ผู้สอบบัญชีสหกรณ์มีบทบาทและหน้าที่ในการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ได้อย่างไร (4 เม.ย. 2559)

ผู้สอบบัญชีสหกรณ์มีบทบาทและหน้าที่ในการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ได้อย่างไร (4 เม.ย. 2559)

 
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
 
          การทุจริต ประพฤติมิชอบมีโอกาสเกิดขึ้นทุกระดับในองค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน ของทุก ๆ ประเทศ ยิ่งนับวันก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีเทคนิคและวิธีการที่แยบยลในการปกปิด สร้างภาพลวงตา ดังปรากฏจากผลการสำรวจของ PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจในปี 2557 พบว่ามีบริษัทไทยที่ทำการสำรวจถึง 37 % ตกเป็นเหยื่อการทุจริต สำหรับประเภทของการทุจริตที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ การยักยอกสินทรัพย์ (Asset misappropriation) 71 % ตามด้วย การทุจริตจัดซื้อ (Procurement fraud) 43 % ,การรับสินบนและคอรัปชั่น (Bribery and corruption) 39 % อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์(Cyber crime) 18 % และการทุจริตทางบัญชี (Accounting fraud) 18 % การทุจริตในองค์กรส่วนใหญ่ เกิดขึ้นจากการกระทำผิดของพนักงานระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารระดับกลาง มากที่สุด 56 % โดยเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาคที่ 52 % ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการทุจริต บริษัทไทย 76 % เชื่อว่าขึ้นอยู่กับโอกาส(Opportunity) มากที่สุด ตามด้วยแรงจูงใจในการกระทำผิด (Incentive) 24 % ในขณะที่การใช้เหตุผลสนับสนุนเพื่อความชอบธรรมในการกระทำความผิดของตน (Rationalisation) ไม่มีผลต่อการกระทำความผิดตามทฤษฎีสามเหลี่ยมทุจริต (Fraud Triangle) ในแวดวงสหกรณ์ในช่วงเวลา 4 – 5 ปี ที่ผ่านมา ปัญหาการทุจริตของสหกรณ์ตกเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ ปัญหาการทุจริตเกี่ยวกับแชร์ล็อตเตอรี่ของสหกรณ์ออมทรัพย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนกระทั่งมาถึงปัญหาหนักสุดคือการทุจริตของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้สร้างความเสียหายมีมูลค่ามากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบต่อสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ในภาพรวมสหกรณ์ที่มีการทุจริตมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนทั้งหมด แต่ผลกระทบในเชิงลบทำให้เกิดกระแสความไม่เชื่อมั่นต่อระบบสหกรณ์ในประเทศไทย
          ในกระบวนการตรวจจับ และตรวจสอบการกระทำผิดในทุกกรณีจะต้องมีเอกสาร หลักฐานและพยานที่มีการสืบหา สืบค้น และรวบรวมอันจะนำมาเป็นหลักฐานยืนยันถึงการกระทำผิดและการประพฤติมิชอบ เอกสารที่นำมาเป็นหลักฐานสำคัญมักเป็นสารสนเทศทางการเงินการบัญชีซึ่งเป็นผลงานทางการบัญชีในการจัดทำและนำเสนอรายงานทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การตรวจจับ ตรวจสอบทุจริต เพื่อค้นหาบุคคลที่กระทำผิดมาลงโทษเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งกว่าจะค้นพบและได้ลงโทษผู้ทุจริต ผลเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว บางครั้งไม่ได้รับการชดใช้ และไม่สามารถนำทรัพย์สินที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้อย่างครบถ้วน ปัญหาเรื่องการทุจริตในสหกรณ์เป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญต้องแก้ไขและหาทางป้องกัน โดยความร่วมมือผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งภายในสหกรณ์ และจากหน่วยงานภายนอกที่มีหน้าที่กำกับดูแล
          ในฐานะของผู้สอบบัญชีสหกรณ์จะมีบทบาทและมีส่วนช่วยในการหาทางแก้ไขและหาทางป้องกันปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ได้มากน้อยเพียงใด และสามารถทำได้อย่างไร
 
หลักการและทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุการทุจริต
          จากหลักการและทฤษฎีเกี่ยวกับ การประพฤติมิชอบ การทุจริตคดโกง สามารถป้องกันได้หรือขจัดได้ หากองค์กรสามารถขจัดพฤติกรรมหรือขจัดสิ่งที่เป็นต้นเหตุได้ก็คาดว่าจะป้องกันและขจัดปัญหาการทุจริตคดโกงได้ จากหลักการและทฤษฎี Triangle Fraud ของ Dr. Ronald R.Cressey (1940) และทฤษฎี Four-Sided Diamond Fraud ของ David T.Wolfe and Dana R. Hermanson (2004) และทฤษฎี GONE Theory ของ Leonard J. Brook (2004) โดยหลักทฤษฎีทั้งสามได้กล่าวถึงสาเหตุจูงใจของพฤติกรรมผู้กระทำผิดหรือสิ่งที่จะก่อให้เกิดการทุจริต ตามตารางดังนี้
 
 
คำอธิบายความหมายของคำศัพท์ที่เป็นสาเหตุแห่งการทุจริต ประพฤติมิชอบ มีดังนี้
 
          Opportunity - โอกาส เหตุการณ์ สถานการณ์ที่เอื้ออำนวย มีสิ่งล่อตาล่อใจ เปิดโอกาสที่จะฉกฉวยผลประโยชน์เนื่องจากความบกพร่องหรือจุดอ่อนของระบบงาน หรือช่องว่างของกฎระเบียบที่เปิดโอกาสให้ทำได้
 
          Pressure – ความกดดัน ความกดดันและแรงกดดันเมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันจากสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ มีความจำเป็นต้องการใช้เงิน
 
          Incentive / Motive – แรงจูงใจ แรงบันดาลใจ มีสิ่งจูงใจ แรงบันดาลใจจากเพื่อน ญาติพี่น้อง และคนใกล้ตัวชักจูงอยากรวยทางลัด อยากได้ทรัพย์สินของคนอื่น
 
          Capability – ความสามารถ มีความสามารถที่ทำได้ที่เกิดจากอุปนิสัย ความสามารถเฉพาะตัวของผู้ปฏิบัติงาน และลักษณะงานเอื้อประโยชน์ที่จะประพฤติมิชอบและทำทำการทุจริตได้
 
          Rationalization – มีเหตุผล มีเหตุผลเข้าข้างตนเองว่าสามารถทำได้ คนอื่นยังสามารถทำได้โดยไม่คิดว่าผิด มีความสามารถ และโอกาสที่เกิดจากตำแหน่งงาน ลาภยศที่ได้ มีอำนาจที่จะเลือกปฏิบัติ หรือเบี่ยงเบนพฤติกรรมไปในทางมิชอบได้ง่าย สาเหตุแห่งพฤติกรรมนี้เป็นสิ่งอันตรายมากที่สุด เนื่องจากผู้กระทำผิดเป็นผู้นำหรือผู้มีอำนาจ ยากที่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลอื่นจะคัดค้านทัดทานได้ พลอยทำให้ลูกน้องและบุคลากรในระดับล่างเพิกเฉยทำเป็นไม่รับรู้ต่อพฤติกรรมที่มิชอบหรือบางครั้งต้องประพฤติมิชอบตามไปด้วย จนทำให้เกิดความรู้สึกและความคิดที่เป็นเรื่องปกติประหนึ่งเป็นวัฒนธรรมในองค์กร
 
          Greed – ความโลภ เกิดความละโมบโลภมาก เห็นคนอื่นทำผิดแล้วไม่ได้รับการลงโทษ จับไม่ได้จึงหลงผิดอยากทำบ้าง ไม่พึงพอใจในสิ่งที่ตนมี อยากมีเงินมีทองทรัพย์สมบัติมากกว่าที่ตนมี
 
          Need – ความต้องการอยากได้ ความต้องการหรือความจำเป็นที่ต้องการใช้เงิน มีปัญหาด้านการเงิน เงินไม่พอใช้จ่าย มีภาระต้องรับผิดชอบสูง จึงเป็นแรงกดดันให้ทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อให้ได้เงินมา
 
          Expectation – ความคาดหวัง คาดหวังว่าสิ่งที่ตนกระทำไม่มีผู้อื่นล่วงรู้ และเอาผิดได้ หรือโอกาสที่จะถูกค้นพบการกระทำที่ผิด ถูกจับได้และรับการลงโทษน้อยมาก
 
แนวทางในการป้องกันและลดปัญหาการทุจริตในสหกรณ์
          ความพยายามในการปิดกั้นมิให้เกิดสิ่งที่เป็นสาเหตุแห่งการทุจริตดังกล่าวข้างต้นเชื่อว่าจะช่วยให้ป้องกันและลดการกระทำที่นำไปสู่การทุจริตได้ ซึ่งขอเสนอแนวทางในการป้องกันและลดปัญหาการการทุจริตประพฤติมิชอบในสหกรณ์ ประกอบด้วย (1) การมีระบบการควบคุมภายใน ระบบสารสนเทศที่รัดกุม รอบคอบ มีการสอบทานและการตรวจสอบ (2) การสร้างกรอบและสร้างวินัย (3) การปลูกฝังให้บุคลากรในสหกรณ์ยึดมั่นต่อหลักคุณธรรม มีจริยธรรม จรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน และ (4) การควบคุมและกำกับดูแลที่ดีจากผู้มีอำนาจกำกับดูแลภายนอก 
 
          (1) ระบบการควบคุมภายใน ระบบสารสนเทศที่รัดกุม
               รอบคอบและเหมาะสม การไม่เปิดโอกาสหรือไม่ให้มีโอกาสในการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ สามารถทำได้โดยระบบการควบคุมภายในการดำเนินงานในสหกรณ์ที่รัดกุม ระบบสารสนเทศทางการบัญชีที่ดี สามารถตรวจสอบ สอบทานความถูกต้องได้ทุกขั้นตอน สามารถรวบรวมข้อมูลตัวเลขในการจัดทำและนำเสนอรายงานทางการเงินอย่างครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา โดยสามารถตรวจสอบได้ มีการออกฎเกณฑ์ ระเบียบ และข้อบังคับ ถือเป็นแนวปฏิบัติให้แก่บุคลากร เป็นการปฏิบัติให้อยู่ในกรอบ และมีการลงโทษที่แรงพอที่จะไม่เป็นแรงจูงใจหรือบันดาลใจให้กล้ากระทำผิด        
 
          (2) การสร้างกรอบและสร้างวินัย 
               สหกรณ์ต้องมีกฎระเบียบ ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำที่จะสร้างตัวอย่างที่ดีให้เกิดขึ้นในสหกรณ์ด้วยการอยู่ในกรอบเสมอ การสร้างกรอบในสหกรณ์โดยการกำหนดข้อบัญญัติ ข้อกำหนดจริยธรรม ข้อควรประพฤติ และข้อควรปฏิบัติ การตั้งระเบียบ วินัย กฎเกณฑ์ ระเบียบปฏิบัติ จากภายในองค์กรให้บุคลากรทุกระดับยอมรับและปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ โดยถือปฏิบัติสืบต่อไปจนเคยชินที่จะถูกซึมซับและยอมรับเป็นวัฒนธรรมองค์กร เป็นสิ่งที่ดีและเป็นที่คาดหวังของทุกองค์กรที่จะทำให้สัมฤทธิผล
 
          (3) การปลูกฝังให้บุคลากรในสหกรณ์ยึดมั่นต่อหลักคุณธรรม มีจริยธรรม จรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน 
               จริยธรรมหรือจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน หมายถึงศีลธรรมประจำวิชาชีพ สามารถสร้างขึ้นมาได้ ในทุกสาขาวิชาชีพจะมีการกำหนด จรรยาบรรณโดยผู้มีอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลตามหลักการของธรรมาภิบาล จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพต่าง ๆ มักจะกำหนดเกณฑ์อย่างต่ำที่เป็นคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ เช่นด้านความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถ และความรับผิดชอบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย สหกรณ์ต้องมีการกำหนดข้อบังคับทางด้านจริยธรรมหรือจรรยาบรรณที่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมถึงนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน สร้างความเข้าใจ สร้างการยอมรับ และให้มีการปฏิบัติตามหลักการจรรยาบรรณ แนวประพฤติ แนวปฏิบัติ ให้ประจักษ์แก่บุคคลภายนอกเป็นสัญลักษณ์ขององค์กร
         
          (4) การควบคุมและกำกับดูแลที่ดีจากผู้มีอำนาจกำกับดูแลภายนอก 
               ผู้มีอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลที่ดี คือ นายทะเบียนสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ต้องมีออกกฎระเบียบและข้อบังคับที่เข้มงวด และบทลงโทษที่รุนแรงที่จะไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจให้กระทำผิด ได้เปิดโอกาสให้ได้คิดตรึกตรองถึงโทษที่จะได้รับหากเสี่ยงต่อการประพฤติมิชอบ หากกฎระเบียบไม่เคร่งครัด ไม่เข้มงวดพอและบทลงโทษไม่รุนแรงพอ มักจะเป็นเหตุจูงใจ และมีเหตุผลเข้าข้างตนเองที่จะกระทำผิด ดังนั้นหน่วยงานที่มีอำนาจออกกฎหมายที่เข้มงวด พร้อมบทลงโทษที่รุนแรง มีการตัดสินลงโทษให้เห็นเป็นกรณีตัวอย่างให้เป็นที่ประจักษ์อย่างเด่นชัด ก็คาดว่าเป็นวิธีที่สามารถสกัดกั้นการทุจริตได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง
 
          ระบบการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตในสหกรณ์ 
               ในฐานะของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ มีบทบาทและหน้าที่ในการป้องกัน สกัดกั้น ลด ขจัด การทุจริต ประพฤติมิชอบในสหกรณ์ได้โดยปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
 
          1. ระดับการควบคุมและกำกับดูแลที่ดี จากผู้มีอำนาจภายนอก ได้แก่ นายทะเบียนสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ มีการออกมาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เข้มงวด พร้อมมีบทลงโทษที่รุนแรงหากมีการละเมิด รวมทั้งการควบคุมและกำกับดูแลที่ดีทั้งจากผู้มีอำนาจภายนอกและภายใน (ฝ่ายบริหาร) มีการวางระบบการปฏิบัติงาน ระบบสารสนเทศ กำหนดวินัย ข้อกำหนด แนวปฏิบัติ ที่ปลูกจิตสำนึกให้บุคลากรมีความซื่อสัตย์ มีศีลธรรม และที่สำคัญผู้บริหารมีการปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นที่ประจักษ์ และซึมซับในตัวบุคลากรจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร
 
         2. ระดับการตรวจสอบ จากผู้สอบบัญชี ผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ ผู้ตรวจการสหกรณ์ และผู้ตรวจสอบภายในสหกรณ์ ทำหน้าที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในเรื่องของความถูกต้อง โดยตรวจสอบการปฏิบัติงานของบุคลากรทุก ๆ ส่วนงาน และสอบทานเอกสารหลักฐานที่เป็นรายงานการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ รายงานทางการเงิน ว่ามีความถูกต้อง ครบถ้วน ตรงตามความเป็นจริงและปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ผู้มีอำนาจในระดับที่ 1 ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด หรือไม่ หากพบว่ายังมีข้อบกพร่อง ต้องมีการรายงาน การสั่งการและมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขให้ตรงตามความจริง เหมาะสมและทันเวลา
 
          3. ระดับปฏิบัติงาน จากฝ่ายจัดการ โดยพนักงานทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ตามความรับผิดชอบของตนตามที่ผู้มีอำนาจ ผู้ควบคุมและกำกับดูแล ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด หากผู้ปฏิบัติงานมีความซื่อสัตย์ และยึดมั่นต่อจริยธรรม ส่งผลให้ผลงานที่ได้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อความถูกต้องและเป็นธรรม
 
          จากการปฏิบัติงานทั้ง 3 ระดับในองค์กร(สหกรณ์) อย่างเป็นระบบ จะช่วยป้องกัน ลดระดับ และขจัดพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุนำไปสู่การทุจริตได้ กล่าวคือ ในระดับที่ 1 การมีกฎระเบียบที่เข้มงวดพร้อมกับบทลงโทษที่รุ่นแรง คาดว่าจะสกัดความรู้สึกที่จะเข้าข้างตัวเองว่ามีโอกาส มีความหวังว่าจะทำโดยไม่ได้รับโทษ หรือรับโทษที่เบาคุ้มค่ากับผลประโยชน์ที่จะได้รับ นอกจากนี้การปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกในเรื่องวินัย จริยธรรม คาดว่าจะทำให้ลดความโลภได้ ในระดับ 2 การตรวจสอบ จะช่วยลดความรู้สึกที่คิดว่าตนเองมีความสามารถ มีเหตุผลว่าสามารถทำได้โดยไม่มีผู้อื่นรู้ ลดความคาดหวังที่จะเอาของคนอื่นมาเป็นของตน และในระดับที่ 3 การปฏิบัติงานของฝ่ายจัดการ หากมีการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด มีความซื่อสัตย์ ทำให้ลดแรงกดดัน และความต้องการ ความจำเป็นทางด้านการเงิน ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทของผู้สอบบัญชีสหกรณ์ทั้ง 3 ระดับดังกล่าวข้างต้นช่วยลดและขจัดต้นเหตุแห่งการทุจริตได้ทั้งด้าน โอกาส ความจำเป็น การมีเหตุผล ความสามารถเฉพาะ และความโลภ
 
          26 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมาถือเป็นวันที่สหกรณ์ในประเทศไทยก้าวผ่าน 100 ปี ปัญหาการทุจริตในภาคสหกรณ์ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะนำแนวทางการป้องกันและลดปัญหาในการทุจริตในสหกรณ์ สู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายรัฐของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการพัฒนากระบวนการสหกรณ์ให้โปร่งใสมากขึ้น โดยจะประกาศให้ปี 2559 เป็นปีแห่งการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์
https://www.cad.go.th
 942
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์