วางแผนภาษี

วางแผนภาษี

“ภาษี” แค่ได้ยินคำนี้หลายคนก็ทำหน้าเบ้ ไม่อยากได้ยินซะแล้ว ทั้งๆ ที่ช่วงเดือนมีนาคมเราก็ทำหน้าที่พลเมืองดีจ่ายภาษีกันมาทุกปี แต่จนแล้วจนรอด... ภาษีก็ยังทำให้เราปวดหัวอยู่ร่ำไป
หลายคนอาจบอกว่าเรื่องภาษีง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก เพราะฝ่ายบุคคลคิดคำนวณภาษีแบบเบ็ดเสร็จมาให้ บริษัทไหนๆ เค้าก็ทำให้แบบนี้กันทั้งนั้น
จริงๆ วิธีลัดแบบนี้ก็ดีอยู่ แต่คุณไม่คิดบ้างหรือว่าฝ่ายบุคคลไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของคุณว่าคุณรับจ๊อบกี่งาน ผ่อนบ้านกี่หมื่น มีลูกเรียนอยู่ที่ไหน หรือทำบุญบริจาคทานไปสักกี่มากน้อย รายละเอียดหยุมหยิมขนาดนี้ ถ้าไม่ใช่แม่ทูนหัวหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่บ้าน คงไม่มีใครอยากยุ่งวุ่นวายกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ของคุณนักหรอก เห็นทีคุณควรจะจัดการทุกอย่างด้วยตนเองก่อนดีกว่า
หลายคนแอบคิดในใจ... จะเสียเวลาไปทำไม จะทำวิธีไหน ก็ไม่ช่วยให้ประหยัดขึ้นมาได้สักกี่บาทหรอก หรือบางทีอาจจะคิดว่า... วางแผนภาษีก็เท่ากับโกงชาติ หาเรื่องเข้าคุกเข้าตารางเชียวนา!!!
อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ เราไม่ได้แนะนำให้คุณโกงภาษีหรือหนีภาษี แต่ให้รู้จักวางแผนภาษีอย่างถูกวิธีและถูกต้องตามกฎหมายต่างหาก
คำว่า “การวางแผนภาษี” คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ในฐานะพลเมืองดีและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ
เมื่อเสียภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ขาดไม่เกิน ก็เท่ากับว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเสียภาษีได้ส่วนหนึ่ง และยิ่งถ้าคุณวางแผนภาษีเป็นอย่างดี ตัวเงินที่ประหยัดขึ้นมา ขี้คร้านจะทำให้คุณตาโต เพราะได้เงินคืนภาษีจำนวนไม่น้อย ซึ่งภาษีที่ได้กลับมานี้เราอาจนำไปต่อยอดให้ออกดอกออกผลสร้างเงินกลับมาให้เราได้
ในขณะที่ “การโกงภาษี” หรือ “การหนีภาษี” คือ การไม่ยอมเสียภาษี หรือความพยายามที่จะเสียภาษีให้น้อยลงโดยฝ่าฝืนกฎหมายภาษีอากร เช่น จงใจไม่นำรายได้มายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ยื่นรายการไม่ครบ หรือแสดงรายการค่าใช้จ่ายสูงกว่าความเป็นจริง ฯลฯ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนมีความผิดทางกฎหมาย และจะถูกลงโทษตามกฎหมายภาษีอากร
ดังนั้น...
การวางแผนภาษีที่ดีจึงควรเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับภาษีเงินได้ที่เราจะต้องเสีย และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้คุ้มค่า โดยหลักในการวางแผนภาษี คือ รู้ประเภทของรายได้ รู้ค่าใช้จ่ายที่หักภาษีได้ รู้ค่าลดหย่อนเพื่อลดภาษี รวมถึงรู้วิธีการคำนวณภาษี และรู้ช่องทางการยื่นภาษี
เริ่มที่ “รายได้” เพราะการที่เราต้องเสียภาษีก็เนื่องมาจากการมีรายได้เป็นเหตุ ซึ่งในวิถีชีวิตของคนเสียภาษีส่วนใหญ่มาจากการเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือเป็นลูกจ้างขององค์กรต่างๆ เป็นหลัก การจัดการกับภาษีเงินได้ที่ได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้างจึงไม่ยากเย็นนัก หากคุณไม่แอบไปรับจ๊อบหารายได้เสริมจากที่ไหน แต่หากคุณมีเวลาไปรับจ๊อบอื่นด้วย ก็ต้องวางแผนให้ดีว่าจะเลือกรับเงินเป็นประเภทไหน รับเป็นเงินเดือน หรือรับเป็นงานเหมา เพราะนั่นจะส่งผลต่อจำนวนภาษีที่คุณต้องจ่าย
 
ดูเผินๆ เหมือนว่ารับเงินประเภทไหนก็เหมือนๆ กันแหละ ยังไงก็ได้เงินมาเหมือนกัน!!! บอกได้เต็มปากเต็มคำเลยว่าไม่เหมือนกันแน่นอน และถ้าคุณตัดสินใจผิดพลาดไป คุณอาจต้องเสียใจกับเงินหลายหมื่นหลายพันที่หายวับไปกับตา
ทำไมหน่ะเหรอ? ก็เพราะว่า... รายได้แต่ละประเภทจะหัก “ค่าใช้จ่าย” ได้ไม่เท่ากันนะสิ ตัวอย่างเช่น รายได้ที่เป็นเงินเดือน กฎหมายให้หักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ในขณะที่รายได้จากอาชีพบางอย่างสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว เช่น ขายของชำ ซักอบรีด ร้านอาหาร หรือร้านตัดผม สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเหมา 60% ของรายได้ทั้งปี หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงก็ได้
ดูเผินๆ เหมือนว่ารับเงินประเภทไหนก็เหมือนๆ กันแหละ ยังไงก็ได้เงินมาเหมือนกัน!!! บอกได้เต็มปากเต็มคำเลยว่าไม่เหมือนกันแน่นอน และถ้าคุณตัดสินใจผิดพลาดไป คุณอาจต้องเสียใจกับเงินหลายหมื่นหลายพันที่หายวับไปกับตา
นี่คือสิทธิประโยชน์จากการหักค่าใช้จ่ายที่กฎหมายได้เปิดกว้างไว้ให้ ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีอีกสิทธิประโยชน์หนึ่งที่เราไม่ควรละเลย นั่นก็คือการนำเอา “ค่าลดหย่อน” ต่างๆ มาหักออกจากรายได้ ค่าลดหย่อนเหล่านี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ตัวเลขรายได้จริงลดลงและเสียภาษีน้อยลงเช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ถ้าแต่งงานก็สามารถหักค่าลดหย่อนคู่สมรสได้อีก 60,000 บาท หรือถ้ามีลูกอยู่ในวัยเรียน ก็สามารถหักค่าลดหย่อนบุตรได้อีกคนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร รวมถึงค่าลดหย่อนสำหรับบรรดาลูกกตัญญูทั้งหลายที่เลี้ยงดูพ่อแม่อายุ 60 ปีขึ้นไปและไม่มีรายได้ ซึ่งสามารถหักค่าลดหย่อนบิดามารดาได้อีกคนละ 30,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าจะให้สิทธินี้แก่ลูกเพียงคนเดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีค่าลดหย่อนอีกมากมายที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม แถมค่าลดหย่อนบางอย่างยังเป็นการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการออมการลงทุนระยะยาวด้วย เช่น ดอกเบี้ยบ้าน ค่าเบี้ยประกัน เงินปันผลจากการลงทุนในหุ้น เงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินประกันสังคม หรือแม้กระทั่งเงินทำบุญ ล้วนมีผลต่อการประหยัดภาษีทั้งสิ้น
หลายคนลืมที่จะใส่ใจเงินค่าลดหย่อนเหล่านี้ เพราะคิดว่าเป็นเงินเล็กๆ น้อยๆ แต่ที่จริงแล้ว... เงินส่วนนี้ช่วยประหยัดภาษีได้มากเลยทีเดียว ยิ่งมีค่าลดหย่อนมาก ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้มาก
คราวนี้มาถึงเรื่อง “วิธีการคำนวณภาษี” กันบ้าง... หลังจากที่นำรายได้ทั้งปี มาหักค่าใช้จ่ายตามประเภทรายได้ และหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้ว จากนั้นเราจะนำเงินได้สุทธิมาคำนวณภาษีในอัตราก้าวหน้า ดังนี้
วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้มีรายได้ประเภทเงินเดือนเป็นหลัก แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้ประเภทอื่นๆ รวมอยู่ด้วย ต้องคำนวณอีกวิธีหนึ่งเพื่อเปรียบเทียบกัน โดยการนำรายได้ทั้งปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน หรือที่เรียกกันว่า “รายได้พึงประเมิน” มาคูณด้วยอัตราภาษี 0.5% หากวิธีใดมีจำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่ายสูงกว่า ให้เสียภาษีด้วยวิธีนั้น ซึ่งโดยทั่วไปวิธีแรกจะมีจำนวนที่มากกว่า
เอาล่ะ... มาถึงตรงนี้คุณคงรู้จักองค์ประกอบในการวางแผนภาษีคร่าวๆ แล้ว ก็มาถึงขั้นตอนสำคัญ นั่นคือ “การยื่นภาษี” กันเสียที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมีเงินคืนภาษีด้วยแล้ว คุณต้องกรอกรายละเอียดให้ครบถ้วนและลงลายมือชื่อผู้ขอคืนอย่างชัดเจน ที่สำคัญก่อนยื่นแบบแสดงรายการอย่าลืมตรวจทานรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ รวมทั้งเอกสารที่ต้องแนบเป็นหลักฐานให้เรียบร้อยก่อน
ทางที่ดี... คุณควรรีบยื่นแบบแสดงรายการตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งจะทำให้คุณได้เงินคืนภาษีเร็ว เพราะเป็นช่วงที่คนยื่นน้อย แต่ถ้าคุณไม่มีเงินคืนภาษี จะยื่นเร็วหรือช้าก็ไม่มีผลอะไร ที่แน่ๆ คือ อย่าถ่วงเวลาจนเลยช่วงยื่นแบบแสดงรายการ (เดือนมีนาคม) เข้าล่ะ ถ้าเกินกว่านั้น แทนที่คุณจะประหยัด คุณกลับต้องจ่ายค่าปรับถึง 1.5% ต่อเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเชียวนะ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคุณสามารถยื่นแบบแสดงรายการผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.rd.go.th ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการยื่นภาษีได้อีกทางหนึ่ง
เห็นหรือไม่ว่า... การวางแผนภาษีที่ดีและใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จะทำให้คุณประหยัดภาษีได้อย่างมาก ไม่ว่าจะรายได้ ค่าใช้จ่าย หรือเงินออมเงินลงทุนใดๆ หากคิดย้อนกลับมาถึงเรื่องภาษีได้ ก็อย่าละเลยที่จะกลับมาไตร่ตรองให้ดีก่อนว่าจะทำอย่างไรให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุด และเมื่อคุณคุ้นเคยกับตัวเลขยุบยิบเหล่านี้แล้ว ภาษีก็จะไม่สร้างความวุ่นวายในแต่ละปีให้คุณต้องปวดหัวอีกต่อไป
https://www.set.or.th/set
 1190
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์