กองทุนที่ได้กำไร 40 เท่า ในช่วงวิกฤติ COVID-19

กองทุนที่ได้กำไร 40 เท่า ในช่วงวิกฤติ COVID-19

        ผู้ที่คิดค้นทฤษฎี Black Swan ขึ้นมาคือ Nassim Nicholas Taleb นักคณิตศาสตร์ และนักซื้อขายหุ้น ชาวเลบานอน เขาเขียนหนังสือ The Black Swan: The Impact of the Highly Improbable ในปี 2007 ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 12 หนังสือทรงอิทธิพลที่สุดในโลก นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

        แต่ก่อนหน้านั้น Nassim Nicholas Taleb เคยทดสอบทฤษฎีนี้กับการลงทุนมาแล้วหลายปีก่อน เขาเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และได้พบกับลูกศิษย์ชื่อ Mark Spitznagel Mark Spitznagel นั้นเคยทำงานอยู่ธนาคาร ซึ่งต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่น่ากลัว ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติการเงินในเอเชียปี 1997 และวิกฤติการผิดนัดชำระหนี้พันธบัตรของรัสเซียปี 1998 ด้วยเหตุนี้ ตอนเรียนต่อปริญญาโทในคลาสของ Nassim Nicholas Taleb เขาจึงมีความสนใจเรื่องของ Black Swan เป็นอย่างมาก

        ในปี 1999 ทั้งคู่ร่วมก่อตั้งบริษัทกองทุนชื่อ Empirica Capital โดยมีหลักบริหารจัดการทรัพย์สินคือ การเตรียมตัวเพื่อรับมือวิกฤติที่ไม่คาดฝันโดยเฉพาะ ปรากฏว่า หลังจากนั้นไม่นานตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดฟองสบู่ดอตคอม จากการเก็งกำไรในบริษัทอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี ที่ร้อนแรงเกินกว่าพื้นฐานการดำเนินงาน ส่งผลให้ Empirica Capital สร้างกำไรทันที 60% อย่างไรก็ตาม กองทุนได้ปิดตัวลงในปี 2005 เนื่องจาก Nassim Nicholas Taleb มีปัญหาสุขภาพ รวมทั้งต้องการไปทำงานด้านวิชาการแทน

        ขณะที่ Mark Spitznagel ตัดสินใจเปิดบริษัทกองทุนของตัวเองในปี 2007 ชื่อว่า Universa Investments โดยได้เชิญอาจารย์ Nassim Nicholas Taleb มานั่งเป็นตำแหน่งที่ปรึกษา และแน่นอนว่า เขายังคงใช้หลักการแบบเดิม มาถึงตรงนี้ หลายคนน่าจะสงสัยว่า กองทุนที่เตรียมตัวเจอเหตุการณ์ Black Swan ที่นานทีจะมีครั้ง กองทุนนี้มีวิธีการลงทุนอย่างไร?

Universa Investments จะซื้อสิทธิในการขายหุ้น หรือ Put Option ที่มีอายุสัญญาระยะสั้น เพื่อคอยป้องกันความผันผวนของตลาด ดังนั้นหากตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น กองทุนก็จะขาดทุนส่วนต่างราคาไปทีละน้อย เหมือนกับการจ่ายค่าประกันความเสี่ยงไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเกิดวิกฤติขึ้น ราคาทรัพย์สินจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง สวนทางกับ Put Option ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คุ้มค่าเกินกว่าผลขาดทุนสะสมอยู่หลายเท่าตัว

        ในปี 2008 หรือเพียง 1 ปีให้หลัง ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เกิดวิกฤติ Subprime จากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อด้อยคุณภาพ ส่งผลให้ Universa Investments ทำกำไรได้ 115% แต่หลังจากนั้น ประเทศต่างๆ มีมาตรการกระตุ้นจนเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวเป็นขาขึ้นต่อเนื่องก็ทำให้กองทุนนี้มีผลตอบแทนแพ้ตลาด และ Mark Spitznagel ก็ได้แต่อดทนเฝ้ารอโอกาสต่อไป จนในที่สุดผ่านไป 12 ปี วันนั้นก็มาถึง..

        ในปี 2020 เกิดเหตุการณ์ระบาดของ COVID-19 ที่แพร่กระจายไปทั้งเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 4 ล้านรายทั่วโลก ทำให้ต้องมีการประกาศปิดเมืองเพื่อควบคุมสถานการณ์ จนระบบเศรษฐกิจหยุดชะงัก
ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ตลาดหุ้นถูกเทขายออกมาอย่างหนัก เช่น ดัชนี Dow Jones ทำจุดต่ำสุด -35% หรือดัชนี S&P 500 ทำจุดต่ำสุด -31% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี

        แต่นั่นถือเป็นข่าวดีสำหรับ Universa Investments ที่ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ 140,000 ล้านบาท เพราะในเวลา 4 เดือนของปีนี้ กองทุนสามารถทำกำไรให้ผู้ถือหน่วยลงทุนไปได้ 4,144% หรือ 41 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนหลังหักค่าธรรมเนียมเท่ากับ 76% ต่อปี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท นอกจากนี้ ยังทำให้ Mark Spitznagel มีทรัพย์สินส่วนตัวร่ำรวยถึง 8,000 ล้านบาท อีกด้วย

        เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เหตุการณ์ Black Swan เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น และขัดต่อความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก่อนหน้านี้ ถ้าใครบอกว่าจะยอมขาดทุนไปเรื่อยๆ เพื่อหวังกำไรระดับ 40 เท่าตัว คงถูกมองว่าเป็นเรื่องตลก แต่อย่างน้อยในช่วงนี้ การขาดทุนเพื่อประกันความเสี่ยงลักษณะนี้อาจกลายเป็นต้นทุนปกติ ที่ทุกคนยอมจ่าย ก็เป็นได้..

ที่มา : Link

รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612

 883
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์