ลงทุนใน P2B - บริหารเงินอย่างธนาคารด้วยตัวคุณเอง

ลงทุนใน P2B - บริหารเงินอย่างธนาคารด้วยตัวคุณเอง

หลายๆ คนอาจทราบดีถึงกลไกการบริหารเงินฝากของสถาบันทางการเงินหรือธนาคาร การสร้างรายได้ของสถาบันการเงินหรือธนาคารก็มาจากการเก็บดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อ ดอกเบี้ยจากการลงทุนในตราสารทางการเงินต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเหล่านี้ ก็จะต้องมากกว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินการของสถาบันการเงินและธนาคาร และต้องมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายออกไป ซึ่งดอกเบี้ยที่สถาบันทางการเงินและธนาคารต้องจ่ายออกไปหลักๆ เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposits) นั่นเอง โดยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันทางการเงินได้รับ (Interest Income) และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายออกไป (Interest paid out) เรียกว่า “Net Interest Margin” (NIM)

ปัจจุบัน ตัวเลขเงินฝากธนาคารแห่งประเทศไทยได้บันทึกสถิติจำนวนเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบประจำวันที่ 10 เม.ย. 2561 เป็นจำนวน 13,189,252 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนบัญชีรวมทั้งหมด 94,660,973 บัญชี โดยจำนวนนี้ประกอบด้วยบัญชีเงินฝากประเภท จ่ายคืนเมื่อทวงถาม ออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ (น้อยกว่า 3 เดือนถึงมากกว่า 2 ปีขึ้นไป) (อ่านเกี่ยวกับ “ออมเงินด้วยการฝากเงิน.. เสี่ยงต่ำจริงหรือ?”)

ปัจจุบันนวัตกรรมทางการเงินอย่างแพลทฟอร์มการกู้ยืมเงิน หรือแพลทฟอร์มการปล่อยสินเชื่ออย่าง Peer-to-Business Lending(P2B) หรือ Peer-to-Peer Lending (P2P) เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถบริหารเงินของตนได้อย่างเช่นสถาบันทางการเงินหรือธนาคารได้ด้วยตัวเอง เพื่อการจัดสรรการลงทุนของเงินทุนหรือเงินออมที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficient) มากยิ่งขึ้น ด้วยการลดช่องว่างของอัตราดอกเบี้ย หรือ NIM ของการฝากเงินแบบในอดีต และแม้ว่าการลงทุนในรูปแบบนี้จะมีความเสี่ยงมากกว่าการฝากเงิน แต่หากนักลงทุนศึกษาการลงทุนในรูปแบบของการกระจายการลงทุน ที่เป็นหัวใจหลักของการลงทุนในแพลทฟอร์ม P2B ผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับย่อมมากกว่า และอยู่ในความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละคนรับได้นั่นเอง

ทำไมแพลทฟอร์มการกู้ยืมเงินออนไลน์ P2B และ P2P จึงสามารถให้ผลตอบแทนที่มากกว่าแก่นักลงทุน?

เนื่องจากแพลทฟอร์มการกู้ยืมเงินออนไลน์ P2B และ P2P เป็นแพลทฟอร์มที่ให้บริการผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงิน หรือ Fintech (Financial Technology) เข้ามาทดแทนการให้บริการในรูปแบบเดิมนั่นเอง ทำให้การให้บริการมีความสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยการใช้ระบบบริการผ่านทางออนไลน์ทั้งหมด ทำให้แพลทฟอร์มมีต้นทุกการดำเนินการต่างๆ ที่ต่ำกว่าสถาบันการเงินและธนาคารในรูปแบบเดิม ทำให้แพลทฟอร์มสามารถส่งคืนรายได้จากดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อของนักลงทุนกลับได้มากยิ่งขึ้น หรือสูงสุดที่ประมาณ 15% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ ประจำวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ตามสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทย สูงสุดอยู่ที่ 2.25% ต่อปี (จำกัดวงเงินให้อัตราดอกเบี้ย 2.25% ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาทแรก)

แพลทฟอร์มการกู้ยืมเงินออนไลน์ P2B และ P2P ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถบริหารจัดการเงินของตนเองได้ดังเช่นที่สถาบันทางการเงินและธนาคาร บริหากรจัดการเงินฝากในบัญชีต่างๆ เพื่อสร้างรายได้จาก NIM ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยการลงทุนใน P2B และ P2P เป็นการลด NIM ให้ต่ำลง หรือเหลือเท่ากับศูนย์ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละผู้ให้บริการแพลทฟอร์ม (อ่านเกี่ยวกับ “การลงทุนใน Peer-to-Business Lending (P2B)”)

https://www.moneywecan.com

 704
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์