เงินเฟ้อติดลบ จะกระทบชีวิตเราอย่างไร?

เงินเฟ้อติดลบ จะกระทบชีวิตเราอย่างไร?

        ในวิชาการเงิน มักพร่ำสอนมาเสมอว่า เงินที่เราถืออยู่นั้นจะด้อยค่าลงซึ่งเราควรนำเงินไปลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนให้ได้มากกว่าเงินเฟ้อโดยเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% อย่างไรก็ตาม วันนี้สิ่งที่ประเทศไทยของเราเจอกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเพราะเงินเฟ้อที่กำลังติดลบในปีนี้ มีความน่าสนใจอย่างไร

        ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกับความหมายของเงินเฟ้อกันก่อน ภาวะเงินเฟ้อคือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากและเร็วเกินไปจะกระทบกับฐานะความเป็นอยู่ประชาชน และจะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นหมดความน่าเชื่อถือไปด้วย โดยการเกิดขึ้นของเงินเฟ้อนั้นอาจเกิดมาจากฝั่งผู้ซื้อ ที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นเร็วมากกว่าปริมาณสินค้าและบริการที่มีขายอยู่ในตลาด (Demand - Pull Inflation) หรืออาจเกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับต้นทุนดังกล่าวได้ จนต้องเพิ่มราคาสินค้าและบริการ (Cost - Push Inflation) แล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อของประเทศไทยที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

        - 2561 อัตราเงินเฟ้อ 1.1%
        - 2562 อัตราเงินเฟ้อ 0.7%

        ดังนั้น คำว่า “เงินเฟ้อจะโตปีละ 3%” ก็ไม่เป็นจริงเสมอไป อย่างน้อยๆ ก็ในช่วงที่ผ่านมานี้
แต่ที่น่าสนใจคือในเดือนเมษายน 2563 อัตราเงินเฟ้อของไทยเท่ากับ -2.9% ซึ่งติดลบมากที่สุดในรอบ 11 ปี ปรากฏการณ์เงินเฟ้อติดลบในทางเศรษฐศาสตร์เราจะเรียกว่า ภาวะเงินฝืด ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง แล้วสิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไรในประเทศไทย เรื่องแรกเป็นเรื่องของราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีทิศทางลดลงมาตั้งแต่ปี 2561 สังเกตได้จากค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าประเภทเชื้อเพลิงนั้นลดลง

        - ปี 2561 มูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเท่ากับ 1.3 ล้านล้านบาท
        - ปี 2562 มูลค่านำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเท่ากับ 1.1 ล้านล้านบาท

        โดยสินค้าประเภทเชื้อเพลิงทั้งน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน นับเป็นต้นทุนสำคัญสำหรับภาคการผลิตและการขนส่งของประเทศไทย อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ คือการเติบโตแบบก้าวกระโดดของของธุรกิจ E-Commerce ปี 2557 มูลค่าตลาดของ E-commerce เท่ากับ 2.0 ล้านล้านบาท หรือ 15% ของ GDP ทั้งประเทศ ปี 2561 มูลค่าตลาดของ E-commerce เท่ากับ 3.2 ล้านล้านบาท หรือ 19% ของ GDP ทั้งประเทศ เรื่องนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการหลายรายนั้นลดลง แต่ E-Commerce ยังทำให้เกิดการแข่งขันสูง ทั้ง 2 ปัจจัย ราคาเชื้อเพลิง และ E-Commerce ทำให้ราคาสินค้าและบริการโดยเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาจึงมีแนวโน้มลดลง
        บางคนอาจบอกว่า ปรากฏการณ์เงินฝืดน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะราคาสินค้านั้นมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆอย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า ระดับราคาสินค้าที่ลดลง นั่นหมายถึง รายได้ของผู้ผลิตนั้นมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น ผู้ผลิตก็อาจไม่มีแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าและบริการในปริมาณเท่าเดิม จนต้องลดการผลิตลง หรือแม้แต่ลดการจ้างงานลง ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจที่สำคัญเรื่องนี้ยังกระทบไปถึงเรื่องของการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ ลองนึกว่า ถ้าเรากำลังต้องการซื้อสินค้าสักชิ้นในวันนี้ แต่การที่เงินเฟ้อติดลบ จะทำให้คิดว่าเราควรรออีกสักพักให้ราคามันถูกลง แล้วค่อยซื้อจะดีกว่า
ซึ่งการที่คนจำนวนมากตัดสินใจแบบนี้ จะส่งผลให้ผู้คนเลื่อนการบริโภค ผู้ผลิตขายสินค้าได้น้อยลง จนต้องลดราคาลงไปอีก วนกันเป็นลูปที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ขยายตัว และในที่สุดก็จะไปกระทบกับรายได้และกำไรของธุรกิจ ซึ่งสุดท้ายก็ต้องลดการผลิต และเลิกจ้างพนักงาน
        อีกเรื่องที่หลายคนคิดไม่ถึงคือภาวะเงินฝืดนั้นจะส่งผลเสียต่อลูกหนี้ หรือพูดง่ายๆ ภาระหนี้ที่แท้จริงของลูกหนี้นั้นมีมากขึ้น ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ถ้าวันนี้เราเป็นเจ้าของร้านรองเท้าอยู่ โดยมีหนี้กับธนาคารอยู่ 100,000 บาท ร้านของเราขายรองเท้าเฉลี่ยคู่ละ 1,000 บาท ซึ่งต้องขาย 100 คู่ จึงจะสามารถนำเงินไปใช้หนี้ได้ แต่เมื่อเกิดภาวะเงินฝืดขึ้น ราคารองเท้าลดลงจากคู่ละ 1,000 บาท เหลือคู่ละ 500 บาท หมายความว่า ตอนนี้ ร้านของเราต้องขายรองเท้าถึง 200 คู่ จึงจะสามารถนำเงินไปใช้หนี้ได้นั่นเอง ซึ่งแน่อนว่าถ้าจำนวนครัวเรือนของไทยมีภาระหนี้สินจำนวนมาก การเกิดภาวะเงินฝืดจะยิ่งทำให้ภาระหนี้ที่แท้จริงนั้นกลับสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น ถ้ามีคนบอกเราว่า ภาวะที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มลดลงนั้นเป็นเรื่องที่ดี อาจต้องตอบเขากลับไปว่า มันก็ไม่จริงเสมอไป

ที่มา : Link

รวมบทความบัญชีมากถึง 1,000 : https://www.myaccount-cloud.com/Article/List/1612

 1051
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์