

แม้ว่าการลงทุนในหุ้นจะให้ผลตอบแทนที่ดี ทั้งจากเงินปันผล และกำไรจากการขายหุ้น แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า ผลตอบแทนเหล่านี้จะแน่นอน และมั่นคงเสมอไป สิ่งสำคัญที่ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเสมอ คือ "ไม่มีการลงทุนใดๆ ในโลกนี้ ปราศจากความเสี่ยง 100%)"และเมื่อต้องเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ก็ย่อมต้องคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยงนั้น ซึ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า  High Risk....High Expected Return ในทางกลับกัน หากเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ผู้ลงทุนจะคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่น้อยลง


ทั้งนี้มีปัจจัยต่างๆ อันเป็นความเสี่ยงที่อาจจะทำให้กระทบต่อผลตอบแทนในการลงทุนของนักลงทุนได้ ซึ่งได้แก่ 


1. ผลประกอบการบริษัท ภาวะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และภาวะเศรษฐกิจ  เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะกำหนดผลตอบแทนการลงทุนว่าจะอยู่ในระดับสูงหรือต่ำ รวมทั้งสถานการณ์การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากภาวะเศรษฐกิจขยายตัวดี และบริษัทมีผลประกอบการที่ดี ผู้ลงทุนย่อมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในทางตรงข้ามหากภาวะเศรษฐกิจซบเซา และบริษัทมีผลกำไรลดลงผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับก็มีแนวโน้มที่จะลดลงเช่นกัน

2. ความไม่แน่นอนของอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับ กล่าวคือ ผู้ลงทุนอาจขายหุ้นได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่คาดไว้ หรือบริษัทอาจจ่ายเงินปันผลในระดับต่ำหรือไม่จ่ายเงินปันผลเลย ซึ่งการที่ผู้ลงทุนได้รับอัตราผลตอบแทนต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง มีสาเหตุมาจากการที่กระแสเงินสดสุทธืของบริษัทผู้ออกหุ้นมีความไม่แน่นอน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนต่อผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย 

สาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดรับสุทธิของกิจการ ได้แก่ ความเสี่ยงทางธุรกิจ (Business Risk) และความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Risk) ของบริษัทผู้ออกหุ้น


3. ความเสี่ยงทางธุรกิจ (ฺBusiness Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากลักษณะของธุรกิจนั้นๆ เช่น ประเภทธุรกิจ โครงสร้างรายได้ ค่าใช้จ่ายของกิจการ ฯลฯ ทั้งนี้ ปัจจัยที่มากระทบต่อการดำเนินธุรกิจของกิจการอาจเป็น ปัจจัยมหภาค (Macro Factors) เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อ ค่าแรงงาน ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนผลิตสูงขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของธุรกิจ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เทคโนโลยี  การเมือง กฎระเบียบต่างๆ ฯลฯ

แต่ธุรกิจจะได้รับผลกระทบรุนแรงหรือไม่อย่างไร ขึ้นกับ "ปัจจัยจุลภาค" (Micro Factors) ภายในกิจการด้วย เช่น บางกิจการมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือ กิจการนั้นมีรายการค่าเสื่อมราคา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก ในทางตรงกันข้าม หากกิจการมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรน้อย รายการค่าเสื่อมราคาซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่ก็จะน้อยตามไปด้วย ซึ่งการที่กิจการมีต้นทุนคงที่จำนวนมาก เมื่อยอดขายไม่เป็นไปตามที่คาด แต่ภาระค่าใช้จ่ายยังคงที่เท่าเดิม ก็จะทำให้กำไรของกิจการติดลบอย่างมากในปีที่ยอดขายลดลง ส่งผลให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดว่าจะได้รับจากการลงทุนลดลงไปด้วย


4. ความเสี่ยงทางการเงิน (ฺFinancial Risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการที่กิจการสร้างภาะผูกพันทางการเงินไว้ เช่น การก่อหนี้ ถ้ากิจการใดมีการก่อหนี้จำนวนมาก กิจการนั้นก็จะมีภาระการจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายคงที่จำนวนมาก หากกิจการไม่สามารถทำกำไรได้ตามเป้าที่วางไว้ กำไรของกิจการก็จะไม่เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ เมื่อกิจการไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยตามภาระผูกพันได้ ก็จะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงที่อาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้

5. ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk) เนื่องจากไม่อาจเปลี่ยนหุ้นที่ลงทุนเป็นเงินสดได้ในเวลาที่รวดเร็วโดยไม่ขาดทุน เพราะหุ้นนั้นมีการหมุนเวียนเปลี่ยนมือในตลาดรองน้อย 

6. ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน (Interate  Rates Risk) การที่ระดับอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงผันผวนขึ้นลง ก็จะกระทบต่อระดับอัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการในยามที่อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่สูงขึ้น เท่ากับว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสในเงินลงทุนมีระดับสูงขึ้น ผู้ลงทุนจะต้องการอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น จึงต้องการจ่ายเงินซื้อหุ้น รวมทั้งหลักทรัพย์อื่นๆ ในราคาต่ำลง ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของระดับอัตราดอกเบี้ยโดยทั่วไป จะส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์ต่างๆ ลดลง 

7. ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Risk) โดยเงินเฟ้อเป็นภาวะการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากระดับเงินเฟ้อสูง จะส่งผลให้เงินที่มีอยู่ในมือ นำไปซื้อสินค้าได้น้อยลง หรือที่เรียกว่า เงินมีมูลค่าลดลงนั่นเอง ดังนั้น หากกล่าวว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้รับในรูปตัวเงินเท่ากับ 6% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2% แสดงว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจริงๆ หลังจากหักด้วยอัตราเงินเฟ้อแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 4%

ยิ่งในภาวะที่เงินเฟ้อสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงก็จะยิ่งลดลง ซึ่งการลงทุนในหุ้นไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้ แต่การที่ราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเงินปันผลก็จ่ายตามผลประกอบการ จึงเป็นที่เชื่อกันว่า การลงทุนในหุ้นจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจาดอัตราเงินเฟ้อได้ดีกว่าฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งให้ผลตอบแทนคงที่

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนในหุ้นจะต้องตระหนักถึงความเสี่ยงในการลงทุนเสมอ เพราะไม่มีอะไรจะเป็นหลักประกันได้ว่าการลงทุนในหุ้น จะต้องให้ผลตอบแทนที่สูงกลับคืนแก่ผู้ลงทุนเสมอไป ผลตอบแทนที่ได้รับอาจจะสูงหรือต่ำ หรืออาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนเลยก็ได้ ดังนั้นนักลงทุนควรเลือกทางเลือกการลงทุนที่สอดคล้องกับระดับการยอมรับความเสี่ยงของผู้ลงทุน หากกลัวความเสี่ยงมาก ก็ควรเลือกลงทุนที่มีความเสี่ยงในระดับที่ไม่สูงนัก และยอมรับระดับอัตราผลตอบแทนที่ไม่สูงเช่นกัน แต่หากผู้ลงทุนสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ ก็อาจจะเลือกลงทุนที่มีความเสี่ยงได้




บทความโดย : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 1509
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์