• หน้าแรก

  • BLOG myAccount Cloud

  • โซเชียลมีเดียกับ COVID-19 ทำยังไงเราจะไม่ป่วยกายและไม่ป่วยใจยามไม่ได้พบผู้คน

โซเชียลมีเดียกับ COVID-19 ทำยังไงเราจะไม่ป่วยกายและไม่ป่วยใจยามไม่ได้พบผู้คน

  • หน้าแรก

  • BLOG myAccount Cloud

  • โซเชียลมีเดียกับ COVID-19 ทำยังไงเราจะไม่ป่วยกายและไม่ป่วยใจยามไม่ได้พบผู้คน

โซเชียลมีเดียกับ COVID-19 ทำยังไงเราจะไม่ป่วยกายและไม่ป่วยใจยามไม่ได้พบผู้คน

        เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่กระจายของไวรัส มาตรการ social distancing หลายมาตรการถูกนำมาใช้เพื่อให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการพบเจอกัน ส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตใจของมนุษย์ และนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า social recession หรือการถดถอยทางสังคม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมอันนำไปสู่การเจ็บไข้ได้ป่วยที่น่ากลัวไม่แพ้ COVID-19

COVID-19 กับสภาวะถดถอยทางสังคม

        การเว้นระยะห่างทางสังคมคือการแยกตัวเองออกมาจากสังคม ซึ่งเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางสังคมในตัวมันเอง นักวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคมนับแต่ยุคบุพกาลด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย เมื่อมนุษย์รวมตัวกันจะมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่าการอยู่อย่างเดียวดาย

        งานศึกษาวิจัยหนึ่งพบว่า เมื่ออยู่ในภาวะที่รู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงา มนุษย์จะเกิดความเครียด ซึ่งเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ร่างกายคล้ายกับจะสั่งการให้เราต้องเข้าหาสังคม เนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น กลไกนี้มีลักษณะคล้ายกับที่ร่างกายสั่งให้เรารู้สึกหิวเมื่อเราต้องการอาหาร หรือสั่งให้เรารู้สึกกระหายเมื่อขาดน้ำ การศึกษาทางการแพทย์ยังพบว่าสภาวะถดถอยทางสังคมนำไปสู่ความเสี่ยงโรคภัยอื่นมากมาย อาทิ โรคหัวใจ โรคสมองเสื่อม โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และยังส่งผลให้อายุสั้นลง อาการลักษณะนี้คนไทยรู้จักและเรียกกันว่าอาการ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรืออาการ ‘ตรอมใจ’

        สถาวะถดถอยทางสังคมยังอาจเกิดขึ้นได้โดยเกี่ยวพันกับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจที่เป็นอัมพาตอย่างฉับพลันทันใดคือธุรกิจภาคบริการซึ่งมีสัดส่วนเกือบร้อยละ 60 ของ GDP ประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน ล้วนได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

        ภาคการผลิตก็กำลังได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดโลกที่หดตัว ดังจะเห็นได้จากเริ่มมีการประกาศหยุดกิจการชั่วคราวของโรงงานต่างๆ เช่น โรงงานผลิตรถยนต์ฟอร์ด นับแต่วันที่ 28 มี.ค.-20 เม.ย. เป็นเวลาเกือบ 2 เดือน สถานการณ์โควิด 19 ยังทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาปรับการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศใหม่ จากที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.8 ไปเป็นติดลบถึงร้อยละ 5.3!  การประกาศปิดสถานที่ต่างๆ ในสถานการณ์ฉุกเฉินเองก็ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ ไม่สามารถสร้างรายได้จุนเจือตนเองและครอบครัว จำนวนหนึ่งต้องตกงาน ทำให้เกิดความตื่นตระหนกวิตกกังวลในวงกว้าง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะถดถอยทางสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

โซเชียลมีเดียช่วยได้ไหม ?

        Thanks God! ที่ยุคนี้เรามีโซเชียลมีเดีย เครื่องมือแสนวิเศษที่เอื้อให้มนุษย์ยังสามารถสร้างการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมต่อกันได้แม้ไม่เจอหน้ากันตัวเป็นๆ ไม่ว่าจะเว้นระยะห่างชนิดห่างกันครึ่งโลก มนุษย์ก็ยังสามารถเข้าสังคมกันได้ ภาวะที่บีบบังคับให้คนต้องอยู่ห่างกันเชิงกายภาพไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถในการสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอีกต่อไป โดยเฉพาะนับตั้งแต่มีมาตรการ social distancing การทำงานที่บ้านส่งผลให้เราอดไม่ได้ที่จะออนไลน์อยู่บนโซเชียลมีเดียตลอดเวลา เพราะปัจจุบันการสั่งงาน การประชุม ก็ล้วนทำผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ทั้งสิ้น การติดตามข้อมูลข่าวสารก็เป็นไปอย่างว่องไวทันสถานการณ์ เพราะทั้งรัฐและสื่อต่างก็ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการเข้าถึงผู้รับสาร

        หากเราลองสังเกตตัวเอง หลายคนอาจจะพบว่าเราใช้เวลากับโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งการทำงานและเรื่องส่วนตัว ผู้เขียนทำการทดลองง่ายๆ ด้วยการนับสเตตัสเฟซบุ๊ก จำนวนการทวีตในทวิตเตอร์ และจำนวนโพสต์ในอินสตาแกรม 3 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมของเพื่อนๆ ผู้เขียนพบว่าจำนวนโพสต์ต่อวันของพวกเขามากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงภาวะปกติจริงๆ แต่การใช้โซเชียลมีเดียที่มากขึ้นส่งผลดีต่อการลดภาวะถดถอยทางสังคมหรือจะยิ่งทำให้สังคมถดถอยเร็วขึ้นกันแน่?

  • การใช้โซเชียลมีเดียทำให้เกิดความทุกข์จากการเปรียบเทียบทางสังคม (social comparison)

กลไกทางจิตวิทยาทำให้มนุษย์เราอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นเสมอ โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งที่เกิดจากการประเมินความสามารถของตนเองเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม และหากสังคมไม่มีบรรทัดฐานอย่างชัดเจน มนุษย์จะเปรียบเทียบความสามารถและความคิดเห็นของตนกับบุคคลอื่นรอบๆ ตัว ซึ่งการเปรียบเทียบนี้ก็อาจนำไปสู่ความความผิดหวังและอาจตามมาด้วยความซึมเศร้า

  • การใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไปเกี่ยวพันกับอาการสมาธิสั้นและหัวร้อน

ด้วยบริบทและวัฒนธรรมการสื่อสารที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่มีคอนเทนต์จำนวนมากปรากฏบนฟีดทำให้เราเคยชินกับการเปลี่ยนจากความสนใจเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่งอย่างรวดเร็ว ในอดีต สมัยที่โทรทัศน์มีเพียงไม่กี่ช่อง เมื่อตัดเข้าโฆษณาเราจำเป็นต้องอดทนรอ แต่ในปัจจุบันเราสามารถเปลี่ยนช่องหนี ก้มหน้าก้มตาแชตกับเพื่อน หรือไถฟีดไปเรื่อยๆ การใช้งานโซเชียลมีเดียสารพัดแพลตฟอร์มในเวลาเดียวกัน ทั้งคุยงานและเรื่องส่วนตัวเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อกลไกการรับรู้และยังทำให้ความอดทนอดกลั้นของเราลดลงโดยไม่รู้ตัว

        งานวิจัยทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศได้ผลการศึกษาที่สอดคล้องกันว่าการใช้โซเชียลมีเดียมีความเชื่อมโยงกับอาการสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder-ADHD) คุณหมอกันยา พาณิชย์ศิริและคุณหมอเบญจพร ตันตสูต แห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีพิมพ์ผลการศึกษา การติดสื่อสังคมออนไลน์และภาวะสมาธิสั้นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตกรุงเทพมหานคร จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 425 คน พบว่าภาวะสมาธิสั้น ไม่อยู่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และมีบุคลิกต่อต้านของกลุ่มตัวอย่างนั้นสัมพันธ์กับการติดโซเชียลมีเดียอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งเซาท์เทิร์นแคลิฟอเนีย ที่ศึกษาพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของวัยรุ่น 2,600 คนเป็นเวลา 2 ปี ได้ข้อสรุปว่าการใช้งานโซเชียลมีเดียมากเกินไปนั้นสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติต่อการเป็นโรคสมาธิสั้นและโอกาสในการพัฒนาไปสู่โรคสมาธิสั้น

        ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้องใช้งานโซเชียลมีเดียให้เหมาะสมและเท่าทัน มิเช่นนั้นนอกจากจะไม่ช่วยลดภาวะถดถอยทางสังคมยังอาจเร่งให้เรามีอาการป่วยไข้มากและไวกว่าเดิม นอกจากจะเว้นระยะห่างทางสังคมแล้วก็ต้องรักษาระยะห่างที่เหมาะสมกับการใช้โซเชียลมีเดียด้วย พูดง่ายๆ คือต้องทำจิตให้แข็ง อดทนต่อสิ่งเร้า

ที่มา : Link
รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612

 1042
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์