ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยครึ่่งแรกปี 2557 (21 ส.ค. 2557)

ภาวะเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยครึ่่งแรกปี 2557 (21 ส.ค. 2557)

โดย.....เพยาว์ กิมปฐม

 
          "เศรษฐกิจภาคสหกรณ์ครึ่งปีแรกติดลบ 1.06% เหตุสมาชิกสหกรณ์ยังไม่มั่นใจสถานการณ์บ้านเมือง ระมัด ระวังการใช้จ่าย ลดการอุปโภค และบริโภค ออมเงินมากขึ้น ธุรกิจหด กำไรลด เชื่อว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งเฉลี่ยที่ 0.5-1.0%”
         
          สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรก ธนาคารแห่งประเทศไทยชี้ครึ่งปีแรกติดลบ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ส่งผลให้ไตรมาสแรกติดลบอยู่ที่ 0.6% แม้ไตรมาสที่ 2 เริ่มกลับมาทรงตัว แต่ก็ทำให้ภาพรวมในครึ่งปีแรกยังคงติดลบ โดยเชื่อว่า 2 ไตรมาสสุดท้ายที่เหลือของปี เศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เฉลี่ยไตรมาสละ 3-4% ซึ่งจะส่งผลจีดีพี ทั้งนี้ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น จากการอุปโภคและบริโภคของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ต่อเนื่อง 
          ส่วนเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยในครึ่งปีแรก จากข้อมูลรวบรวม (ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557) สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 11,051 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์ 6,901 แห่ง (ภาคเกษตร 3,808แห่ง นอกภาคเกษตร 3,093 แห่ง) และกลุ่มเกษตรกร 4,150 แห่ง มีสมาชิกผู้รับบริการรวมทั้งสิ้น 12.18 ล้านคน คิดเป็น 18% ของประชากรไทยทั้งประเทศ พบว่า เศรษฐกิจภาคสหกรณ์ติดลบเช่นเดียวกับเศรษฐกิจประเทศที่ 1.06% เหตุสมาชิกสหกรณ์ไม่มั่นใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง ระมัดระวังการใช้จ่าย ลดการอุปโภคและบริโภค หันมาออมเงินมากขึ้น แต่เชื่อว่าในครึ่งปีหลังจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งเฉลี่ยที่ 0.5-1.0% มีรายละเอียดดังนี้
          สภาพทั่วไป จำนวนสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรและจำนวนสมาชิกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ร้อยละ 2.00 และ ร้อยละ 1.42 เงินทุนดำเนินงานขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเงินทุนส่วนใหญ่เป็นเงินทุนภายในจากทุนเรือนหุ้นที่สมาชิกเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง กับเงินฝากที่สมาชิกเป็นผู้ฝากรายใหญ่เช่นกัน และด้วยจำนวนสมาชิกมีค่อนข้างมากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงในสถานะที่เป็นทั้งเจ้าของและผู้ใช้บริการ อีกทั้งการดำเนินการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสหกรณ์ที่เป็นตัวแทนจากสมาชิก นับเป็นจุดแข็งของภาคสหกรณ์ทย        
          ภาคธุรกิจ มีทุนดำเนินงานทั้งสิ้น 2.25 ล้านล้านบาท ดำเนินธุรกิจแบบอเนกประสงค์ 5 ธุรกิจให้บริการสมาชิก สร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจ 1.96 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.48 ของ GDP ธุรกิจหดตัวลงร้อยละ 1.06 เมื่อเทียบกับปี 2556 ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจสินเชื่อและธุรกิจรวบรวม/แปรรูปผลผลิตหดตัวลงมาก ทั้งนี้ธุรกิจสินเชื่อ(ธุรกิจให้เงินกู้ยืม) มีปริมาณมากสุด 1.20 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61.27 ของธุรกิจให้บริการรวมทั้งสิ้น ตกเฉลี่ยเดือนละ 1 แสนล้านบาท รองลงมา ธุรกิจรับฝากเงิน (29.01%) ธุรกิจรวบรวมผลิตผลและแปรรูป (5.28%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (4.36%) และธุรกิจการให้บริการ (0.08%) ตามลำดับ ถ้าพิจารณาเป็นรายประเภท พบว่า ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์ มีปริมาณธุรกิจสูงสุด 1.55 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 79.24 ตกเฉลี่ยเดือนละ 1.29 แสนล้านบาท รองลงมา ประเภทสหกรณ์การเกษตร ปริมาณเท่ากับ 3.1 แสนล้านบาท (15.95%)
 
 
 
         1. กลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร(เกษตร/ประมง/นิคม) จำนวน 3,808 แห่ง สมาชิก 6.65 ล้านคน
           
           "ธุรกิจหดตัวลงร้อยละ 3.37 เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูป หดตัวลง รายได้หด กำไรลด ส่วนครัวเรือนมีอัตราการก่อหนี้มากกว่าการออมเงิน”
            ภาคการเกษตรมีทุนกว่า 2 แสนล้านบาท มีธุรกิจลงทุน 5 ธุรกิจ มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 3.28 แสนล้านบาท หดตัวลง ร้อยละ 2.33 เมื่อเทียบกับปี 2556 ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจรวบรวมผลิตผล/แปรรูปหดตัวลง 13.59 % ทั้งนี้ธุรกิจรวบรวม/แปรรูปผลิตผลมีปริมาณสูงสุดจำนวน 9.5 หมื่นล้านบาท (29%) หรือเฉลี่ย 14,410 บาทต่อคน รองลงมา ธุรกิจสินเชื่อ (26%) ธุรกิจรับฝากเงิน(22%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (23%) และ ธุรกิจให้บริการและส่งเสริมการเกษตร (0.2%) ตามลำดับ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1.94 แสนล้านบาท (ลดลง5.11%) ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 1.90 แสนล้านบาท(ลดลง 5.08%) คิดเป็นร้อยละ 97.48 ของรายได้รวมทั้งสิ้น และมีกำไรสุทธิรวม 4,904 ล้านบาท(ลดลง 6.25%) ส่วนครัวเรือนมีเงินออมตกเฉลี่ย 15,201 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 3.68%) ขณะที่หนี้สินตกเฉลี่ย 20,421 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 6.08%) โดยหนี้คิดเป็น 1.34 เท่าของเงินออม
         
          2. กลุ่มสหกรณ์นอกภาคเกษตร (ร้านค้า/บริการ/ออมทรัพย์/เครดิตยูเนี่ยน) จำนวน 3,093 แห่ง สมาชิก 4.95 ล้านคน
         
          "ธุรกิจหดตัวลงร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจสินเชื่อหดตัวลง ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 37.10% กำไรหด ส่วนครัวเรือนก่อหนี้ใกล้เคียงกับออมเงิน”
          นอกภาคการเกษตร มีทุนรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท มีธุรกิจลงทุน 5 ธุรกิจเช่นกัน โดยส่วนใหญ่เน้นธุรกิจสินเชื่อและ ธุรกิจรับฝากเงินเป็นหลักคล้ายธนาคาร มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 1.62 ล้านล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับปี 2556 ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจสินเชื่อหดตัวลง 1.70% โดยธุรกิจสินเชื่อมีปริมาณธุรกิจสูงสุด 1.1 ล้านล้านบาท (69%) หรือเฉลี่ย 2.25 แสนบาทต่อคน รองลงมาคือ ธุรกิจรับฝากเงิน (30%) และอื่นๆ (0.7%) ตามลำดับ มีรายได้รวม 1.33 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 11.55%)ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม 8.59 หมื่นล้านบาท (เพิ่มขึ้น 39.10%) และมีกำไรสุทธิรวม 47,785 ล้านบาท(ลดลง 16.46%) ส่วนครัวเรือนมีเงินออมตกเฉลี่ย 272,925 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 4.72%) หนี้สินตกเฉลี่ย 308,565 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 4.72%) โดยหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 1.13 เท่าของเงินออมเฉลี่ย
 
          3. กลุ่มเกษตรกร จำนวน 4,150 แห่ง สมาชิก 5.74 แสนคน
 
           "ธุรกิจหดตัวลงร้อยละ 15.11 เมื่อเทียบกับปี 2556ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจลงทุนทุกด้านหดตัวลง รายได้ลด กำไรหด ครัวเรือนระมัดระวังการใช้จ่าย ออมเงินเพิ่ม 14.29%”
           กลุ่มเกษตรกร มีทุนรวมทั้งสิ้น 3,598 ล้านบาท มีธุรกิจลงทุน 5 ธุรกิจคล้ายกับภาคการเกษตร มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 10,772 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 15.11 เมื่อเทียบกับปี 2556 ปัจจัยสำคัญมาจากธุรกิจลงทุนหดตัวลงทุกด้าน โดยธุรกิจรวบรวม/แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรมีปริมาณสูงสุดจำนวน 7,415 ล้านบาท (69%) หรือ เฉลี่ย 12,901 บาทต่อคน รองลงมาคือ ธุรกิจสินเชื่อ ( 17%) ธุรกิจจัดหาสินค้ามาจำหน่าย (11%) และอื่นๆ (3%) ตามลำดับ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 9,469 ล้านบาท(ลดลง 16.70%) ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 9,329 ล้านบาท(ลดลง 16.58%) มีกำไรสุทธิรวม 140 ล้านบาท (ลดลง 23.91%) ส่วนครัวเรือนมีเงินออมตกเฉลี่ย 1,680 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 14.29 %) และมีหนี้สินตกเฉลี่ย 3,560 บาทต่อคน (เพิ่มขึ้น 4.83 %) โดยหนี้สินเฉลี่ยคิดเป็น 2.1 เท่าของเงินออมเฉลี่ย ค่อนข้างสูง 
ผลการดำเนินงาน ในภาพรวมถือว่าดีมีกำไรทุกกลุ่ม
แม้ว่าประเภทประมงและเครดิตยูเนี่ยนจะขาดทุน โดยเฉพาะ
เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นขาดทุนค่อนข้างมากเหตุลูกหนี้ผิดนัดชำระ
หนี้มากจนขาดสภาพคล่องและประสบการขาดทุน แต่ภาพรวมทั้ง
ระบบยังคงมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 5.28 หมื่นล้านบาท (ลดลง 
15.63%) โดยมีรายได้ 3.38 แสนล้านบาท(เพิ่มขึ้น0.43%)
ขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 2.85 แสนล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.10%)
นอกภาคการเกษตรทำกำไรสูงสุดเท่ากับ 4.77 หมื่นล้านบาท 
คิดเป็นร้อยละ 90.45 ของกำไรสุทธิทั้งสิ้น ขณะที่ภาคการเกษตร
 
 
มีกำไร 4,904 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.28 ส่วนกลุ่มเกษตรกรมีกำไร 140 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.26 ค่าใช้จ่ายขยายตัวมากกว่ารายได้ แสดงให้เห็นว่าการควบคุมต้นทุนการบริหารจัดการหรือต้นทุนการผลิตของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทุกประเภทต้องได้รับการปรับปรุง พัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากพบว่าต้นทุนค่อนข้างสูงใกล้เคียงรายได้รวม ทั้งนี้เพื่อให้ช่องว่างระหว่างรายได้และรายจ่ายมีมากขึ้นส่งผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในที่สุด
 
 
ภาคครัวเรือน มีเงินออมเฉลี่ย 119,380 บาทต่อปี (เพิ่มขึ้น 7.21%) และมีหนี้สินเฉลี่ย 136,813 บาทต่อปี (เพิ่มขึ้น 7.26%) โดยครัวเรือนภาคการเกษตรมีเงิน
ออมตกเฉลี่ยคนละ 15,201 บาทต่อคน ขณะที่มีหนี้เงินกู้ยืมตกเฉลี่ยคนละ 20,421 บาทต่อคน ส่วนครัวเรือนนอกภาคการเกษตรมีเงินออมตกเฉลี่ย คนละ 272,925 บาทต่อคน และมีหนี้เงินกู้ยืม ตกเฉลี่ยคนละ 308,565 บาทต่อคน ส่วนครัวเรือนกลุ่มเกษตรกรมีเงินออมตกเฉลี่ยคนละ 1,680 บาทต่อคน และมีหนี้เงินกู้ยืมตกเฉลี่ยคนละ 3,560 บาทต่อคน ซึ่งหากพิจารณาถอยหลังไปในรอบ 5 ปี (พ.ศ.2552-2556) จะพบว่าครัวเรือนออมเงินใกล้เคียง
กับกู้ยืม ยกเว้นปี 2555-56 ออมเงินมากกว่ากู้ยืม สะท้อนถึงสมาชิกระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สร้างหลักประกันและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง
          มองเศรษฐกิจเชิงมิติทางการเงิน ครึ่งแรกปี 2557 พบว่า ภาพรวมส่วนใหญ่มีความสามารถในการบริหารจัดการได้ดีพอสมควรจะเห็นได้จาก ความพอเพียงของเงินทุนต่อความเสี่ยง(Capital strength) พบว่า พอเพียงและไม่เสี่ยง จากทุนดำเนินงานที่มีจำนวน 2.26 ล้านล้านบาท ขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.75 เมื่อเทียบกับปี2556 โดยเป็นทุนของสหกรณ์จำนวนถึง 9.71 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.01 และมีเงินกู้ยืมภายนอกมาเพียง 5.67 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.13 ทุนสหกรณ์จึงรองรับหนี้เงินกู้ยืมภายนอกได้ 1.71 เท่า คุณภาพสินทรัพย์ (Asset Quality) ส่วนใหญ่มีคุณภาพสร้างรายได้และให้ผลตอบแทนร้อยละ 2.37 โดยสินทรัพย์ของภาคสหกรณ์ 2.26 ล้านล้านบาท ร้อยละ 80.54 เป็นลูกหนี้สินเชื่อมากที่สุดจำนวน 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถชำระหนี้ถึงได้ร้อยละ 79.47 ของหนี้ถึงกำหนดชำระ และมีหนี้ที่ไม่สามารถชำระตามกำหนดได้เพียงร้อยละ 2.24 ของมูลหนี้ทั้งสิ้น ความสามารถในการบริหารจัดการ (Management Ability) มีการบริหารจัดการ 5 ธุรกิจหลัก ปริมาณรวมทั้งสิ้น 1.96 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 1.63 แสนล้านบาทต่อเดือน หดตัวลงร้อยละ 1.06 เมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากสมาชิกสหกรณ์ลดการบริโภคและอุปโภคลง โดยเฉพาะธุรกิจรวบรวมผลผลิต/แปรรูปหดตัวมากสุด แต่หากพิจารณาถึงเสถียรภาพทางการเงิน พบว่า ภาคสหกรณ์ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.02 มีความมั่นคงทางการเงินอยู่ในระดับปานกลาง และระดับมั่นคงดี-ดีมาก ร้อยละ 19.30 ขณะที่ระดับที่อ่อนแอมากมีเพียงร้อยละ 8.59 ความสามารถในการทำกำไร (Earning) แม้ประเภทประมงและเครดิตยูเนี่ยนจะประสบผลขาดทุน แต่ภาพรวมยังมีกำไร โดยหดตัวลงร้อยละ 15.63 เมื่อเทียบปี 2556 ทั้งนี้รายได้ขยายตัวเพียง 0.43% ขณะที่ค่าใช้จ่ายขยายตัวมากกว่าที่ 4.10% สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity)  พิจารณาจากอัตราส่วนระหว่างหนี้สินหมุนเวียนต่อสินทรัพย์หมุนเวียน พบว่า มีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน 2.22 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม หนี้สินหมุนเวียนเกินกว่าครึ่งเป็นเงินฝากของสมาชิกคิดเป็นร้อยละ 56.62 และลูกหนี้ส่วนใหญ่สามารถชำระได้ตามกำหนดถึงร้อยละ 79.49 ของมูลหนี้ที่ถึงกำหนดชำระทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าถึงแม้หนี้สินหมุนเวียนจะมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนแต่ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากจากสมาชิกซึ่งมีโอกาสน้อยมากที่สมาชิกทุกคนจะถอนเงินฝากออกไปในครั้งเดียวพร้อมกันจำนวนมากประกอบกับสัดส่วนของจำนวนลูกหนี้ที่สามารถชำระได้ตามกำหนดมีมากกว่าสัดส่วนของลูกหนี้ที่ชำระหนี้ไม่ได้ตามกำหนด ดังนั้นสภาพคล่องของภาคสหกรณ์ทั้งระบบจึงอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างปลอดภัยแต่ไม่ควรประมาทและต้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ ผลกระทบของธุรกิจ (Sensitivity)  มีความเสี่ยงทางธุรกิจหลายด้าน เช่น ราคาวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน ค่าแรงขั้นต่ำที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และความเสียหายของผลผลิตอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติหรือการระบาดของศัตรูพืช ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการบริโภค และการลงทุน ความสามารถในการสร้างรายได้ และทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น
 
         บทสรุป เศรษฐกิจไทยแม้ไตรมาสที่ 2 เริ่มกลับมาทรงตัว แต่ภาพรวมยังคงติดลบ เหตุได้รับกระทบจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง และส่งผลเศรษฐกิจภาคสหกรณ์ไทยครึ่งปีแรกติดลบเช่นกัน เหตุสมาชิกยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์บ้านเมือง ระมัดระวังการใช้จ่าย ลดการบริโภคและอุปโภคลง หันมาออมเงินมากขึ้น ธุรกิจลดลง 1.06% และกำไรหด 15.63% ดังนั้น ในปีหน้าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป ภาคสหกรณ์ไทยทุกประเภทต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนให้ความสำคัญของการสะสมทุนสำรอง ซึ่งเป็นทุนที่มีความมั่นคงและปราศจากภาวะผูกพัน จะช่วยเป็นเกราะป้องกันรองรับผลกระทบที่เกิดจากภาวะธุรกิจ และต้องพิจารณาหามาตรการเร่งรัดลูกหนี้ให้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา โดยการสร้างอาชีพเสริมรายได้ให้สมาชิก และพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขธุรกิจการให้สินเชื่อ โดยคำนึงถึงขีดความสามารถการชำระหนี้ของสมาชิกเป็นสำคัญ พร้อมทั้งต้องพิจารณาหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้สัมพันธ์กับรายได้ โดยหามาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายตามความเหมาะสม สอดคล้องกับการก้าวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งอนาคตที่จะต้องเรียนรู้ให้รู้จักตนเอง และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในการแสวงหากลยุทธ์และรูปแบบการดำเนินงาน เข้ามาประยุกต์ใช้ปรับปรุงอยู่เสมออย่างต่อเนื่อง กำหนดแผนรองรับความเสี่ยงอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกปัญหาที่เป็นไปได้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนแก่สหกรณ์ต่อไป
 
          ส่วนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง เชื่อว่าเศรษฐกิจภาคสหกรณ์น่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งเฉลี่ย 0.5-1.0% ดังนั้นสหกรณ์ควรที่จะหามาตรการในการลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางตัวลงเพื่อคงสภาพที่ดีของสหกรณ์ และเพื่อเพิ่มกำไรมากขึ้น รวมถึงการติดตามเศรษฐกิจของประเทศ โดยยึดหมั่นในหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการสหกรณ์ เพื่อการช่วยเหลือ พึ่งพา และเอื้ออาทรต่อกันในหมู่คณะ ที่สำคัญต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยการนำหลัก "ธรรมา ภิบาล” และหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาปรับใช้ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
 1160
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์